Skip to main content

สรุป

• พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ เกินครึ่งประเทศ

• แม้รัฐยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ แต่บางมาตรการก็คล้ายล็อกดาวน์

• ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

• เกิดคำถามว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ใช้เยียวยาประชาชนอยู่ที่ไหน ใช้กับโครงการอะไรบ้าง และรัฐบริหารจัดการภาวะวิกฤตได้หรือไม่

ถึงวันนี้ มีถึง 28 จังหวัดทั่วประเทศต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสูงสุด พร้อมกับจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกระจายไปถึง 54 จังหวัด ตามข้อมูลของ ศบค. วันที่ 4 ม.ค. 2564 ส่งผลกระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง คำถามถึงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จึงหวนกลับมาอีกหน ว่าเงินกู้มหาศาลที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันชดใช้ในอนาคต ตอนนี้อยู่หนใด ใช้จ่ายไปเท่าไร และเหลืออยู่อีกเท่าไร

ทั้งนี้ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านความเห็นชอบของ ครม.และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 เม.ย.2563 ก่อนจะผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 31 พ.ค.2563 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 274 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง ไม่เห็นด้วย 0

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังค้างท่อเกือบ 7 แสนล้าน

เว็บไซต์ ThaiMe ซึ่งดูแลโดยสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หน่วยงานหลักติดตามการใช้จ่ายเงินกู้มหาศาลนี้ เผยแพร่ข้อมูล ณ 4 ม.ค.2564 ระบุว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.สำหรับทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท ล่าสุดอนุมัติไปแล้ว 2,555 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของวงเงิน

2.สำหรับช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท ล่าสุดอนุมัติไปแล้ว 365,657 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66% ของวงเงิน และเบิกจ่ายไปแล้ว 303,627 ล้านบาท คิดเป็น 55% ของวงเงิน

3.สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ล่าสุดอนุมัติให้แก่โครงการและแผนงานต่างๆ ไปแล้ว 120,053 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของวงเงิน และเบิกจ่ายไปแล้ว 2,671 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.66% ของวงเงิน

สะท้อนว่า ถึงเวลานี้ มีเงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้าน ได้รับการอนุมัติโครงการและแผนงานจาก ครม.ไปแล้ว คิดเป็นเงิน 488,265 ล้านบาท เหลือเงินอยู่อีก 511,735 ล้านบาท

แต่ถึง ครม.จะอนุมัติไปแล้วมีโครงการมีแผนงานใช้เงินแล้ว กลับพบว่า มีเม็ดเงินที่ถูกเบิกจ่ายไปใช้เยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม เพียง 306,298 ล้านบาท คิดเป็น 31% ของวงเงินกู้ทั้งหมด ยังเหลือเกือบ 70% ที่ยังไม่ได้นำไปช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

เงินน่ะมี แต่ไม่คิดจะใช้จ่ายเพื่อประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีเงินในส่วนของ 'งบกลาง' ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่กันไว้อีกรวมๆ 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 40,325 ล้านบาท และเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นอีก 90,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

หากรวมเงินที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ที่เหลืออยู่กว่า 5 แสนล้านบาท กับ งบกลางที่นายกฯ มีอำนาจสั่งจ่ายได้อีก 1.3 แสนล้านบาท ก็คิดเป็น 6.3 แสนล้านบาท เพียงพอและมากพอที่จะใส่เข้ามาชดเชย เยียวยา รวมถึงซื้อชุดตรวจมาปูพรมตรวจโควิดให้ประชาชน

ถึงวันนี้จึงเป็นคำถามว่า เมื่อเงินกู้ยังเหลือ (แม้ไม่มาก) แต่ทำไมรัฐบาลจึงไม่มีแผนนำมาใช้เพื่อกระจายความช่วยเหลือเยียวยาไปสู่มือประชาชนได้จริงๆ

ย้อนเวลาใช้เงินกู้ไปกับอะไรในโควิดรอบแรก

นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศล็อกดาวน์ทั่วราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 ได้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาแล้ว 9 ครั้ง และที่ผ่านมา ได้ใช้เงินกู้และเงินงบประมาณในมาตรการเยียวยาประชาชนและเศรษฐกิจ ดังนี้

โครงการเราไม่ทิ้งกัน: แบ่งจ่ายเงินเยียวยา 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1.จ่ายชดเชยรายได้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายละ 15,000 บาท วงเงิน 240,000 ล้านบาท (เป็นเงินงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท กับเงินกู้ 1.7 แสนล้านบาท) รองรับ 16 ล้านคน ต่อมาเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.2563 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานสรุปการดำเนินงานว่า มีประชาชนได้รับเงินเยียวยาส่วนนี้ 15.3 ล้านคน คิดเป็นเงิน 229,500 ล้านบาท

