เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอเมริกันไปทุ่มกับการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในหลายประเทศ โดยกรณีของอัฟกานิสถาน มีรายงานว่ารัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 ราย ใช้งบรวมกว่า 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.49 ล้านล้านบาท) เพื่อหนุนกองทัพและตำรวจอัฟกานิสถาน จากงบทั้งหมดราว 145,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.35 ล้านล้านบาท) ที่ใช้ไปกับการฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานจากสงครามต่อต้านก่อการร้าย
เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนสหรัฐฯ ทยอยถอนกำลังกลับประเทศภายในกำหนดเส้นตายเดือน ก.ย.2564 ส่งผลให้กองกำลังติดอาวุธตอลิบานและกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานมานาน เพิ่มกำลังการต่อสู้เพื่อยึดเมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ในการควบคุมของกองทัพรัฐบาล โดยหลายเมืองมีการต่อสู้ปะทะเพื่อป้องกันฐานที่มั่น แต่อีกหลายเมือง รวมถึง 'กรุงคาบูล' ซึ่งเป็นเมืองหลวง ไม่มีการต่อสู้ใดๆ เกิดขึ้น เพราะกองทัพอัฟกานิสถานเลือกที่จะวางอาวุธและปล่อยให้ตอลิบานเข้ามาในพื้นที่
เหตุผลที่กองทัพอัฟกานิสถานไม่สู้รบเพื่อป้องกันพื้นที่นั้น รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอัฟกานิสถานยืนยันว่า เป็นไปเพื่อ "เปลี่ยนผ่านอำนาจโดยสงบเรียบร้อย" เช่นเดียวกับคำกล่าวของ 'อัชราฟ กานี' ประธานาธิบดี ซึ่งหนีออกนอกประเทศตั้งแต่กลุ่มตอลิบานเริ่มยึดกรุงคาบูล ยืนยันว่าที่ต้องหนีภัยก็เพราะ "ไม่อยากให้เกิดการนองเลือด"
ท่ามกลางภาพข่าวที่ระบุว่า ประชาชนอัฟกันซึ่งไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของตอลิบานพยายามเกาะเครื่องบินต่างชาติเพื่อหนีออกนอกประเทศ ตกลงมาเสียชีวิต ก็มีการแถลงข่าวจากผู้นำตอลิบานว่า "จะไม่มีการล้างแค้น" ผู้ที่เคยอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งก็แสดงความกังวลต่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงและกลุ่มผู้หลากหลายทางด้านศาสนา-วัฒนธรรมในอัฟกานิสถานซึ่งอาจถูกกลุ่มเคร่งศาสนาในตอลิบานและแนวร่วมอื่นๆ พุ่งเป้าโจมตีหลังจากนี้
สหรัฐฯ ประเมินพลาด ส่งสัญญาณกองทัพอัฟกัน 'ถูกทิ้ง' จากพันธมิตร
แดเนียล แอล เดวิส อดีตทหารระดับสูงชาวอเมริกันที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันก่อการร้าย เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ The Guardian เพื่ออธิบายว่าเพราะเหตุใดกองทัพอัฟกานิสถานจึงยอมแพ้ตอลิบานอย่างรวดเร็ว แม้ทหารส่วนใหญ่จะผ่านการฝึกฝนร่วมกับกองทัพตะวันตกมานานสองทศวรรษ ทั้งยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่ากลุ่มตอลิบาน โดยเดวิสระบุว่าทหารอัฟกันมีจำนวนกว่า 300,000 นาย ขณะที่นักรบของตอลิบานมีจำนวนประมาณ 75,000 ราย ทั้งยังไม่มีอากาศยานหรืออาวุธที่ดีไปกว่ากองทัพอัฟกัน
บทความเดวิสระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินศักยภาพของกองทัพอัฟกันสูงเกินไป และคาดหวังว่ากองทัพจะต่อสู้กับตอลิบานได้เมื่อทหารอเมริกันและกองทัพพันธมิตรนาโตถอนกำลัง แต่ในความเป็นจริง ความสำเร็จของกองทัพอัฟกันช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากความสนับสนุนของกองทัพต่างชาติเกือบทั้งหมด และรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับตอลิบานเป็นอันดับหนึ่ง แต่พุุุ่งเป้าไปที่การตัดกำลังกลุ่มอัลกออิดะห์ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในวันที่ 11 ก.ย.2544
ขณะที่ 'จอห์น เคอร์บี' หัวหน้าโฆษกของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า "เงินซื้อเจตจำนงไม่ได้" ซึ่งหมายถึงสภาพจิตใจโดยรวมของกองทัพอัฟกานิสถานที่ไม่ได้มีความมุ่งมั่นว่าจะต้องต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐบาล และระบุด้วยว่า "ความเป็นผู้นำก็ซื้อไม่ได้" หลังจากประธานาธิบดีอัชราฟหนีภัย และเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างก็เปิดทางให้ตอลิบานเข้ามายึดทำเนียบประธานาธิบดีแต่โดยดี
สำนักข่าว AP รายงานอ้างอิง 'ดั๊ก ลูต' อดีตนายพลผู้ดำรงตำแหน่งด้านวางแผนยุทธศาสตร์ในอัฟกานิสถานสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัก โอบามา ระบุว่า กองทัพอัฟกานิสถานไม่มีความเป็นเอกภาพ จึงขาดขวัญกำลังใจและไม่มีระเบียบวินัย และการที่สหรัฐฯ พร้อมด้วยประเทศพันธมิตรประกาศว่าจะถอนกำลัง เปรียบได้กับการส่งสัญญาณว่ากองทัพอัฟกานิสถานกำลังจะถูกทิ้งให้รับภาระต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ เพียงลำพัง
