Skip to main content

กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กว่า 1 สัปดาห์หลังจากรัฐบาลได้ไฟเขียวให้สามารถใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางได้แล้ว ทำให้ เมนูคาวหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาแพร่หลายและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ก็ปรากฏว่า 'กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง' ได้รับผลกระทบจากการบริโภคอาหารผสมใบกัญชา

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความกังวลถึงผลกระทบ หรือความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น จึงสร้างแคมเปญรณรงค์ให้ ธุรกิจอาหาร อาทิ ร้านอาหาร เจ้าขอผลิตภัณฑ์ ติดฉลากหรือแขวนป้ายหน้าร้านบอกให้ผู้บริโภคทราบว่า อาหารที่ผลิตไม่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ตรงนี้จะทางเลือกและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะ'กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง' โดยผู้บริโภคทุกท่านสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกับแคมเปญนี้ได้ที่ https://ffcthailand.org/campaign/5

ผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดโปสเตอร์ร้านนี้ไม่มีกัญชาไปใช้ได้เลย ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการผลิตก็ควรจะฉลากแสดงส่วนผสม ปริมาณกัญชาที่มีในอาหารให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันว่าอาหารที่เลือกรับประทาน มีส่วนผสมของกัญชา นอกจากนี้กลุ่มเจ้าของร้านอาหาร จึงควรจะติดป้ายประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่ ตลอดจนข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย เพราะแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณหรือสารในกัญชาไม่ไม่เท่ากัน  

ปัจจุบันกลไกที่ควบคุมติดตามธุรกิจอาหารที่นำ 'ส่วนประกอบของกัญชา' มาประกอบอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการโฆษณายังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน อย. มีมาตรการเพียงการสุ่มตรวจเพื่อดูว่ากัญชาที่นำมาใช้มาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ขณะที่ผู้บริโภคมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารเมาในกัญชาจากการรับประทานเมนูที่หลากหลาย กระบวนการแปรรูปที่อาจจะก่อให้เกิดสารเมาได้มากขึ้น ทั้งยังยากต่อการระบุปริมาณ นอกจากนี้ผลของกัญชาที่ได้รับผ่านอาหารและเครื่องดื่มยังออกฤทธิ์ช้า จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเผลอรับประทานในปริมาณมาก สาร THC ในกัญชา ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของสมองให้แสดงความหิวโหยแม้ว่าเพิ่งกินไปหรือไม่มีความหิวเลยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชายังควรต้องติดตาม เฝ้าระวัง โดยผลการศึกษาของวารสารทางการแพทย์แคนาดารายงานอย่างชัดเจนว่า 'เด็ก และ ผู้สูงอายุ' เป็น 'กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง' ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อีกทั้งทุกกลุ่มวัยก็ต้องระวังเช่นกันเพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อสารในกัญชาไม่เท่ากัน ตามเพศ น้ำหนัก อาหารที่บริโภค ซึ่งผลจากการได้รับกัญชามากเกินไป คือ ทำให้เกิดอาการทางจิต เกิดความหวาดกลัว สับสน และเกิดภาพหลอน ในผู้สูงอายุสามารถเกิดอาการทางหัวใจได้