2.จ่ายชดเชยแก่เกษตรกร 10 ล้านคน คนละ 15,000 บาท รวมเป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 150,000 ล้านบาท (เป็นเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ทั้งหมด)

3.จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ) คนละ 3,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 7,946,103 คน คิดเป็นเงินที่ใช้ทั้งหมดกว่า 23,837 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ดำเนินโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อ ดูแลผู้ประกอบการ อีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท, โครงการกำลังใจให้ อสม.ท่องเที่ยว วงเงิน 2,400 ล้านบาท, โครงการคนละครึ่ง วงเงิน 2 เฟสแรก รวม 52,500 ล้านบาท และโครงการเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคนๆ ละ 500 บาท วงเงิน 41,535 ล้านบาท

รัฐใช้จ่าย ไม่ใช่ของฟรี แต่คือภาระประชาชนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ไม่ได้เป็นเงินไม่มี "ต้นทุน" หมายความว่า ถ้ารัฐใช้เงินในการทำโครงการเยียวยาที่มาจาก 'เงินงบประมาณ' รัฐก็จะต้องไปเรียกเก็บภาษีจากกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร เพิ่มขึ้น หรือ ถ้ารัฐใช้เงินทำโครงการเยียวยาจาก 'เงินกู้' รัฐก็ต้องออกพันธบัตรและจ่ายเงินกับผลตอบแทนคืนผู้ซื้อพันธบัตร ดังนั้น เงินที่รัฐใช้จึงเป็น 'ภาระของประชาชนในอนาคต' ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ยิ่งในเวลาที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทย เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 วิ่งขึ้นมาอยู่ที่ 49.34% มียอดคงค้าง 7,848,155 ล้านบาท ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดคำถามและความกังวลว่า ประเทศไทยยังมี room หรือ พื้นที่เหลือให้กู้ได้อีกเท่าไร เมื่อความสามารถในการทำมาหาได้ ที่ดูจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2563 ติดลบถึง 6% แล้วคาดการณ์ปี 2564 หลายสำนักเศรษฐกิจคาดกว่าโตเพียง 3-4% ต่ำกว่าศักยภาพ และช้ากว่าเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ในวันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ พุ่งขึ้นมาเป็น 745 รายในวันนี้ (4 ม.ค.2564) โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ตรวจเจอจากการคัดกรองเชิงลึก 577 ราย ติดเชื้อในประเทศ 152 ราย และ พบที่สถานกักตัวที่รัฐจัดให้ 16 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทยเพิ่มเป็น 8,439 ราย รักษาหายแล้ว 4,352 ราย และ เสียชีวิตสะสม 65 ราย และการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อก็ลามไปถึง 54 จังหวัดแล้ว

ประกอบกับมาตรการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ ศบค.ประกาศออกมาล่าสุด เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด มีผลตั้งแต่ 6.00 น. วันที่ 4 ม.ค. 2564 - 6.00 น. วันที่ 1 ก.พ. 2564 จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ เช่น ห้างสรรพสินค้าปิดเวลา 21.00 น., โรงเรียนปิดถึง 31 ม.ค. แล้วเปลี่ยนไปใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์, ปิดสวนน้ำ สวนสนุก ตลาดน้ำ ตลาดนัด ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต อาบอบนวด สนามพระ สนามมวย สนามม้า โต๊ะสนุ้ก ยิม ร้านสัก สนามแข่งขันทุกประเภท สถานรับเลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ สถาบันกวดวิชา สถานที่จัดเลี้ยง ห้องจัดเลี้ยง รวมถึงล่าสุด กทม.จำกัดเวลาให้ร้านอาหารให้บริการลูกค้าทานอาหารที่ร้านเฉพาะเวลา 6.00-21.00 น. เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ กระทบกับผู้ประกอบการ ผู้คนวงกว้าง จนเกิดเป็นคำถามว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐประกาศออกมา มีอะไรชดเชยเยียวยาความเสียหายที่พวกเขาไม่ได้ก่อ แต่ต้องมารับผลของความหละหลวม หรือไม่ใส่ใจปฏิบัติตามหน้าที่ของบางคนบางกลุ่ม แล้วเงินกู้ที่กู้มากองไว้ ตอนนี้มีเหลืออยู่ 7 แสนล้านบาท ทำไมไม่นำออกมาช่วยประชาชน และช่วยให้ถูกจุดถูกตัว หรือทั้งหมดนี้สะท้อน "ความไร้ความสามารถบริหารจัดการภาวะวิกฤต" ของรัฐบาลกันแน่?