Skip to main content

เวทีสานพลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โชว์ผลสำเร็จภารกิจปลูกจิตสำนึก “ขับขี่ปลอดภัยให้เด็ก” ขยายสู่ผู้ครอบครัว-ชุมชน 

โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่ตำบลถนนปลอดภัย ปี 2564-2565 ภายใต้การสนับสนุนของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ สสส. จัดเวทีสานพลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเวทีในวันนี้เป็นการต่อยอดจากการผลิดอกออกผล ที่งดงามจากความร่วมมือของคุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และและคณะทำงานทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ

พรทิพภา สุริยะ  หัวหน้าโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่ตำบลถนนปลอดภัย ปี 2564-2565 เปิดเผยว่า การดำเนินงานครั้งนี้ นับเป็นเฟสที่ 3 เป็นการต่อยอดจากโครงการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ในการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน (เฟส 1 ปี 2560-2561) และโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนนโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน (เฟส 2 ปี 2562-2563)

เป้าหมายของการทำงานนี้ คือ การติดตั้ง Mindset ปลูกจิตสำนึกให้เด็ก ผู้ปกครอง คุณครู มีวินัย มีความรู้ ทักษะในการเดินทางอย่างปลอดภัย และเกิดองค์ความรู้เพื่อนำไปเผยแพร่ขยายผลต่อไปได้ โดยโครงการมีวัตถุประสงค์ คือ

1.เพื่อพัฒนาและขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่ในการจัดการความปลอดภัยทางถนน

2. เพื่อพัฒนาครูแม่ข่ายให้มีศักยภาพในการจัดการความปลอดภัยทางถนน และพัฒนาค่านิยมส่วนบุคคลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ปลอดภัยทางถนน

3. เพื่อเชื่อมกลไกการทำงาน ศปถ.ท้องถิ่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นฐานและประเมินประสิทธิผลของการขยายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่ตำบลถนนปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนโดยมีชุมชนเป็นฐาน เกิดกระบวนการค้นหารูปแบบการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / ชุมชน ที่นำไปสู่การเกิดกลไกปกป้องคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ที่มีมาตรการของชุมชนท้องถิ่นในการสร้างความปลอดภัยทางถนนและลดปัญหาอุบัติเหตุจราจร

พรทิพภา กล่าวว่า วันนี้ทั้ง 4 ภูมิภาค 13 จังหวัดทั่วประเทศ ได้เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 21 ตำบล สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เรียนรู้/โรงเรียนครอบครัว รวมทั้งหมด 105 แห่ง เกิดครูที่เป็นทีมวิจัย 246 ท่าน เด็กเล็ก-นักเรียน ที่เข้าร่วมผ่านกระบวนการ 2,500 คน ผู้ปกครอง 1,518 คน อปท.ทีมวิจัย 182 คน รวมแล้วกลุ่มคน ที่เปลี่ยน Mindset ด้านความปลอดภัยทางถนน  4,446 คน

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ คือ รูปแบบการก่อร่างสร้างรากฐาน ให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ทั้งในสถานศึกษา ชุมชน ตำบล โดยการมีส่วนร่วม ที่มีคุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง คนในพื้นที่ องค์กรปกครอง เข้ามาเกี่ยวร้อย หนุนเสริม เชื่อมกันเป็นเครือข่ายที่แข็งแรง เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจราจร ให้ทุกชีวิตปลอดภัยทุกครั้งที่เดินทางบนท้องถนน” พรทิพภา กล่าว

ด้าน รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า จากวันที่เริ่มโครงการจนวันนี้ เราขยายการเรียนรู้ออกไป ทำให้มีศูนย์เด็กเล็ก 88 แห่ง ได้ขึ้นมารับรางวัล เป็นบทพิสูจน์ ความจริงจัง ความต่อเนื่อง ความสุข ที่ทุกคนได้มาร่วมโครงการได้ เป็นโมเดลตั้งต้น อยากให้ทุกคนมาทำงาน โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ มีจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ พลังวิชาการที่ค้นหาเทคนิคสำคัญที่ทำให้งานบรรลุเป้าหมายได้ แต่เทคนิคสำคัญ คือต้นแบบหลักเด็กเล็กที่เป็นศูนย์รวมความรักของทุกคน ปลูกฝังความตระหนักให้เด็กแล้ว ยังให้เด็กชวนครอบครัวและชุมชน สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และอีกส่วนที่ขาดไม่ได้คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้ามาเป็นผู้ใหญ่เสริมทางสังคม ในการดูแลจุดเสี่ยง และสนับสนุนให้สวมหมวกนิรภัย 100% ให้กับทุกคนในชุมชน ซึ่งเรื่องง่ายๆ เท่านี้ ทำให้หนึ่งชุมชนมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น 

รุ่งอรุณ กล่าวว่า ในอนาคต สสส.พร้อมสนับสนุนศูนย์เด็กเล็ก เพื่อให้ตั้งหลักพัฒนาตัวเองได้ เชื่อมั่นว่าเรามีเครื่องมือที่เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการมากกว่าเงินทองเรามีทางลัด มีเครื่องมือเป็นตัวช่วย มั่นใจว่าหลายๆ คนอยากเริ่มทำ เพียงหยิบเครื่องมือเราไป ก็สามารถทำได้ ส่วนทิศทางในอนาคตเชื่อว่าหน่วยงานสำคัญของภาครัฐ ไม่ว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง จะเข้ามาเสริมความปลอดภัยในทุกระดับ โดยมีครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกัน