Skip to main content

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ผลวิจัยทีวีดิจิทัล 4 ช่อง โฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค จี้กสทช.ตรวจสอบเวลาการโฆษณาทุกช่อง และออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการแก้ไข เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค พร้อมชวนผู้บริโภคให้เฝ้าระวังโฆษณาเกินเวลา

จากกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับเป็นยกฟ้องปมช่อง 3 ขอเพิกถอนคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ให้ระงับการโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคช่วงปี 57 เนื่องจากโฆษณาเกินเวลากว่าที่กฎหมายกำหนดให้การออกอากาศรายการมีเวลาโฆษณาไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง การกระทำของสถานีโทรทัศน์จึงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 31 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2553 และข้อ 5 (8) ของประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2555 นั้น ผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่า สถานีโทรทัศน์อื่นก็น่าจะมีปัญหาเรื่องของการโฆษณาเกินเวลากว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน เพราะปัจจุบันพบรายการขายสินค้าผ่านทีวีดิจิทัลเป็นจำนวนมาก

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำการวิจัย เรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) เผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ (อ่านได้ที่ : https://www.chaladsue.com/article/3873) พบว่า มีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล 4 ช่องที่โฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่าง

ผลการวิจัย พบว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา คือ 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที หรือมีโฆษณาต่อชั่วโมงมากกว่า 12 นาทีครึ่ง มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) มองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25) และหากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ)

ด้านเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังพบปัญหาเรื่องการโฆษณามากกว่าที่กฎหมายกำหนด กสทช.จึงต้องตรวจสอบและออกคำสั่งกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่องให้เหมือนกันหมด ไม่เลือกปฏิบัติ หากพบว่ามีการโฆษณาเกินเวลาเช่นกัน เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเป็นแนวทางไว้แล้ว ออกคำสั่งชอบแล้วที่ให้โฆษณาไม่เกินเวลาที่กำหนดไว้ กสทช.ก็ควรจะปฏิบัติกับทุกช่องในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับของกสทช.ด้วย เป็นหน้าที่ในฐานะผู้ที่กำกับและดูแล

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวแล้ว หากดูตามผลวิจัยของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแล้วยังมีช่องอื่นที่มีปัญหาการโฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน โดยกฎหมายกำหนดให้การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือวิธีอื่น ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการโฆษณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีของช่อง 3 ที่มีผลการพิพากษาแล้วนั้น ถือว่าแนวการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุดแล้ว จึงเป็นมาตรการที่ให้หน่วยงานที่กำกับและดูแลมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างชอบธรรม ที่สั่งให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาแล้วก็ปรับปรุงกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นการเตือนผู้ประกอบการไม่ให้โฆษณาเกินเวลาหรือเอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้

มูลนิธิฯ ขอเสนอให้กสทช.ใช้มาตรการนี้ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจโทรทัศน์ทุกช่อง รวมถึงทีวีดิจิทัลที่สมัครเป็นสมาชิก เช่น ทรูวิชั่น ให้มีมาตรการในการโฆษณาตามเวลาไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ดังเช่นที่ออกคำสั่งกับช่อง 3 เพื่อให้ผู้ประกอบการแก้ไข และเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ภาครัฐควรทำงานเชิงรุกในการเข้าไปจัดการปัญหาแทนผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคก่อน