Skip to main content

เทคโนโลยีดิจิตัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปจากเดิมอย่างมาก นอกจากการสื่อสารที่หลากหลายและรวดเร็วเป็นทบเท่าทวีคูณแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกจนแทบจะพูดได้ว่า เราทำทุกอย่างได้ง่ายด้วยปลายนิ้ว ทั้งยังก่อให้เกิดแนวคิดและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งอาชีพใหม่อย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน

อาชีพโค้ชฝึกสอนพัฒนาทักษะการเล่นเกมออนไลน์ เพื่อการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่งหากย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้า การจะจ่ายเงินให้คนมาสอนเล่นเกมคงเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ปัจจุบันหมายถึงอาชีพชนิดใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้มหาศาล หากสามารถผลิตนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีชื่อเสียงระดับประเทศหรือระดับโลกได้

ธุรกิจให้บริการขายตั๋วออนไลน์ และให้บริการจัดงานอีเวนต์ตลอดทั้งกระบวนการผ่านแฟลตฟอร์มออนไลน์ ก็เป็นอีกรูปแบบของธุรกิจใหม่ในยุคดิจิตัล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการและตัดทอนความยุ่งยากต่างๆ ให้กับผู้ชมและผู้ที่ต้องการจัดคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ ซึ่งปรกติจะมีขั้นตอนรายละเอียดการทำงานซับซ้อนจำนวนมาก

 

'Kochii' สตาร์ทอัพสายเกม มุ่งปั้นคนเก่งเข้าวงการอีสปอร์ตไทย

“Kochii เป็นอีสปอร์ตและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ อคาเดมี จุดเริ่มต้นของเราคือเรามองว่าวงการอีสปอร์ตมี talent ในวงการค่อนข้างน้อย talent ในที่นี้หมายถึงคนที่มีทั้ง passion และก็มีทั้งทักษะที่จำเป็นในการใช้อุตสาหกรรม เราก็เลยอยากจะพัฒนา อยากจะปั้น talent ให้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เยอะๆ”

นี่คือแนวคิดที่ทำให้ 'ธนโชติ เกียรติบรรจง' ตัดสินใจร่วมกันกับเพื่อนก่อตั้งสตาร์ทอัพสายเกม ชื่อว่า 'Kochii' ขึ้น เพื่อหวังผลิตคนเก่งป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอีสปอร์ตไทย เกิดเป็น www.kochii.me แพลตฟอร์มให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่นอีสปอร์ตขึ้นมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว

ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีผู้ให้ความสนใจกับอีสปอร์ตค่อนข้างสูง เป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนาม และจีน จากผลสำรวจของ GMO Research เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ร้อยละ 60.9 ของผู้กลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คนในประเทศไทย เคยรับชมหรือมีส่วนร่วมกับการแข่งขันอีสปอร์ต ในขณะที่ธุรกิจอีสปอร์ตซึ่งได้รับความนิยมจนกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ สามารถทำรายได้ทั่วโลกได้มากกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา

จากประสบการณ์ส่วนตัวเป็นคนเล่นเกม และทำงานอีเวนต์ออแกไนเซอร์ในวงการอีสปอร์ต ทำให้ธนโชติรู้จักนักกีฬาค่อนข้างเยอะ และเกิดแนวคิดอยากเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับนักกีฬา ด้วยการนำทักษะการเล่นของนักกีฬาอีสปอร์ตมาสอนผู้เล่นหน้าใหม่ Kochii จึงมีทั้งส่วนของการพัฒนาทักษะผู้เล่นโดยเรียนรู้จากวิดีโอคอร์ส การเรียนเพื่อพัฒนาทักษะเล่นเกมกับโค้ชทางออนไลน์แบบตัวต่อตัว ไปจนถึงการสอนอื่นๆ ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตใน Esports Business School โดยล่าสุดก็ยังขยับขยายไปสู่ออฟไลน์อคาเดมีอีกด้วย

