Skip to main content

สรุป

  • ขณะที่ไทยมีข้อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ในสหรัฐฯ ก็รณรงค์ ‘ตัดงบตำรวจ’ หลัง ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ชาวอเมริกันผิวดำ เสียชีวิตขณะถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อ พ.ค. 2563
  • เขตปกครองท้องถิ่นในสหรัฐฯ 26 เขต โยกงบปี 2564 ที่เคยสนับสนุนตำรวจไปให้หน่วยงานอื่นๆ แทน เช่น ศูนย์บำบัดผู้ติดยา โรงเรียน โครงการช่วยเหลือคนไร้บ้าน
  • ความเห็นชาวอเมริกันแตกเป็น 2 ฝั่ง บ้างสนับสนุนการตัดงบตำรวจ แต่บางส่วนก็ไม่สนับสนุน โดยให้เหตุผลว่าการตัดงบตำรวจจะทำให้สถิติอาชญากรรมเพิ่มขึ้น 
  • กรณีของไทย มีผู้ตั้งคำถามต่อนโยบายตำรวจ เช่น การจับกุมโดยไม่ตั้งข้อหาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง และการระดมกำลังตำรวจจำนวนมากมาดูแลการชุมนุมต่อเนื่อง จนมีตำรวจเสียชีวิตแล้ว 1 นาย

ทำไมต้องหั่นงบตำรวจ?

การตายของ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ชายผิวดำชาวอเมริกัน ขณะถูกตำรวจผิวขาวควบคุมตัวเมื่อ 25 พ.ค.2563 นำไปสู่การรวมตัวประท้วงการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับพลเรือนทั่วสหรัฐอเมริกา แกนนำหลักคือกลุ่ม Black Lives Matter (BLM) ที่เริ่มต้นจากการรณรงค์เพื่อสิทธิชาวอเมริกันผิวดำ จากนั้นก็มีขบวนการรณรงค์ตัดงบตำรวจ - Defund the Police Movement (DPM) ซึ่งได้รับการตอบสนองในหลายพื้นที่ 

The Guardian รายงานเมื่อ 7 มี.ค.ว่า เกือบปีที่ผ่านมา มีเขตปกครองส่วนท้องถิ่นในสหรัฐฯ 26 เขตที่ตัดและโยกงบประมาณของหน่วยงานตำรวจไปให้หน่วยงานทางสังคมอื่นๆ โดยผู้รณรงค์ DPM ให้เหตุผลว่าวัฒนธรรมในองค์กรตำรวจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ เช่น อคติทางเชื้อชาติและสีผิวของพลเมืองในความดูแล รวมถึงการใช้กำลังหรือใช้อาวุธรับมือกับผู้มีอาการทางจิตหรือผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และสหรัฐฯ ก็เป็นประเทศที่มีอัตราการจับกุมและคดีตำรวจใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศฝั่งตะวันตก

ด้วยเหตุนี้ งบประมาณประจำปี 2564 ที่ถูกตัดจากหน่วยงานตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ คิดเป็นเงินประมาณ 870 ล้านดอลลาร์ (ราว 26,100 ล้านบาท) จากงบประมาณทั้งหมดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กว่า 10,000 ดอลลาร์ (ราว 3 แสนล้านบาท) จึงถูกโยกย้ายไปใช้กับหน่วยงานที่ดูแลด้านต่างๆ โดยตรง เช่น ศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด โรงเรียน ศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดจากคดีต่างๆ การจัดตั้งศูนย์ดูแลคนไร้บ้าน และการเพิ่มงบศูนย์รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย

เดอะการ์เดียนรายงานด้วยว่า ข้อเสนอให้โยกย้ายงบตำรวจไปให้หน่วยงานด้านอื่นๆ ถูกเสนอมานานหลายปี แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสมาชิกสภาเทศบาลส่วนท้องถิ่น รวมถึงนักการเมืองในพื้นที่ โดยมีการเปรียบเทียบงบประมาณตำรวจในแต่ละพื้นที่ย้อนหลังไป 40 ปี พบว่าการเพิ่มงบตำรวจทุกๆ ปี ก็ไม่ได้ช่วยให้สถิติอาชญากรรม หรือการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อพลเมืองลดน้อยลง เมื่อเกิดเหตุ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ข้อเสนอเรื่องตัดงบตำรวจจึงถูกตอบสนองเป็นครั้งแรก 

‘ตัดงบ’ ไม่เท่ากับ ‘ยุบทิ้ง’