แจกแจง 'จุดอ่อน' กองทัพอัฟกัน พร้อมย้ำ ทหารไม่ยอมตายเพื่อรัฐบาล
ด้าน 'คริส เมสัน' นักวิชาการของสถาบันนโยบายศึกษาของวิทยาลัยการทหารในสหรัฐฯ เคยเขียนบทความไว้ตั้งแต่ปี 2558 ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังซ้ำรอยเดิมจากการทำสงครามในเวียดนามและอิรัก โดยประเมินว่าหากถอนทหารพ้นจากอัฟกานิสถานเมื่อไหร่ จะทำให้กลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเข้ายึดครองประเทศได้โดยเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยอมรับว่าการถอนทัพเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อาจสูญเสียงบประมาณไปกับการทหารในต่างแดนไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว แต่การเสริมสร้างศักยภาพกองทัพอัฟกันไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะมีจุดอ่อนหลายข้อ
เมสันระบุว่า กองทัพอัฟกานิสถานไม่มีความเป็นเอกภาพ และมีปัญหาเรื่องการทุจริต โดยระบุว่าเงินสนับสนุนกองทัพที่ได้จากรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกนำไปเป็นเงินเดือนของทหารระดับสูง แต่มีการสร้างรายชื่อ 'ทหารผี' ซึ่งไม่มีอยู่จริงขึ้นมาเพื่อรับเงินเดือน ทั้งยังมีการยักยอกงบประมาณด้านเชื้อเพลิงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ และการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยตั้งคำถามว่า ทหารอัฟกันจะยอมสู้ตายเพื่อปกป้องรัฐบาลของตนเองหรือไม่ ทำให้การประเมินสถานการณ์ในอัฟกานิสถานไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยืนยันว่า ทหารอัฟกันที่ต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อป้องกันการยึดครองประเทศของกลุ่มตอลิบานมีจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยคอมมานโดที่ปฏิบัติการรบเฉพาะกิจ และเสียชีวิตในการต่อสู้เป็นจำนวนมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่ง The New York Times และบทความใน Council on Foreign Relations รายงานว่าทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงชาวอัฟกันกว่า 60,000 นายเสียชีวิตในหน้าที่ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และทหารเหล่านี้ไม่อาจแบกรับภารกิจของทั้งกองทัพเอาไว้ได้ ทำให้กองทัพมีสภาพง่อนแง่นพร้อมพังทลายได้ทุกเมื่อ
ตอลิบานได้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพกองทัพอัฟกัน
รายงานข่าวของ AP ระบุว่า อาวุธยุทโธปกรณ์รวมถึงทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจากตะวันตก จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่กองกำลังตอลิบานที่เข้ายึดครองประเทศได้สำเร็จ เพราะจะยกระดับความสามารถในการต่อสู้ของกลุ่มได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอากาศยานและคลังอาวุธต่างๆ
ส่วน Aljazeera อธิบายว่ากองกำลังตอลิบานมีความเชี่ยวชาญด้านการสู้รบมานานแล้ว เนื่องจากผันตัวจากกลุ่มนักรบมูจาฮิดดีนที่ประกาศต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ปลดปล่อยประเทศในยุครัฐบาลคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถาน และต่อสู้ในสงครามกลางเมืองในทศวรรษ 1980-1990 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อล้มล้างอดีตรัฐบาลอัฟกันที่สหภาพโซเวียตหนุนหลัง แต่กลุ่มตอลิบานได้เติบโตจนเป็นแกนนำกลุ่มมูจาฮิดดิน และสามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์รวมถึงแขวนคออดีตประธานาธิบดีกลางกรุงคาบูลได้สำเร็จเมื่อปี 2539 จึงได้จัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศเป็นทางการ และประกาศให้อัฟกานิสถานเป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยมี 3 ประเทศที่ให้การรับรอง คือ ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
ตอลิบานปกครองประเทศอยู่นานราว 6 ปี รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ประกาศบุกอัฟกานิสถานเพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยาฯ 2544 เนื่องจากรัฐบาลตอลิบานปฏิเสธที่จะส่งตัว 'โอซามา บินลาดิน' ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ให้แก่สหรัฐฯ และช่วงที่ตอลิบานปกครองประเทศก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่าใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามผู้เห็นต่างและละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากถูกสังหาร ลี้ภัย และพลัดถิ่นที่อยู่