Skip to main content

ขอนแก่น เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานงานการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดขอนแก่น หวังเป็นต้นแบบเมืองปลอดภัย ดึงเทคโนโลยีใหม่ควบคุมระบบการแพทย์ระยะไกล

นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดขอนแก่น โดยเป็นประธานเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานงานการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดขอนแก่น 

นพ.ทวีวงษ์ เปิดเผยว่า การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฯ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาหลายปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนทุกวันนี้รัฐบาลกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งเป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ลงให้ได้เหลือ 12 รายต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ขณะเดียวกันมติคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติงบประมาณสำหรับจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปกำหนดเป็นนโยบายแก้ไขไก้อย่างตรงจุด มีกำหนดชัดเจนว่า ภายในปี 2570 การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนต้องไม่เกิน 12 คน ต่อแสนประชากร การลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และอีกหลายจังหวัด เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาตามมาตรา 240 ให้กำกับติดตามการทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

ปภ

"การตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานงานการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดขอนแก่น เป็นเรื่องดีเพราะขอนแก่นเป็นจังหวัดสำคัญ มีสถานที่ท่องเที่ยว เป็นเมืองเศรษฐกิจ ต้นแบบเมืองปลอดภัย เรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นงานด้าน Post Crash ถ้ามีประสิทธิภาพช่วยเหลือได้ทันท่วงทีจะช่วยลดผู้เสียชีวิตกับผู้บาดเจ็บไม่ให้เสียชีวิตได้มากขึ้น" นพ.ทวีวงษ์ กล่าว  

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในด้านหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่มีศักยภาพ เป็นที่พึ่งของประชาชนในหลายๆจังหวัด รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็นจังหวัดแรกๆ ที่จัดตั้งระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย มีการออกปฏิบัติการประมาณปีละ 1 แสนครั้ง ซึ่งถือว่ามีการออกปฏิบัติการมากที่สุดของประเทศไทย หน่วยปฏิบัติการครอบคลุมทั้งจังหวัด ร้อยละ 93.37 

ปัจจุบันระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดขอนแก่น ได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ โดยนำระบบปฏิบัติการระบบการแพทย์ควบคุมระยะไกล หรือ Telemedicine และระบบควบคุมรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ Ambulance Operation Center (AOC) มาใช้ในการปฏิบัติงานเชื่อมโยงทั้งจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ที่สัญจรเข้ามาในพื้นที่เกิดความปลอดภัยสูงสุด “ความสำคัญของการแพทย์ฉุกเฉิน คือเสี้ยววินาทีในการดูแล เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นตามจุดต่างๆ การเข้าถึงผู้ป่วยที่รวดเร็วตั้งแต่จุดเริ่มต้น จะช่วยลดความสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ปภ

สำหรับบริบทความเสี่ยงอุบัติเหตุบนม้องถนนของ จ.ขอนแก่น นั้น เนื่องจากตัวจังหวัดมีถนนมิตรภาพ สายหลักตัดผ่าน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินหนาแน่นตลอดแนวถนน ประกอบกับมีแหล่งท่องเที่ยว สนามบิน ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่หลายแห่ง ทำให้มีประชากรแฝงจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้ปริมาณจราจรหนาแน่น เกิดเป็น 3 ปัญหาสำคัญ ได้แก่ 

1. รถใช้ความเร็วสูงผ่านเขตเมือง 

2. อุบัติเหตุที่จุดกลับรถ และทางแยก
อุบัติเหตุชนท้าย 

3. การฝ้าสัญญาณไฟแดงที่ทางแยก

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐาน รายงานอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 26.79 ต่อแสนประชากร  ในส่วนของ จ.ขอนแก่น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 23.86 ต่อแสนประชากร ขณะที่ในปีงบประมาณ 2565 ระหว่างเดือน ต.ค. - ธ.ค. ที่ผ่านมา อัตราตายอยู่ทีา 6.27 ต่อแสนประชากร ซึ่งตัวเลขคาดการณ์จนถึงสิ้นปีงบประมาณ คาดว่าจะอยู่ที่ 25.08 ต่อแสนประชากร