Skip to main content

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย ‘ลูกหนี้’ มีสิทธิได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เจ้าหนี้ สามารถทวงหนี้ได้เท่าที่ขอบเขตกฎหมายกำหนด ไม่มีสิทธิละเมิดลูกหนี้

หลังเกิดกรณีเจ้าแม่เงินกู้นอกระบบ พาพวกบุกทำร้ายร่างกายลูกหนี้ พร้อมถ่ายคลิปและโพสต์ประจานบนโซเชียลมีเดียจนเป็นข่าวบนสื่อมวลชนต่างๆ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องร้องเรียกหนี้สินคืน แต่ลูกหนี้ก็มีสิทธิได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะการเป็นลูกหนี้ไม่ได้หมายความว่าจะถูกเจ้าหนี้กระทำอย่างไรก็ได้

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค กล่าวว่า แม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิ์ทวงหนี้ แต่ต้องยึดตาม "พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558" ที่กำหนดขอบเขตการติดตามทวงถามหนี้ไว้อย่างชัดเจน หากละเมิดมีทั้งโทษทางปกครอง และโทษทางอาญา

รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ละเมิดสิทธิของลูกหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้
 
1. ห้ามทวงหนี้ ตอนดึก 
พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 กำหนดว่า เจ้าหนี้มีสิทธิทวงหนี้ได้ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์  ตั้งแต่ 9.00-20.00 น. และในวันหยุด ระหว่างเวลา 9.00-18.00 น. เท่านั้น  

2. ห้ามทวงหนี้ผ่านไลน์-เฟซบุ๊ก 
กฎหมายห้ามการทวงหนี้ผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการติดแฮชแท็ก การคอมเมนต์ทวงหนี้ในเฟซบุ๊ก ไอจี หรือการส่งข้อความทวงหนี้ทางไลน์ ซึ่งเจ้าหนี้ มีสิทธิ์ทวงหนี้แบบ “ตัวต่อตัว” กับลูกหนี้ตามสถานที่ซึ่งลูกหนี้ระบุไว้ตามเอกสารกู้ยืมเท่านั้น 

3. ประจานมา ฟ้องกลับได้ 
ถ้าเกิดเจ้าหนี้ตั้งสเตตัสด่า ประจาน หรือคอมเมนต์เรื่องหนี้ให้ลูกหนี้เสียๆ หายๆ ทำให้อับอาย หรือทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ลูกหนี้แจ้งความได้ ซึ่งกฎหมายระบุโทษปรับ 5 แสนบาท จำคุก 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ  

4. ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น 
เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไปทวงหนี้กับพ่อแม่ คู่สมรส ญาติพี่น้อง หรือเจ้านายของลูกหนี้ โดยยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น 

5. ลูกหนี้ต้องรู้รายละเอียดหนี้ 
นอกจากต้องมีสัญญาเงินกู้แล้ว เจ้าหนี้จะต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบจำนวนหนี้ ดอกเบี้ย ค่างวดผ่อนชำระ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ธนาคารเรียกเก็บด้วย แต่ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับเงินต้น ดอกเบี้ย พร้อมค่าปรับ และอาจถูกฟ้องคดีต่อศาลได้


รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ถ้าเจ้าหนี้ละเมิดพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ จะต้องได้รับโทษทางปกครอง และอาญา ซึ่งโทษทางปกครอง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท  

ในส่วนของโทษอาญา กำหนดไว้ดังนี้

• บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น เปิดเผยหนี้ ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ  สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา หรือมาให้ถ้อยคำ แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

• ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

• เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำว่า พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ มีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงหนี้เท่านั้น มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกหนี้สินคืนได้ แต่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิเจ้าหนี้ทำร้ายร่างกาย  

ทางด้าน โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มาตรา 4 ของ รัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล  ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ทวงเงินลูกหนี้ เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ทวงหนี้ได้เพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น

อธิบดี สคช. ระบุว่า การติดตามทวงหนี้ในลักษณะพูดจาข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ได้รับความเสียหาย มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดห้ามเจ้าหนี้ทำร้ายลูกหนี้ ห้ามการข่มขู่คุกคาม ห้ามยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจ เจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องศาลเท่านั้น โดยทั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หากเกินจากนี้ให้ถือเป็นโมฆะ

“บ้านเมืองมีกฎหมาย จะกู้ยืม คิดดอกเบี้ย ทวงหนี้ ต้องถูกกฎหมาย ขอบอกว่า 122 สาขาของอัยการคุ้มครองสิทธิประชาชนทั่วประเทศ จะช่วยดูแล และคุ้มครองประชาชนด้วยกฎหมายที่ถูกต้อง สายด่วน อัยการ 1157 ปรึกษากฎหมายฟรี จะไม่เกิดปัญหาภายหลัง” อธิบดี สคช.กล่าว