“สำหรับคนเล่มเกมบางทีเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เราอยากเล่นเกมเก่งขึ้นเราก็จะงม ว่าเราจะใช้วิธีการเล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเก่งขึ้น แต่ว่าพอมันมีคนมาชี้จุดที่เราไม่ทราบว่าเราไม่ทราบอะไร มันทำให้เราพัฒนาการได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น ผมเล่นเกมเกมหนึ่ง ติดอันดับในระดับเริ่มต้นอยู่นานมากเลย 3-4 ปี ก็ไม่สามารถขยับอันดับเพิ่มขึ้นได้ ผมมีน้องคนหนึ่งมาสอน เอ้า พี่ไม่รู้ตรงนี้นี่ ก็ทำให้อันดับมันขยับขึ้นเร็วขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ตรงนี้เราก็เลยมองว่าการมีโค้ชทำให้เราเก่งขึ้น เร็วขึ้นกว่าเดิม

“เราอาจจะมองได้ว่ามันเป็นแนวคิดใหม่ เมื่อก่อนการจะจ่ายเงินให้สักคนมาสอนเล่นเกมคงจะเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ว่าสมมุติถ้าเราคำนวณกันจริงๆ แล้ว บางทีระยะเวลาที่เราเสียไปแลกกับเงินที่จ่ายค่าโค้ชเนี่ยมันอาจจะคุ้มค่ากว่าก็ได้”

ธนโชติบอกว่า วงการอีสปอร์ตไทยเติบโตขึ้นทุกปี และมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเกิดขึ้นพอสมควร เช่น การก่อตั้งสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย การที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น การบรรจุให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาประเภทหนึ่งของไทย หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังจัดตั้งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ตขึ้น ซึ่งล้วนสะท้อนว่าภาพลักษณ์ของอีสปอตร์ตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และเมื่อมองไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในวงการอีสปอร์ตไทยจะเห็นว่ามีอยู่ครบทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการเกม (game publisher) อีเวนต์ออกแกไนเซอร์ที่รับจัดการแข่งขัน ไปจนถึงนักกีฬา โค้ช ผู้ถ่ายทอดการแข่งขัน และคอมเมนเตเตอร์ แต่ปัญหา คือ จำนวนคนที่ทำงานในตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้มีอยู่ไม่มาก ซึ่งธุรกิจของ Kochii ก็หวังจะตอบโจทย์ต่อปัญหานี้ด้วย

 

'Eventpop' สตาร์ทอัพผู้ดูแลการจัดอีเวนต์แบบครบวงจร

ประสบการณ์แย่ๆ จากการยืนต่อแถวยาวเหยียดเป็นชั่วโมงเพื่อรอซื้อบัตรชมคอนเสิร์ต หรือเรื่องปวดหัวของผู้จัดงานอีเวนต์กับการลงทะเบียนเข้างานและเก็บข้อมูลการบริหารจัดการภายในงาน เป็น Pain Point ที่ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อ 'Eventpop' ถือกำเนิดขึ้น

“ถ้าเราย้อนไปประมาณ 2558 หรือ 2557 ถ้าจะไปคอนเสิร์ต เราก็จะต้องไปห้าง ไปต่อแถวซื้อบัตร วันแรกที่เราเปิดก็เริ่มมีการขายออนไลน์แล้ว แต่ว่าจุดที่เราเริ่มทำแตกต่างก็คือ การส่งบัตรแข็งไปให้ที่บ้าน บัตรแข็งก็คือบัตรเข้างาน การทำระบบให้มันรองรับการขายออนไลน์กับอีเวนต์ทุกไซส์ แปลว่ากลุ่มคนที่อยากทำอีเวนต์ หรือว่าอยากขายอีเวนต์ อยากขายระบบลงทะเบียน อยากใช้ระบบลงทะเบียน สามารถที่จะเข้ามาที่เว็บ แล้วก็สมัครบัญชีสร้างอีเวนต์ แล้วก็รับสมัครเปิดลงทะเบียนได้เลย หรือว่าขายบัตรได้เลย”

'คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์' ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Eventpop ซึ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการงานอีเวนต์แบบครบวงจร ตั้งแต่การขายบัตรออนไลน์ การโปรโมท การรับบัตร ลงทะเบียนเข้างาน ไปจนถึงการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกการใช้จ่ายภายในงาน โดยผู้ที่ต้องการจัดงานสามารถเข้าไปยังแพลตฟอร์ม Eventpop กดสร้างอีเวนต์ได้อย่างง่ายๆ ด้วยตัวเอง และสามารถเลือกได้ว่าจะขายบัตรหรือโปรโมทงานเพียงอย่างเดียว

Eventpop เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ประสบการณ์จากการทำงานเป็นผู้ให้บริการ Makerspace ซึ่งมีการจัดเวิร์กช็อปด้วย ทำให้พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการลงทะเบียนขายเวิร์กช็อปมากพอสมควร เขาและทีมจึงลองพัฒนาระบบที่จะมาตอบโจทย์ตัวเอง ณ วันนั้น ถือเป็น Eventpop เวอร์ชั่น 0 จนเริ่มมีคนอื่นที่มีปัญหาคล้ายๆ กันเข้ามาใช้ ก่อนสามารถขยับขยายไปสู่การให้บริการจัดการอีเวนต์ครบวงจรให้กับงานคอนเสิร์ต เทศกาล ไปจนถึงการแข่งขันวิ่งประเภทต่างๆ

“วันแรกเรามุ่งเป้าที่จะทำ solution ที่คนสามารถเข้ามาใช้งานได้เอง โดยที่ไม่ต้องมีคนมาสอนหรือว่าต้องมีคนมาทำให้ แล้วก็สามารถสร้างอีเวนต์แล้วก็ขายได้เลย ซึ่งจุดนี้ก็จะเป็นจุดที่เปิดให้ตลาดมันกว้างขึ้น วันนี้เราจะทำคอร์สสอนทำอาหาร เราสามารถจะสร้างอีเวนต์แล้วก็มาขายได้เลย โปรโมต อันนี้ก็เป็นจุดที่เราทำในช่วงนั้น ก็เป็นนวัตกรรมทางด้านซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มเทคโนโลยี”

หลังจากนั้น จึงมีนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น

“ถ้าเราเคยไปอีเวนต์อะไรสักอันนึง ระบบเข้างานก็จะเป็นกระดาษกับปากกา ใช้จด ใช้เขียน ถ้าย้อนกลับไปยุคนั้น เราก็ทำแอปพลิเคชันสแกน ซึ่งผู้จัดงานสามารถไปดาวน์โหลดได้เลยแล้วก็ใช้ได้เลย ตรงนี้ก็จะเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ทำให้เขาสามารถจัดการการเข้าอีเวนต์ของเขาได้เอง”

ภัทรพรยังบอกว่า จุดเด่นสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Eventpop นอกจากทำให้การซื้อขายบัตร เข้างานอีเวนท์เป็นเรื่องง่ายแล้ว ก็คือการจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล ตั้งแต่พฤติกรรมของผู้ร่วมงาน การใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ผู้จัดงานได้มองเห็นภาพรวมและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจในอนาคต

“ถ้าเป็นกลุ่มเทศกาลก็จะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายในงานอีเวนต์ ส่วนตรงนี้เราเล็งเห็นปัญหาของการใช้เงินสดในงานอีเวนท์ เนื่องจากอีเวนต์มันจะมีหลายฝ่ายหลายคนที่เข้ามาทำงาน เพราะฉะนั้น มันก็จะมีปัญหาเรื่องความไว้ใจ เช่น สต็อกของมีปัญหา เรื่องการนับเงิน เรื่องของการเงิน การสรุปบัญชี คืนหนึ่งในอีเวนต์นึง งานที่มีคนราวๆ 30,000-40,000 คน มียอดเงินหลักสิบล้านที่หมุนเวียนอยู่ในอีเวนต์ ซึ่งปัญหาตรงนี้มันก็จะตามมาด้วยปัญหาอื่นๆ เช่น การเก็บเงิน การเดินเงิน การดูแลเงิน การดูแลสต็อกอะไรพวกนี้”

