Skip to main content

นวัตกรรม' มักถูกเอ่ยถึงเสมอผ่านประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์หรือเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ทว่าในหลายโอกาส 'นวัตกรรม' ยังถูกใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการยกระดับการพัฒนาองค์กรทางธุรกิจหรือสังคม แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐ หรือนโยบายระดับชาติ

ความหมายของนวัตกรรม คืออะไร? คำตอบจากประสบการณ์ของ 3 ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของไทย ที่ถอดบทเรียนการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆ ทั้งในด้านการออมผ่านการลงทุน การสร้างธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน และการนำเทคโนโลยีไฮเทคมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และรูปแบบชีวิตการทำงานใหม่ๆ

 

วิธีการใหม่ นำไปสู่สิ่งใหม่

คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ Chief Executive Officer (CEO) และผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta แพลตฟอร์มวิเคราะห์การเงินและการลงทุน มองว่า โลกที่พัฒนาไปเรื่อยๆ เกิดจากการนำเอาแนวคิดใหม่ๆ มาเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสิ่งเดิมๆ และนั่นคือความหมายของคำว่า นวัตกรรม

“ถ้าสมมุติเราไม่มีแนวคิดใหม่ๆ เลย ธุรกิจก็ทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ปัญหาบางปัญหาของคนที่มีอยู่อาจจะไม่เคยถูกแก้เลย เพราะไม่มีใครมีมุมมองอะไรว่า เฮ้ย มันต้องแก้ยังไง แต่โลกเราเนื่องจากมันพัฒนาขึ้นอยู่ทุกวันใช่ไหมครับ มีทฤษฎีใหม่ๆ มีแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อเอามาแก้ไขเรื่องพวกนี้”

“ผมมองว่าสิ่งเหล่านั้นคือนวัตกรรม บางคนอาจจะมองว่านวัตกรรมว่าเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์นะครับ แต่นวัตกรรม ความหมายลึกๆ มันคือแนวคิดที่มาแก้ปัญหา”

เช่นเดียวกับ คุณลลิล อนันต์บัญชาชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและ Chief Operating Officer (COO) ของ EXZYสตาร์ทอัพยุคแรกๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีโซลูชั่นผ่านประสบการณ์ 10 ปีในการทำธุรกิจ และมีผลิตภัณฑ์ตัวหลักเป็นสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุค เช่น VR Sphere ยานพาหนะท่องโลกเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality หรือระบบจองห้องประชุม Meet in Touch ที่ช่วยลดความซับซ้อนของการบริหารจัดการภายในองค์กร มองว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์เสมอไป

“การที่เราจะสร้างนวัตกรรมขึ้นอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ก็ได้ แต่อาจจะเป็นไอเดีย เป็นแนวคิด หรือแม้กระทั่งกระบวนการ หรือว่าวิธีการทำงานก็ได้ ที่พอเราคิดหรือเราสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วมันตอบโจทย์หรือว่ามันแก้ปัญหา แล้วก็ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น”

สอดคล้องกับ คุณนพพล อนุกูลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทTake Me Tour เจ้าของแพลตฟอร์มที่จะช่วยจับคู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ กับไกด์ท้องถิ่นหรือ Local Expert เพื่อจัดทริปท่องเที่ยวส่วนตัว ทำให้นักท่องเที่ยวได้ประสบการณ์แบบคนท้องถิ่นอย่างแท้จริงทั้งการสัมผัสกับวัฒนธรรม กิจกรรม และวิถีชีวิต

เขามองว่าเทคโนโลยี เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรม แต่หัวใจของนวัตกรรม คือ การท้าทายกรอบความคิดเดิม และการนำเสนอสิ่งใหม่ การให้คุณค่าอย่างใหม่ ที่ดีกว่าเดิมให้กับผู้ใช้งาน โดยนิยามความหมายของนวัตกรรมอย่างเรียบง่ายด้วยคำ 3 คำ

“ผมมี 3 คำที่คิดง่ายๆ คือมี First คือทำเป็นคนแรก มี Best คือไม่ใช่คนแรกก็คือทำให้ดีที่สุด ทำให้ดีกว่าอะไรอย่างนี้ อันที่สามก็คือ Different คือเขามีกันหมดแล้วเราก็ทำให้ต่างกันออกไป ผมว่าแค่นี้มันเป็นนวัตกรรมที่มันเกิดขึ้นได้แล้ว แล้วถามว่านวัตกรรมมันจะก้าวหน้ามากขึ้น มันก็เริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างนี้อ่ะครับ แล้วก็ทำให้มันต่างขึ้นไปเรื่อยๆ ทำขึ้นมาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

 

นวัตกรรม จำเป็นแค่ไหนสำหรับภาคธุรกิจ

จากประสบการณ์การบริหาร EXZYร่วม 10 ปี คุณลลิล มองว่านวัตกรรมมีความสำคัญอย่างมาก ไม่เฉพาะกับผู้ประกอบการทางด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อองคาพยพทุกภาคส่วนในสังคม

“จริงๆ แล้วจำเป็นกับทุกภาคส่วนเลยนะคะ แต่ว่าภาคธุรกิจยิ่งเห็นได้ชัด เพราะว่าเป็นองค์กรที่แสวงหากำไร ต้องแข่งขันเพื่อให้อยู่ในอุตสาหกรรมให้ได้ ดังนั้น นวัตกรรมสำคัญมาก”

ขณะที่ คุณตราวุทธิ์ มองว่า ระบบทุนนิยมเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรม โดยธรรมชาติของผู้ประกอบการ คือ การมองหาสิ่งที่เป็นปัญหาและหาวิธีแก้ไข ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงมักจะค้นหาและนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาผนวกกับธุรกิจเดิม ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาให้กับผู้คนเป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

มุมมองดังกล่าว เป็นโจทย์ตั้งต้นของ Jitta ที่มองเห็นปัญหาที่ว่า คนจำนวนมากไม่รู้ว่าจะลงทุนอย่างไร ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรราวเกือบ 70 ล้านคน แต่มีคนที่มีการลงทุนจริงๆ เพียง 10% โดยคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงความรู้ทางด้านการลงทุน นวัตกรรมของ Jitta จึงเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์แก้ปัญหานี้

“เราเลยทำตั้งแต่เว็บไซต์อย่าง passiveway.com ให้ความรู้เรื่องการลงทุน library.jitta.com ให้ความรู้ด้านการลงทุนเน้นคุณค่า มีตัวเว็บไซต์ Jitta ขึ้นมาเพื่อให้งบการเงินเขาไปดู ให้ข้อมูลต่างๆ มีตัว Jitta Wealth ที่มีให้เลือกการลงทุนอะไรหลายแบบมาก คนอยากจะลงทุนกระจายเงินลงทุนมีทรัพย์สินทั่วโลกก็ได้ อยากจะลงทุนในพวกเมกะเทรนด์ ในธีมเทคโนโลยี ธีมดีๆ ต่างๆ ของโลกก็ได้นะครับ หรือลงทุนตาม Jitta Ranking ที่เราใช้ตัว AI ของเราในการเลือกหุ้นดีราคาถูก เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้ทุกคนสามารถศึกษาให้เข้าใจ แล้วก็ปล่อยให้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีของ Jitta ทำได้เลย”

 

นวัตกรรม จากมุมมองภาครัฐ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่มีภารกิจส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม อธิบายความหมายของ 'นวัตกรรม' ไว้สั้นๆ ว่า หัวใจของนวัตกรรม คือ การเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงตามไปวิวัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนั้น นวัตกรรม ยังหมายถึงความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น

 

ปัจจัยส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากประสบการณ์สตาร์ทอัพไทย

จากประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพทั้ง 3 แห่ง ล้วนมองไปในสอดคล้องกันว่าการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในโลกปัจจุบันที่มีทั้งการแข่งขันสูง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว ทำให้การเสนอทางเลือกหรือทางแก้ปัญหาที่แตกต่างหรือช่วยแก้ปัญหาเดิมให้ดียิ่งขึ้นเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองมาที่ปัจจัยในสังคมไทยว่ามีอะไรบ้างที่เอื้อหรือไม่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมก็มีมุมมองที่น่าสนใจ

