นักวิจัยศึกษาข้อมูลพบว่า คนเจนซีไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์มากเท่ากับคนรุ่นก่อนๆ อย่างมิลเลนเนียล เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียและสวีเดนระบุว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่มากพอจะทำให้มั่นใจถึงสาเหตุแท้จริงว่าเกิดจากอะไรกันแน่
คนเจนซี เป็นคนรุ่นแรกที่โตมาในสภาพแวดล้อมของอินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย และเมื่อพวกเขาเติบโตและเริ่มมีบทบาทต่อโลก นักวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษาถึงแนวโน้มบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น คนเจนซีดื่มแอลกอฮฮล์น้อยกว่าคนรุ่นก่อนหน้าหรือไม่ โดยเผยแพร่สิ่งที่พวกเขารู้ในขณะนี้และตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Review
มีคำอธิบายเกี่ยวกับคนเจนซีว่า เป็นคนรุ่นที่ “ไม่ขี้เมา” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่เคยดื่มเลย งานวิจัยในปี 2023 ของ Mintel แพลตฟอร์มฐานข้อมูลด้านการตลาด พบว่า คนเจนซีมองการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น “โอกาสพิเศษ” มากกว่า “การดื่มเป็นปรกติ” หรือ “ดื่มเพื่อผ่อนคลาย” ซึ่งมักพบในคนรุ่นที่อายุมากกว่า
มิเชล ลิฟวิงสตัน จากสถาบันวิจัยยาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย ระบุว่า มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า การบริโภคแอลกอฮอล์ที่ลดลงไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทุกเจเนอเรชั่น และการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ “นำโดยเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง” ซึ่งนำไปสู่การลดช่องว่างระหว่างเพศในของการดื่มแอลกอฮอล์ให้แคบลง
งานวิจัยเรื่อง สาเหตุของโรคอันเนื่องจากแอลกอฮอล์และอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้ชายและผู้หญิงในสหรัฐ ระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจกรรมของผู้ชายส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน ผู้ชายทั่วโลกดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้หญิง และเจ็บป่วยจากแอลกอฮอล์มากกว่าผู้หญิง ในปี 2016 มีผู้ชายทั่วโลกร้อยละ 54 หรือราว 1.46 พันล้านคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ขณะผู้หญิงดื่มอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 32 หรือราว 900 ล้านคน และในปีเดียวกันนั้น มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากแอลกอฮฮล์ราว 3 ล้านคนใน โดย 2.3 ล้านคนเป็นผู้ชาย
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงเกิดขึ้นกับคนทุกแบบ แนวโน้มหนึ่งชี้ว่า คนรุ่นใหม่อาจสลับจากการดื่มแอลกอฮอล์ไปเป็นการ “เสพกัญชา” เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศกำลังมุ่งหน้าไปสู่การทำให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และการเสพกัญชาอาจเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับมากขึ้นในอนาคต ขณะที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า การใช้กัญชาไม่ได้ลดลงในกลุ่มคนอายุน้อย
ข้อมูลจาก Mintel ยังเผยด้วยว่า คนรุ่นใหม่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กลัวอาการเมาค้าง และเลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มที่เบากว่า
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในเรื่องนี้ การศึกษาชิ้นหนึ่งใช้ข้อมูลของสวีเดนพบว่า มีการลดลงของการดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปรกติ รวมถึงภาวะสุราเป็นพิษ และอันตรายอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการดื่ม ซึ่งขัดแย้งกับข้อค้นพบของการศึกษาก่อนหน้านี้ในสหรัฐเมื่อปี 2020 ที่มีข้อสรุปว่า คนรุ่นใหม่ รวมไปถึงเจนมิลเลนเนียล และเจนซีที่อายุมากสุดจำนวนมากขึ้นที่เข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคตับที่เกี่ยวเนื่องจากแอลกอฮอล์
ทีมวิจัยเสนอว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มมีมุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้นต่อประเด็นนี้ หากต้องการช่วยเยาวชนและคนรุ่นถัดๆ ไป ด้วยการสำรวจถึงการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มวัยรุ่น
อ้างอิง
Young People Are Drinking Less Alcohol – But Do We Know Why?
Gender Differences in the Epidemiology of Alcohol Use and Related Harms in the United States