“เราก็เลยพัฒนาระบบที่เป็นการใช้จ่ายในงานอีเวนต์ที่พ่วงกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ถูกนำมาต่อยอดในเรื่องของการวิเคราะห์จุดต่างๆ ว่าซุ้มนี้ตรงนี้ขายดีขายไม่ดี แล้วก็นำมาสู่การตัดสินใจของผู้จัดงาน แล้วก็การพัฒนา offering ในงานอีเวนท์ต่างๆ เช่น น้ำบางตัวหรืออาหารบางตัวขายไม่ดี พองานอีเวนต์รอบต่อมา เขาก็จะไม่นำบูธพวกนี้มาขาย เขาก็จะเปลี่ยน offering อะไรพวกนี้ไป ซึ่งตรงนี้จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ได้มากขึ้น 20% ให้กับผู้จัดงานในแต่ละปี”

ในช่วงปีเศษที่ผ่านมา Eventpop เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เผชิญผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 มาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่สามารถจัดงานคอนเสิร์ต หรือการประชุม การจัดเทศกาลต่างๆ ได้ ซึ่งซีอีโอ Eventpop เผยว่า ต้องปรับตัว ออกแบบบริการใหม่ๆ ให้อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลง

“ตั้งแต่โควิดมา เราก็เปิดบริการใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของ virtual event แล้วก็มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า POP LIVE ให้บริการด้าน virtual event, live streaming แล้วก็สามารถ engage คนที่เข้ามาร่วม virtual event ได้ นอกจากนั้น ก็มี Eventpop Run เป็นแพลตฟอร์มที่ gamificate การออกกำลังกายของคนในแบบการแข่งขัน สามารถมาวิ่งแข่งกันได้ แล้วก็ส่งคะแนนแข่งกันได้ รวมถึงมีการเชื่อมโยงแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ยกตัวอย่าง Strava, Apple Health เป็นต้น อันนี้ก็เป็นรูปแบบคร่าวๆ ที่เราให้บริการ ก็จะเห็นว่าเราให้บริการหลายๆ vertical ของอีเวนท์”

หลังผ่านประสบการณ์ในแวดวงสตาร์ทอัพมาหลายปีและเจอความเปลี่ยนแปลงหนักๆ เช่นผลกระทบจากโควิด-19 ผู็บริหาร Eventpopมองว่า สตาร์ทอัพไทยนั้นต้องเผชิญความท้าทายสำคัญหลายประการ ทั้งเรื่องของขนาดตลาดในประเทศไทยที่ไม่ได้ใหญ่มากและการหาทุนที่ไม่ง่าย แต่ก็ฝากคำแนะนำถึงคนที่มีไอเดียว่า ไม่มีอะไรดีกว่าลองลงมือทำจริง

“แนะนำว่าพยายามลองก่อน ลองว่ามันเวิร์คไหมหรือถ้ามันไม่เวิร์ค ลองแล้วล้มเหลวก็เรียนรู้ว่า ทำไมมันถึงล้มเหลวแล้วก็ลองใหม่ ผมว่าสุดท้ายแล้วชีวิตธุรกิจหรือว่าชีวิตสตาร์ทอัพ มันก็มีแค่นี้แหละ มันมีแค่หาปัญหา หาคำตอบให้ปัญหานั้น แล้วก็หาคนที่มีปัญหานี้เยอะพอ แล้วก็เอาคำตอบไปส่งให้เขา แล้วก็เติบโต ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นหัวใจหลัก”

 

<video>20210913-01.mp4<video>