'คนเดือนตุลา-นักการเมือง' ร่วมรำลึก 6 ต.ค.19 ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ กิจกรรมสำคัญมอบรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์' เพื่อประชาธิปไตยให้ 'เพนกวิน'
ที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรม รำลึก 6 ตุลา2519 เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี โดยมีตัวแทนทั้งจากกลุ่มคนเดือนตุลา ที่เคยร่วมต่อสู้ทางการเมืองในอดีต ภาคประชาชน กลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเสื้อแดง ญาติวีรชนพฤษภา2535 ตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรค จากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย คณะก้าวหน้า เดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช จากพรรคเพื่อไทยและคนเดือนตุลา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ต่อพงษ์ ไชยสาส์น ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย
โดยในช่วงเช้า มีการจัดกิจกรรมวางพวงมาลา การอ่านรายชื่อผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ โดย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นศ.ธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มราษฎร การอ่านบทกวีของกลุ่มต่างๆจากนั้นแสดงปาฐกถารำลึก 45 ปี 6 ต.ค. 2519 โดย กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ต.ค. 2519 และจัดพิธีมอบรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย' ให้กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ 'เพนกวิน' แกนนำกลุ่มราษฎร และมีพิธีเปิดนิทรรศการหนี้เลือด 6 ต.ค.2519 ถึงเวลาชำระ โดย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ต.ค. 2519 เป็นต้น ขณะที่ในช่วงเย็นเป็นการเปิดเวทีปราศรัยและจัดกิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมี ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร เข้าร่วม
ขณะที่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์มีการติดแฮชแท็ก #6ตุลา เพื่อร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียเมื่อปี 2519 จนติดอันดับเทรนด์ยอดนิยม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประกาศเรื่อง มาตรการและคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) (ฉบับที่ 33) ให้ปิดทำการชั่วคราวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยให้งดการปฏิบัติงานและการติดต่อราชการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย ให้ใช้รูปแบบการปฏิบัติงานภายในที่พักหรือการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) เต็มจำนวน จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564 ซึ่งประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าอาจเกิดผลกระทบต่อการจัดงาน #6ตุลา ของทางกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งในวันนี้นัดจัดกิจกรรมที่ลานประติมากรรม ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ 16.00 น.
แกนนำ 'ก้าวหน้า-ก้าวไกล' แท็คทีมร่วมรำลึก 45 ปี 6 ตุลา - จี้รัฐยุติความรุนแรง
แกนนำพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ประกอบด้วยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, และชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และวางพวงมาลารำลึกวีรชนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ร่วมกับญาติวีรชน คนเดือนตุลา ภาคประชาสังคม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ
พร้อมกันนี้ แกนนำทั้ง 4 ได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการร่วมพิธีรำลึกในวันนี้ ซึ่งในส่วนของพิธา ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน อาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53 มาจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนแต่มีรากเหง้าของปัญหาเดียวกันที่ไม่เคยได้รับการชำระ นั่นคือความรุนแรงของรัฐ ที่เข้าปราบปรามคนเห็นต่าง ไม่อนุญาตให้คนที่มีความคิดแตกต่างได้ดำรงอยู่ในสังคม และวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล ที่วันนี้ยังไม่มีผู้ต้องรับผิดต่อ 41 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในวันนั้น
มาจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ยังคงมีเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ได้รับความรุนแรงทั้งจากการปราบปรามบนท้องถนนและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ มีเยาวชนที่โดนคดีมาตรา 112 ถึง 148 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีความทางการเมืองสำหรับคนเห็นต่าง 2 พันกว่าคดี
วันนี้รัฐไทยยังไม่คิดที่จะฟังเสียงของประชาชน ไม่คิดที่จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รับฟังความฝันของคนรุ่นใหม่ ไม่รับฟังความต้องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ประนีประนอม พร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชน
พิธากล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ นั่นคือรัฐต้องยุติความรุนแรงกับประชาชนและนิติสงครามโดยทันที พฤติกรรมของรัฐในวันนี้สะท้อนถึงความแข็งตัวของรัฐ ยิ่งใช้ความรุนแรงเข้าสู้กับอนาคตของชาติ การชุมนุมแต่ละครั้งยิ่งจะปะทุรุนแรงมากขึ้น การใช้คดีความเข้าปราบปรามประชาชนก็ไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป
“เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้คนรุ่นใหม่ได้พูดความจริงแห่งยุคสมัย เปิดให้มีการประนีประนอมระหว่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมือง ยอมรับความเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติ มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น ผลลัพธ์ความขัดแย้งทางการเมือง 45 ปีที่ผ่านมาจึงจะถูกชำระและเดินหน้าต่อไปได้” นายพิธากล่าว
ด้านชัยธวัช ระบุว่าสิ่งที่เราเรียกร้องในวันนี้ คือรัฐต้องยุติการดำเนินคดีความทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งการควบคุมและสลายการชุมนุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะยิ่งจะทำให้เกิดความคับแค้นคับข้องใจในหมู่ประชาชน และจะทำให้ประชาชนเลือกตอบโต้ด้วยความรุนแรงมากข้ึน
การดำเนินคดีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 หรือมาตรา 116 ล้วนเป็นสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือการเป็นอาชญากรรมทางความคิด ไม่อนุญาตให้ประชาชนพูดหรือแสดงความเห็น ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่มีทางนำไปสู่ทางออกให้แก่สังคมไทยได้
“เราเคยมีบทเรียนแล้วว่าคดีความเหล่านี้ต้องใช้มาตรการทางการเมืองเข้าแก้ไข เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกัน ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชนทันที และในอนาคตเราต้องมีการนิรโทษกรรมให้แก่คดีทางการเมืองที่เกิดกับประชาชนเหล่านี้ทั้งหมด” ชัยธวัชกล่าว
ในส่วนของธนาธร ระบุว่าในวันนี้เรามารำลึกถึงอดีต ไม่ใช่เพียงเพื่ออดีตเท่านั้น แต่เรายังต้องการส่งเสียงว่าเราต้องการเห็นอนาคตแบบไหน นั่นคืออนาคตที่คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างโอบอ้อมอารี ความเห็นต่างได้รับการยอมรับ มีแต่อนาคตแบบนี้เท่านั้น ที่ประทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ การรำลึก 6 ตุลาของเรา ไม่ใช่การรำลึกแต่เพียงอดีตและคุณูปการของคนเดือนตุลา แต่เรามาป่าวประกาศ ว่าสังคมไทยที่เราอยากสร้างไปด้วยกันจะเป็นเช่นไรด้วย
ด้านพรรณิการ์ ระบุว่า 45 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าความอำมหิตที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยังคงไม่มีการเรียนรู้บทเรียนจากความรุนแรง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ประชาชนยังคงต่อสู้อยู่ในวันนี้ เหมือนดั่งที่ได้ต่อสู้มาเมื่อ 45 ปีที่แล้ว และการต่อสู้ยังคงต้องดำเนินต่อไป ฝากไปถึงพลเอกประยุทธ์ และผู้ที่ค้ำจุนอำนาจของรัฐบาลว่า อำนาจปืนไม่อาจลบล้างหรือขัดขวางอนาคตของประเทศได้ อนาคตของประเทศเป็นของประชาชน ส่วนอนาคตของพวกคุณอยู่ในเรือนจำ
สำหรับพวงมาลารำลึกของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ได้มีการเขียนข้อความ "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย" และ "ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ที่ประพันธ์โดยจิตร ภูมิศักดิ์ อันเป็นเพลงที่นิยมขับขานในหมู่คนเดือนตุลา มีความหมายถึงการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชน ที่แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากมากมาย แต่ก็ยังคงไม่ย่อท้อ แม้ในยามที่มืดมิดที่สุด ก็ยังคงมีแสงดาวส่องนำทางเป็นความหวังและกำลังใจให้กับการต่อสู้ต่อไป