Skip to main content

ตลอดวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ นอกจากการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นแล้ว ยังมีการคิดค้นรูปแบบการจัดการทางสังคม ที่ปัจจุบันเรียกว่า 'นวัตกรรมทางสังคม' ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีวาทกรรมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ทรงอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ นำโดยชาติมหาอำนาจต่างขั้วตรงข้ามขับเคี่ยวกันเพื่อช่วงชิงการนำของโลก ได้แก่ แนวคิดเรื่อง 'การพัฒนา' จากค่ายเสรีนิยม และแนวคิดเรื่อง 'การปฏิวัติ' จากค่ายสังคมนิยม

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่า ทั้งการปฏิวัติและการพัฒนาจะหมดความชอบธรรมไปแล้ว เนื่องจากเป็นความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากฉันทานุมัติร่วมกันของสังคม แต่เป็นการจัดการที่นำโดยคนกลุ่มหนึ่ง และบางครั้งเป็นการบังคับ ซึ่งเขามองว่า ทั้งการปฏิวัติและการพัฒนาล้วนแต่ประสบความล้มเหลว โดยดูจากการล่มสลายของประเทศค่ายสังคมนิยมทั่วโลก และผลจากการพัฒนาที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำ

 

'นวัตกรรมทางสังคม' คำใหม่ การเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ที่นำโดยใครก็ได้

ยุกติ อธิบายว่า แม้คำว่า “นวัตกรรม” ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ แต่เขามองคำว่า 'นวัตกรรมทางสังคม' เป็นคำใหม่ ซึ่งนำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะแตกต่างไปจากที่ผ่านมา

“ถ้าเราใช้คำว่า ‘นวัตกรรม’ ในความหมายที่ว่ามันคือการคิดค้นอะไรใหม่ๆ ในขณะที่ ‘นวัตกรรมทางสังคม’ นั้นถูกใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแบบที่ไม่ได้เกิดจากกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยคนส่วนใหญ่ในสังคม

“เมื่อก่อนอย่างการปฏิวัติ เราให้ผู้แสดงเป็นชนชั้นบางชนชั้น หรือการพัฒนา เราให้บทบาทของรัฐ หรือกลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็น agent ของการเปลี่ยนแปลง แต่นวัตกรรมทางสังคม เหมือนกับเป็นใครก็ได้”

 

'โครงสร้างสังคม' ส่งผลต่อ 'การสร้างนวัตกรรมทางสังคม'

นวัตกรรมทางสังคมไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง แต่ต้องอาศัยบริบทสังคมที่เอื้อต่อการเกิดของนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ ภาพที่ชัดเจนคือ การที่บางสังคมมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่บางสังคมไม่สามารถการสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาเดียวกันนั้นได้ ปัจจัยที่ส่งผลให้นวัตกรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นได้เร็วและมาก เพื่อตอบสนองต่อปัญหาของของสังคมนั้นๆ จึงขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย

ยุกติ มองว่า ประเทศที่มีความเป็นเผด็จการสูง จะเกิดนวัตกรรมทางสังคมได้ยากกว่าประเทศที่มีเปิดกว้างด้านเสรีภาพ เพราะประชาชนมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ โดยจะไม่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐ และในประเทศที่มีการรื้อสร้างระบบทางสังคมอยู่เป็นระยะๆ จะทำให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมได้ง่ายขึ้น

“เราอาจจะไม่ต้องพูดถึงญี่ปุ่นก็ได้ เราลองมาเทียบกับประเทศที่ขนาดมันเล็กลง แล้วก็มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ไต้หวันผ่านการรื้อทางสังคมอย่างต่อเนื่อง แทบจะทุกๆ 50 ปี เพราะฉะนั้น ระบบที่มันถูกรื้อเรื่อยๆ นำมาซึ่งความใหม่และเปิด สังคมที่เปิดมากขึ้น”

ขณะที่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย จะพบว่าการรื้อสร้างระบบสังคมนั้นมีน้อยมากหรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย และโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิมยังคงหยั่งรากฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมากระทั่งปัจจุบัน เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมทางสังคม

“การที่ระบบเก่ามันยังไม่ถูกรื้อ สิ่งที่ยังฝังรากอยู่ คือระบบอาวุโส ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจผ่านระบบอาวุโสและระบบความเกรงใจ ระบบของลูกพี่ลูกน้อง หรือที่เราเรียกว่า ระบบอุปถัมภ์ คุณจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งมันถ่วงรั้งนวัตกรรมไปแทบจะทุกที่”

นอกจาก การมีโครงสร้างทางสังคมที่เปิดกว้างและการรื้อสร้างทางสังคมแล้ว ยุกติมองว่า การมีพื้นที่เปิดในทางกายภาพจำนวนมาก หรือการมีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนสามารถพบปะรวมตัวกันได้ง่าย เป็นอีกพื้นฐานหนึ่งของการนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ

“พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มีมากน้อยแค่ไหน แล้วที่ใหญ่ๆ อยู่ในมือใคร ถ้าคุณเปิดกูเกิ้ลแมพในไทเป แล้วพิมพ์คำว่า park ในระยะที่ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร คุณจะเจอสวนสาธารณะเล็กๆ การสร้างพื้นที่สาธารณะนี้ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้เกิดกิจกรรมทางสังคม แล้วมันจะนำไปสู่อะไร ก็เรื่องของคนว่าเขาจะพาสังคมไปทางไหน แต่คุณต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมก่อน”

 

นวัตกรรมทางสังคมในประวัติศาสตร์ไทย

แม้ ‘นวัตกรรมทางสังคม’ จะเป็นศัพท์ใหม่ แต่หากย้อนดูในประวัติศาสตร์รอบร้อยปีเศษที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีการสร้างนวัตกรรมทางสังคมเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ยุกติยกตัวอย่าง ช่วงเวลาที่มีผู้อพยพจากจีนเข้ามาอยู่ในสยามจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 3 - 5 คนจีนโพ้นทะเลยุคนั้นถูกจัดว่าเป็นคนกลุ่มใหม่ในสังคมสยาม และเป็นคนนอกกฎหมาย เพราะไม่ได้สังกัดระบบไพร่ทาสที่ต้องถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน

ยุกติอธิบายว่า ชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในสยามเวลานั้น ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ดังนั้น จึงต้องคิดค้นนวัตกรรมทางสังคมที่จะช่วยให้มีอำนาจต่อรองหรือเพื่อดูแลคุ้มครองกันเอง ด้วยการตั้งสมาคมที่เรียกว่า 'อั้งยี่' ซึ่งเป็นการประยุกต์เครื่องไม้เครื่องมือทางสังคมแบบเดิมที่มีอยู่ในประเทศจีนมาใช้ แต่ต่อมารัฐไทยได้ออกกฎหมายเอาผิดสมาคมเหล่านี้

'กลุ่มฌาปนกิจศพ' ตามหมู่บ้านหรือชุมชนจังหวัดต่างๆ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมทางสังคมในสังคมไทยที่ยุกติหยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่าง การตั้งกลุ่มฌาปนกิจศพประจำชุมชน เป็นรูปแบบในการแบ่งเบาภาระทางการเงินในการจัดงานศพของสมาชิกในกลุ่ม เมื่อมีสมาชิกคนใดเสียชีวิตจะมีการเรี่ยไรเงินคนละเล็กละน้อยจากสมาชิกคนอื่นๆ นำไปมอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อใช้ในการทำพิธีศพ เพื่อลดภาระในการกู้ยืมเงินคราวละมากๆ มาใช้จัดงานศพ

 

ปัจจัยขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมยุคใหม่

ยุกติมองว่า ปัจจุบันเราพบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายอย่าง พลังของคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนสังคมในประเด็นที่ก้าวหน้ายิ่งกว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในยุคตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 โดยประเด็นที่เห็นได้ชัดมาก คือ เรื่อง gender หรือความเสมอภาคทางเพศ

“ผมว่านี่เป็นพลังใหม่ๆ ที่เดิมก็มีอยู่แล้ว แต่ปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วแสดงตัวอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ผมคิดว่ามันก็จะกดดันหรือผลักดันให้มันเกิดทิศทาง เป้าหมายทางสังคม ที่พูดถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นพื้นฐานของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยพูดกันว่า แล้วจะทำยังไง จะทำอะไรต่อไป หรือไม่ อย่างน้อยที่สุด เราจะนำไปสู่ตรงนั้นได้ยังไง”

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม การสื่อสารผ่านออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้คนจำนวนมากได้รู้จักกันผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ กระทั่งสามารถนัดหมายมารวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันได้ง่ายและรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ยุกติมองว่า เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้คนในสังคมมีช่องทางและรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ได้หลากหลายและมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้มีโอกาสในการเกิดนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นได้ เช่น การรวมตัวกันผลิตเนื้อหาหรือทำกิจกรรมบางอย่างโดยที่ไม่ได้เคยรู้จักกันมาก่อน

เมื่อมองไปข้างหน้าอันใกล้ ยุกติเห็นว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ร่วมกับสังคมไทยมานาน และจะเป็นพลังใหม่ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมของไทย เขามองว่า แรงงานข้ามชาติอาจเป็นแรงขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ว่าปัจจุบันสังคมไทยจะยังมองไม่เห็นพลังของพวกเขาก็ตาม

“ในสหรัฐอเมริกา พลังของแรงงานข้ามชาติ กลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนในสังคม ในระดับที่เข้ามาในทางการเมืองได้มากขึ้น สังคมไทยยังไม่สร้างความตระหนักตรงนี้เลย รัฐไม่พูดถึง แต่ว่าในที่สุด ในอนาคต คนเหล่านี้จะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงในอนาคตมากขึ้น ผมเชื่อเลย ในประมาณ สิบกว่าปีนี้ อันนี้จะเป็นพลังใหม่จริงๆ”

 

<video>20210916-01.mp4<video>