วันที่ 8 ก.พ.65 อาคารรัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าว คัดค้านการขยายสัญญาอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่คาดว่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้
สุรเชษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลคัดค้านการขยายการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่ ปี 62 นอกจากนี้ ยังเคยมีผลศึกษาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ให้ กทม.ไปเจรจาบีทีเอส ขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี เพราะจะมีปัญหาตามมีอีกมาก โดยเฉพาะค่าโดยสารราคาแพง แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันขยายสัญญาต่อไปอย่างไม่ชอบธรรมและพยายามดันเรื่องนี้เข้า ครม.มาแล้วหลายครั้ง โดยทราบว่าจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้
“เรื่องนี้ยิ่งยื้อยิ่งเจ็บ ยิ่งขยายสัญญายิ่งแก้ยาก หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล สิ่งที่เราจะทำคือ ตั๋วร่วม เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าโดยสารมีราคาแพง และอีกเรื่องที่ต้องทำคือ ค่าโดยสารร่วม จะคิดเฉพาะรถไฟฟ้าไม่ได้แต่ต้องรวมไปถึงรถเมล์ด้วย แต่ต้องยอมรับว่า อำนาจอยู่ที่เขา สิ่งที่เราทำได้คือการคัดค้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ใครกำลังทำอะไรกับประเทศนี้ วันใดที่การเลือกตั้งมาถึงจะได้เลือกรัฐบาลที่ไม่ทำสัญญาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนแบบนี้อีก”
ด้าน วิโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนกรุงเทพฯขึ้นรถไฟฟ้าด้วยราคาค่าโดยสารที่แพงมาก หลายคนขึ้นไม่ได้เพราะราคาเอื้อมไม่ถึง จ่ายไม่ไหว ปัญหาเกิดจากสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายต่างๆพัวพันมากกว่าสิบสัญญา ทำให้ต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในการขึ้นรถไฟฟ้าแต่ละสายแต่ละสี ทั้งที่สิ่งที่ควรเป็นคือการจ่ายทีเดียวไม่ว่าจะไปต่อเส้นไหนสีใด แต่ข้อเท็จจริงตอนนี้เปลี่ยนสีเปลี่ยนเส้นก็ต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่ และโอกาสที่จะเกิดตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วมก็เกิดขึ้นไม่ได้ หากมีการต่อสัญญาสัมปทาน ค่ารถไฟฟ้าแพงจะหลอกหลอนคน กทม.ต่อไป
“คนเป็น ผู้ว่า กทม. จะต้องกระตือรือร้นในเรื่องนี้ จะต้องติดตามว่าเงื่อนไขการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี จากวันหมดอายุสัมปทานปี 2572 ว่ามีการพูดถึง ตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม หรือไม่ถ้ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะเท่าที่ติดตามจนถึงตอนนี้ ยังไม่พบเงื่อนไขเหล่านี้ในสัญญา สัมปทานฉบับนี้จะต่ออายุไปถึงปี 2602 ถ้าไม่พูดถึงเรื่องนี้ ปัญหาการจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนก็เกิดขึ้นต่อไป จะต้องจ่ายค่าโดยสารแพงต่อไป และการแก้ไขค่าโดยสารรถไฟฟ้าอย่างเป็นระบบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยไปจนถึงปี 2602”
วิโรจน์ ยังกล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ไม่มีบทเรียน เพราะ กทม.เคยไปรับส่วนต่อขยายจาก รฟม.มาดูแลจนเป็นหนี้นับแสนล้าน และบริหารจนเป็นหนี้หัวโตเพราะติดค่าเดินรถกับบีทีเอส ดังนั้น คนเป็น ผู้ว่าฯ จะนอนคดไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นในเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องไปดูว่ามีเงื่อนไขตั๋วร่วมหรือไม่ หรือมีแต่ไม่เป็นธรรม หรือมีแต่เป็นอุปสรรค หรือมีแต่ไม่เป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นไปในลักษณะนี้ ผู้ว่าฯจะต้องไม่รับการต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้หัวโตเหมือนที่เคยเกินขึ้นมาแล้ว เรื่องนี้คนเป็น ผู้ว่าฯต้องชนเพื่อคนกรุงเทพ ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
“ผู้ว่า กทม. คือ ลูกจ้างของคนกรุงเทพ ถ้ารู้ว่าตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม ไม่อยู่ในเงื่อนไขแล้วนิ่งเฉยก็เหมือนลอยแพคนกรุงเทพฯ กทม.แม้มีอำนาจมีจำกัด แต่นี่คือขนส่งสาธารณะจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ เรื่องนี้เกี่ยวกับ ผู้ว่า กทม. แต่เรายังไม่เห็นบทบาทผู้ว่าคนปัจจุบันเลย”
ในช่วงท้ายสื่อมวลชนได้ถามว่า การประชุม ครม. ในวันนี้ รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ไม่เข้าร่วม เป็นเพราะเห็นตรงกันหรือไม่ สุรเชษฐ์ ตอบว่า เรื่องนี้พรรคก้าวไกลกับพรรรคภูมิใจไทยเห็นตรงกันว่า ไม่ควรขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามร่างปัจจุบัน เรื่องนี้ไม่ใหม่และเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว เราไม่เห็นด้วยกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวตรงกัน แต่เราเห็นต่างกันกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เป็นการพิจารณาสัมปทานสายสีเขียว เราเห็นว่ามีความไม่ชอบธรรมอย่างยิ่งและยังตอบคำถามไม่ได้ แม้แต่ กมธ.วิสามัญ ที่ศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งมาจากทุกพรรคการเมือง มีฝ่ายรัฐบาลเป็นประธาน ก็ไม่เห็นด้วย ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราจะทำยิ่งกว่าพรรคภูมิใจไทยแน่ เพราะยังเหลืออายุสัมปทานอีกตั้ง 7 ปี แต่กลับจะรีบขยายการต่ออายุไปอีก 30 ปี ตั้งแต่วันนี้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก