Skip to main content

'เพื่อไทย' ร่วมวางพวงมาลารำลึก 6 ตุลา 19 โฆษกพรรคชี้เหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์ฉุดรั้งประเทศ หวังพรรคการเมืองและประชาชนทุบรื้อโครงสร้างป้องกันความรุนแรงโดยรัฐอีก

อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และสุธรรม แสงประทุม อดีตนักศึกษานักเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลา อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค และนายกฤตนัน สุทธิธนาเลิศ สมาชิกพรรค เข้าร่วมวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  โดยอรุณี กล่าวว่า เนื่องในวันครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขอแสดงความรำลึกถึงเหล่าวีรชนทุกท่าน และเชื่อว่าการต่อสู้ในตอนนั้นคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงความเสียสละของผู้วายชนม์แล้ว  ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยที่ทำให้การยึดอำนาจรัฐประหารของเผด็จการเป็นสิ่งที่เลวร้ายและนำมาซึ่งความตกต่ำของประเทศจนถึงทุกวันนี้  เป็นหนึ่งในรูปแบบของความอำมหิตที่รัฐใช้กับผู้ชุมนุมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และสุดท้ายประเทศไทยก็ตกหลุมวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก คือ

1.การสร้างสังคมที่ "อยุติธรรม" เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การกลับเข้ามาในประเทศของจอมพลถนอม ที่ไม่เคยได้รับโทษใดๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นชนวนเหตุความรุนแรง เช่นเดียวกับปัจจุบัน การชุมนุมของเยาวชนทั้งหลายก็เกิดจากการอึดอัดคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นสังคม 

2.ใช้สื่อสารมวลชนอย่าง "อยุติธรรม" เพื่อสร้างวาทกรรมลดทอนคุณค่า โดยกรณี 6 ตุลา ผู้ชุมนุมถูกลดทอนคุณค่าการเรียกร้องความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้กลายเป็นปีศาจคอมมิวนิสต์ ปีศาจญวน จนมาถึงปัจจุบันเยาวชนที่ออกมาชุมนุมถูกลดทอนคุณค่าให้เหลือเพียง พวกชังชาติ หรือพวกสามกีบ โดยสื่อบางกลุ่ม หรือหน่วยไอโอ

3.เผด็จการเข่นฆ่ากระทำการรุนแรงกับประชาชน ในกรณี 6 ตุลา รัฐระดมกำลังพลและอาวุธสงครามล้อมฆ่าประชาชนที่ไร้ทางสู้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ขณะที่ปัจจุบันรัฐเริ่มเพิ่มระดับความรุนแรงในกดปราบผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี เอากระบองไล่ทุบตี ตระเวนขึ้นรถกระบะไล่ยิงกระสุนยาง และมี "มือมืด" ใช้กระสุนจริงด้วย

4.บังคับให้ถูกลืม กรณี 6 ตุลา การล้อมฆ่าถูกทำให้ลืมเลือน ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะถูกรื้อฟื้น เมื่อเทียบกับการชุมนุมในปัจจุบันมักจะมีข่าวสังคมสร้างดราม่าเข้ามาแทรกเกือบทุกครั้ง  ดังนั้นพรรคการเมืองและประชาชนจะต้องร่วมกันรื้อทุบโครงสร้างเหล่านี้ไปให้ได้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรมกลับคืนมาจะได้ไม่ต้องมีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2529 เกิดขึ้นซ้ำอีก 

"หากรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากเผด็จการทหาร ที่ยึดอำนาจมาจากมือของประชาชนยังคงปกครองประเทศ  วงจรอุบาทว์ จะหมุนวนซ้ำไปเรื่อยๆ  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยจะถูกลดทอน ด้อยค่า สิทธิและเสรีภาพจะไม่มีค่าไปกว่าความมั่นคง และท้ายที่สุดระบอบการปกครองของไทยที่ชื่อว่าประชาธิปไตยจะไม่สามารถพัฒนา  7 ปีที่ผ่านมาก็เกินพอแล้วสำหรับเผด็จการทหาร" อรุณี กล่าว

 

คนเดือนตุลาเพื่อไทยย้อนอดีตโศกนาฏกรรม วอนรัฐเรียนรู้อดีตหยุดทำรุนแรงกับประชาชน

 

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อดีตนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์หัวข้อ เรื่องเล่าเดือนตุลา ในสายตาภูมิธรรม เวชยชัยและจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ฎ โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 คืออาชญากรรมที่รัฐกระทำกับประชาชนซึ่งถือเป็นพลังอันบริสุทธ์ เหตุการณ์นี้ยังคงเป็นบาดแผลที่คนเดือนตุลาไม่ได้รับการเยียวยาและคลี่คลาย  แต่ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น ประชาชน  นักศึกษา แรงงาน และชาวนา มีเจตนาอันบริสุทธิ์ เพียงแค่อยากมีชีวิตที่ดี อยากเห็นประเทศดีขึ้น มีประชาธิปไตย ไม่ใช่คนทำลายบ้านเมือง  ไม่แตกต่างจากการชุมนุมเรียกร้องในปัจจุบัน  จึงอยากให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือนักศึกษา และประชาชนต้องเรียนรู้  จากเหตุการณ์นี้ให้ครบทุกมิติ  ควรเก็บเกี่ยว ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น  เพื่อไม่ให้รัฐก่ออาชญากรรมกับประชาชนที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นอีก 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวเสริมว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในตอนนั้นคือต้องการรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องการเป็นกบฎ  แต่รัฐกลับกระทำการตอบสนองที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และทิ้งให้คนยุคนี้มีคำถามเกี่ยวกับความรุนแรงค้างคาอยู่  เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 45 ปี ยังคงเห็นคนรุ่นใหม่ทำงานเพื่อต่อสู้ยืนหยัด สิ่งเหล่านี้ทำให้สบายใจว่า เลือดเนื้อที่สูญเสียไปในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้หายไปไหน  แค่ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์  นักกิจกรรม กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วพบว่ารัฐยังคงกระทำแบบเดิม เช่น ความพยายามสร้างชุดข้อมูลบางอย่างขึ้นมาเป็นยากล่อมประสาท หรือ Propaganda แก่ประชาชน ไม่ต่างจากยุคตุลาที่ใช้วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือ แต่ผมเชื่อว่า รัฐจะใช้วาทกรรมสร้างความรุนแรงใส่ร้ายประชาชนที่ออกมาต่อสู้อีกไม่ได้ เพราะเราเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต วันนี้เพียงแค่เราแค่ชูป้าย เราไม่ได้ทำร้ายใคร รัฐก็สั่นคลอนแล้ว