แม้หลายพื้นที่จะเห็นด้วยกับข้อเสนอตัดและโยกย้ายงบตำรวจ แต่อีกหลายพื้นที่ก็ยังต่อต้าน โดย TIME รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ประธานกลุ่มต่อต้านอาชญากรรมในนครนิวยอร์ก มองว่า การรณรงค์ตัดงบ มีความหมายเท่ากับการกำจัดหรือยุบสำนักงานตำรวจทิ้งไป และจะทำให้สถิติอาชญากรรมสูงขึ้น

ขณะที่ USA Today รายงานอ้างอิงผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกัน 1,165 คน ที่มีต่อการเรียกร้องให้ตัดงบตำรวจ จัดทำโดย Ipsos ระหว่างวันที่ 1-2 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือ 18% เท่านั้นที่สนับสนุนการตัดงบตำรวจ โดยผู้ตอบสอบถามเข้าใจว่า การตัดงบตำรวจคือการตัดงบทั้งหมดทิ้งไป

แต่เมื่อสอบถามว่า คิดเห็นอย่างไรต่อการโยกย้ายงบตำรวจไปให้หน่วยงานทางสังคมอื่นๆ พบว่ามีผู้สนับสนุนมาตรการนี้สูงกว่า คิดเป็น 43% ของผู้ตอบแบบสอบถาม สอดคล้องกับความเห็นของชาวอเมริกันที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ที่มองว่าการใช้คำรณรงค์ว่า defund หรือตัดงบ ให้ความรู้สึกในเชิงลบ แต่ถ้าเปลี่ยนคำรณรงค์เป็นการโยกย้ายงบหรือเพิ่มงบไปให้แก่หน่วยงานที่ทำงานด้านสังคมอื่นๆ อาจจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น

งบตำรวจไทย ใช้ไปกับอะไรบ้าง

กรณีของประเทศไทย แม้คณะรัฐประหารปี 2557 ที่กลายมาเป็นผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจในประเทศไทย แต่หน่วยงานตำรวจยังตกเป็นเป้าโจมตีของสังคมอย่างหนัก โดยตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา เกิดกรณีแรงงานต่างชาติเล็ดลอดเข้าเมือง ทั้งที่เป็นช่วงที่ต้องควบคุมโรคโควิด-19 ทั้งยังมีปัญหายาเสพติด และบ่อนพนันที่เป็นอีกหนึ่งต้นตอโควิดระบาดรอบใหม่ ทำให้มีผู้สงสัยถึงการทำงานของตำรวจในหลายพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งคำถามถึงการจัดงบประมาณ 316 ล้านซื้ออุปกรณ์คุมฝูงชน มีการจับกุมผู้ชุมนุมโดยไม่ตั้งข้อหา โดยระบุว่าเป็นการทำผิดซึ่งหน้า และการระดมพลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการตามพื้นที่ต่างๆ ให้เข้ามารับมือกับสถานการณ์การชุมนุมในกรุงเทพฯ ต่อเนื่อง จนมีตำรวจเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 นาย คือ ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ สังกัดสถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา หนึ่งในผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนในการชุมนุมเมื่อ 28 ก.พ.ที่หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อีกทั้งผู้รายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ก็เคยแถลงถึงทางการไทย โดยอ้างกฎหมายสากลที่ระบุชัดเจนว่า การชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิและเสรีภาพที่พลเมืองของรัฐที่สามารถกระทำได้ จึงขอให้ทางการไทยทบทวนการจับกุมหรือใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม ซึ่งจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ทั้งนี้ จากการค้นข้อมูล ‘ดิโอเพนเนอร์’ พบว่างบประมาณประจำปี 2564 สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นเงิน 96,618,463,100 บาท ถูกนำไปใช้ใน 9 ด้านหลักๆ แต่ ‘โครงการปฏิรูปตำรวจ’ เป็น 1 ใน 5 แผนงาน โครงการ และผลผลิต ที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ซึ่งประกอบด้วย

  1. แผนงานบุคลากรภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนบุคลากร 81,299,485,500 บาท
  2. โครงการการบังคับใช้กฎหมายอำนวยความยุติธรรมและบริการประชาชน 8,332,310,100 บาท
  3. โครงการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานการป้องกัน-ปราบปรามอาชญากรรม 3,080,618,700 บาท
  4. โครงการปฏิรูประบบงานตํารวจ 1,313,922,400 บาท
  5. ผลผลิต การถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 1,062,502,100 บาท