'ธนาธร' ยก 5 เหตุผล ชี้ นิคมฯ 'จะนะ' ไม่ตอบโจทย์พัฒนาอุตสาหกรรม - พยากรณ์จะกลายเป็นนิคมฯ ร้าง-ไร้นักลงทุน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Politics บนช่องทางเฟซบุ๊กมติชนทีวี ให้ความเห็นต่อกรณีการสลายการชุมนุมประชาชนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมยกเหตุสนับสนุนคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นเหตุแห่งการชุมนุมของประชาชน
อัด 'ประยุทธ์' อย่าปัดสวะ ชี้ ในฐานะนายกฯ สั่งยับยั้งตำรวจไม่ให้ทำเกินกว่าเหตุ-ลากคอคนสั่งการรับผิดชอบได้
โดยธนาธร ระบุว่าสำหรับกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 6 ธันวาคมนั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ปฏิเสธความรับผิดชอบว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการ แต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่
แต่ข้อเท็จจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือผู้กำกับดูแลตำรวจโดยตรง และไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะอ้างว่าตัวเองไม่ได้สั่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจในการออกคำสั่งยับยั้งการกระทำได้ และหาคนสั่งการมาลงโทษให้ได้
ธนาธรยังระบุว่า การชุมนุมของประชาชนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นนั้น เป็นการชุมนุมอย่างสันติ ไม่ได้เกิดเหตุรุนแรงหรือการปะทะใดๆ การสลายการชุมนุมและยังยัดข้อหา ย่อมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ควรหาคนสั่งการมารับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องยกเลิกการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุมทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขทันที ทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่ให้ยุติการชุมนุม
รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วยตนเอง เพื่อให้ทราบถึงความเดือดร้อนที่เป็นเหตุแห่งการชุมนุมในครั้งนี้
“การที่ประชาชนเดินทางพันกิโลเมตรมานอนตากแดดตากฝนบนถนนในกรุงเทพมันไม่สนุกหรอก ลองฟังพวกเขาว่าทำไมต้องลงทุนลงแรง แทนที่จะได้ทำมาหากิน อยู่กับครอบครัว เพราะพวกเขาต้องมาต่อสู้กับสิ่งที่รัฐยัดเยียดให้ ในรูปแบบโครงการขนาดใหญ่ที่พวกเขาไม่ต้องการ” ธนาธรกล่าว
นอกจากนี้ ธนาธรยังระบุด้วยว่า พรรคการเมืองต่างๆ ควรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อกรณีโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้แก่ 1) การตรวจสอบว่าโครงการนี้มีกลุ่มทุน และนักการเมืองกลุ่มใดได้รับผลประโยชน์อะไรที่ไม่ควรได้หรือไม่ 2) ปกป้องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติของประชาขน และ 3) แสดงจุดยืนเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะให้ชัดเจน ว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้
ยก 5 เหตุผลนิคมฯ จะนะไม่คุ้มค่า - ชี้ จะกลายเป็นนิคมร้าง แลกกับทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชาวบ้านจะนะ
ธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าตนมีเหตุผล 5 ประการด้วยกัน ที่สนับสนุนการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้แก่
ประการแรก พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลาไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากในจุดที่จะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ล้วนแต่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่นนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ไปทางตะวันตก 60 กิโลเมตรจากจะนะ และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ไปทางตะวันตกเฉียงใต้จากจะนะ 93 กิโลเมตร
ซึ่งทั้งสองนิคมอุตสาหกรรม ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุน สภาพเหมือนถูกทิ้งร้าง อย่างเช่นที่สะเดา มีการใช้พื้นที่ไปเพียง 10% เท่านั้น และเป็นพื้นที่ ๆ มีการพัฒนาเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว
ดังนั้น ภาคใต้จึงไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม หากแต่มีนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ที่ยังใช้พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพจนถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว
ประการที่สอง หากเราไปดูแผนผังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเห็นว่าพื้นที่ที่เป็นสีม่วง คือเขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ณ ตอนนี้ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินไปมากแล้ว ถึง 58.8% ซึ่งเป็นเหตุให้ค่าไฟแพงกว่าที่ควรเป็น จากค่าบำรุงรักษาด้วยที่ต้นทุนมาตกอยู่กับประชาชนด้วย
