อัยการนัดฟังคำสั่ง 'ธนาธร' 4 พ.ย. ชี้ชะตาไลฟ์วัคซีน ผิด ม.112 หรือไม่ ขณะที่เจ้าตัวยื่นขอความเป็นธรรม พร้อมให้สั่งสอบเพิ่มในหลายประเด็น ขณะที่เจ้าตัวไม่มีความกังวล แต่อยากเรียกร้องให้ออกมาปกป้องประชาชนที่ถูกคดีเดียวกัน แต่ไม่มีต้นทุนทางสังคม
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษกพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้สรุปสำนวนพร้อมความเห็นสมควร ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผู้ต้องหาคดี ดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เเละความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้องให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 5 พิจารณา
จากกรณีที่ อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีและการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 32/2563 ลง 21 ก.ย. 2563 ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง คดีอาญาที่ 21/64 ลงวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 3 ข้อหา ได้แก่ ความผิด มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ม.14 และความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีที่ ธนาธรไลฟ์เฟซบุ๊กบรรยายหัวข้อเกี่ยวกับวัคซีนบนเพจคณะก้าวหน้าและเพจธนาธร ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีความล่าช้าเเละมีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน โดยพนักงานอัยการ จะนัดให้ธนาธร มาฟังการสั่งคดีต่อไป
ด้านกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า ภายหลังพนักงานสอบสวนส่งตัว ธนาธรให้อัยการเเล้วเวลาประมาณ 11.00 น. ธนาธรจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.พหลโยธิน เกี่ยวกับกรณีที่ได้พูดเรื่องวัคซีนเช่นเดียวกัน และวันนี้ (12 ต.ค.) ธนาธร ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการหลายประเด็น ทั้งขอให้สอบพยานเพิ่มเติมในหลายประเด็นเกี่ยวกับอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่า มีอำนาจสอบสวนหรือไม่ อภิวัฒน์ มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งพนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบทันทีและนัดให้ ธนาธร มาฟังการสั่งคดีวันที่ 4 พ.ย นี้ เวลา 09.30 น.
หลังเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ธนาธร เปิดเผยว่า ไม่มีความกังวลต่อคดี เพราะเป็นบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่บ้าง กระบวนการทางกฎหมายจึงไม่ได้ยากลำบากนัก แม้จะเป็นกระบวนการที่ไม่ปกติและไม่ยุติธรรมก็ตาม แต่สิ่งที่กังวลมากกว่า คือในยุคนี้มีคนอีกมากที่ถูกกลั่นแกล้งจากกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทุกวันนี้เรามีคดีการเมืองกว่า 800 คดี มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 1,500 คน เฉพาะมาตรา 112 เองมีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 150 คดี ไม่มียุคไหนที่เป็นยุคมืดที่รัฐบาลใช้กฎหมายกดขี่ปิดปากประชาชนเท่านี้มาก่อน
"คนเหล่านี้ไม่มีต้นทุนทางสังคม ทำให้กระบวนการทางกฎหมายไม่ถูกต้อง อย่างเช่นในกรณีของ เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมที่เพิ่งถูกไม่ให้ประกันตัวจากการถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่ชัดมาก เพราะเบนจาเป็นคนเดินทางไปมอบตัวด้วยตนเอง ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี แต่กลับไม่ได้ประกันตัว แล้วศาลยังบอกว่ากลัวจะไปทำความผิดซ้ำ ทั้งยังไม่ได้มีการพิพากษาว่าเป็นความผิดเลย ทำให้ตนต้องตั้งคำถามว่าการให้เหตุผลเช่นนี้ แปลว่าศาลมีธงในใจแล้วหรือไม่" ธนาธร กล่าว
ธนาธร กล่าวว่า แทนที่จะให้ความสนใจกับคดี ให้ความสนใจกับคดีเหล่านี้ดีกว่า นี่คือความไม่เป็นธรรมที่ถูกยัดเยียดให้กับคนตัวเล็กน้อยที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีต้นทุนทางสังคม ผมอยากให้สังคมร่วมกันให้ความสนใจในคดีเหล่านี้ และออกมาปกป้องพวกเขาร่วมกัน