โดยคุณลลิล มองว่านอกจากข้อจำกัดเรื่องทุนและบุคลากรที่เป็นข้อจำกัดพื้นฐาน แต่ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว Mindset หรือ วิธีคิดของผู้ประกอบการก็เป็นส่วนสำคัญ

“คือถ้าเราอยากจะเป็นผู้ประกอบการ อีกเรื่องหนึ่งมันไม่ใช่แค่มีทุนและบุคลากรอย่างเดียว แต่ว่า Mindset ของคุณ หรือคุณก็ต้องมีความอยากที่จะทำธุรกิจ บริการหรือสินค้าให้มันมีนวัตกรรมด้วย คือจิตใจคุณต้องมุ่งไปทางนั้นด้วยต่อให้มีทุนหรือมีทรัพยากรแต่เราไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่เราต้องสนใจ เราก็อาจจะทำธุรกิจอย่างอื่นก็ได้ที่กำไรเหมือนกัน แต่ว่าก็ไม่จำเป็นที่เราต้องมาคิดว่ามันต้องดีกว่าเก่า หรือว่าแตกต่างจากเดิม หรือว่าสร้างสรรค์กว่าเดิม ดังนั้นส่วนตัวคิดว่า Mindset ของผู้ประกอบการก็มีผลสำคัญเหมือนกัน”

ขณะที่คุณนพพลมองว่า ปัจจัยเรื่องขนาดของตลาดที่ไม่ใหญ่พอและกำลังซื้อในไทยที่ไม่ได้สูงมาก เป็นอุปสรรคหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรม ทำให้การผลักดันให้นวัตกรรมของสตาร์ทอัพในประเทศพบข้อจำกัดและเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานของคนไทยยังไม่สูงพอที่จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อทดลองใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ

 

การยอมรับความล้มเหลว เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรม

นอกจากปัจจัยด้านค่าแรงแล้ว คุณนพพล มองว่าในมิติของวัฒนธรรมที่สังคมมักคาดหวังความสำเร็จอยู่เสมอ โดยไม่โอบรับความล้มเหลว ก็เป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรม

“สภาพสังคมที่เราถูกคาดหวังว่าต้องสำเร็จเสมอ ไม่ได้โอบรับความล้มเหลว คนที่ล้มเหลวคือคนที่ผิดพลาด คนที่แย่ สังคมเราเลี้ยงดูแบบนั้น ซึ่งมันทำให้การทำนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้ยาก”

“การทำสตาร์ทอัพเองเกิดขึ้นมาพร้อมกับความล้มเหลวอยู่แล้ว คือ สิ่งใหม่มันมีโอกาสล้มเหลวมันสูงเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้คือสัจธรรม แต่เมื่อไรที่สังคมไม่ได้ให้ค่ากับความล้มเหลวนั้นว่า คือประสบการณ์ ก็ทำให้คนไม่กล้า”

“พอเป็นภาพแบบนี้ ทำให้คนเก่งไม่ได้ก้าวเข้ามาในพื้นที่ที่จะมาสร้างสิ่งใหม่ คนเก่งก็จะเข้ามาพื้นที่นี้น้อยไป มันเลยเป็นข้อจำกัดสำคัญอันหนึ่งเลยในแง่ของสังคม เราบอกว่าทำแบบนี้ไม่เวิร์กเราจะไม่ทำ หรือบางทีเราทำอันนี้ไม่เวิร์ก เราไปร่วมกับทีมใหม่เราก็มีประสบการณ์เดิม เพราะว่าสิ่งนี้มันคือสิ่งที่จะช่วยให้นวัตกรรมมันเดินหน้าไปเสมอ” คุณนพพล กล่าว

ในตอนท้าย ขอนำคำพูดของคุณตราวุธิ์ที่กล่าวว่า โลกมีการพัฒนา เดินหน้า เปลี่ยนแปลง โจทย์ความต้องการของคนในสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ ถ้าวันนี้เราสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ แต่ในอนาคตหากมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ๆ มาตอบโจทย์

 

<video>20210906-01.mp4<video>