ประการที่สาม เราจะสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรธรรมชาติจะหายไปทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เมื่อมีการสร้างสิ่งก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล ชายหาดจะกลายเป็นดินเลน สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ และวิถีชาวประมงของชาวจะนะก็จะหายไปทันที
“เพราะฉะนั้น การมีนิคมอุตสาหกรรมในจะนะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มอย่างยิ่ง เราจะได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุนเหมือนรับเบอร์ซิตี้และสะเดา แต่เราจะสูญเสียทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของจะนะไปตลอดกาล” ธนาธรกล่าว
ธนาธรยังกล่าวต่อไป ถึงเหตุผลอีกสองประการสุดท้าย นั่นคือ ประการที่สี่ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เคยเป็นผังเมืองสีเขียว ก่อนกลายเป็นสีม่วงได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปมา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563
ได้แก่พื้นที่ตำบลตลิ่งชัน นาทับ และสะกอม ซึ่งบัดนี้อยู่ในมือของกลุ่มทุนแล้วเป็นจำนวนมาก โดยมีเครือญาติของนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไป ไปไล่ซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ก่อนนำไปขายต่อให้นายทุนก่อน จนบรรดาเครือญาติของนายนิพนธ์ร่ำรวยขึ้นกว่า 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนคนสำคัญในนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก็คือทีพีไอ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่ให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ในการระดมทุนของพรรคเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสองบริษัทในเครือทีพีไอ เข้าไปบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐถึงรายละ 3 ล้านบาท
และประการสุดท้าย การประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นไปในลักษณะกีดกันฝ่ายเห็นต่างไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 มีการเปิดประชาพิจารณ์ในโครงการนี้ แต่ทว่าผู้จัดประชาพิจารณ์กลับนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่าพันนายล้อมสถานที่จัดประชาพิจารณ์ ไม่ให้คนคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะเข้าร่วมแสดงความเห็น
ทำให้ในที่สุด การประชาพิจารณ์ครั้งนั้น กลายเป็นการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายเดียว ไม่เปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมกระบวนการ
อัดรัฐวิสัยทัศน์ตีบ 7 ปีสร้างนิคมฯทั่วประเทศแต่ไม่มีดีมานด์ ทำนิคมฯ ร้างไร้เงานักลงทุน
ธนาธรยังกล่าวต่อไปอีกว่า เอาเข้าจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม แต่ขาดการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้ว่าในรอบ 7 ปีที่ผ่านมามีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจไปทั่วประเทศ แต่ปัญหาก็คือทุกที่ต่างไม่มีนักลงทุนเข้ามาทำอุตสาหกรรม นั่นก็เพราะไม่มีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากกว่า คือการสร้างความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม เช่น ในช่วงหลังนี้ตนได้ศึกษาเรื่องน้ำประปามามาก หากเป็นตนจะทำนโยบายเปลี่ยนมิเตอร์น้ำให้เป็นมิเตอร์น้ำอัจฉริยะทั่วประเทศภายใน 5 ปี
มิเตอร์น้ำอัจฉริยะเพียงอย่างเดียว สามารถสร้างความต้องการได้เป็นสิบ ๆ ล้านผลิตภัณฑ์ นี่คือกำลังซื้อจากภาครัฐที่เอกชนสามารถมองเห็นได้ และหากมีการกำหนดเป้าหมายทิศทางให้ชัด เอกชนจะเห็นปริมาณความต้องการในอนาคตที่ชัดเจน การลงทุนในอุตสาหกรรมก็จะเกิดขึ้นได้
และยังจะเกิดผลพลอยได้ตามมา นั่นคือการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เรามีเทคโนโลยีของตัวเอง ได้การสร้างงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กัน
ธนาธรระบุว่าสิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ของการนำกำลังซื้อจากภาครัฐไปทำให้เกิดความต้องการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐสามารถสร้างความต้องการทางอุตสาหกรรมได้อีกหลายเรื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด
“นี่คือการสร้างดีมานด์และอุตสาหกรรม ไม่ใช่เอางบประมาณไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วคิดเองเออเองว่าอุตสาหกรรมจะเกิด สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีมากเกินไปแล้ว แต่คือการสร้างดีมานด์ในอุตสาหกรรม ที่ยังขาดแคลนอย่างมากในประเทศของเราต่างหาก” ธนาธรกล่าว