Skip to main content

เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม จัดโดย สสส. ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เรื่อง “ลดเตียงเจ็บอุบัติเหตุ... เพิ่มเตียงรักษาโควิด19” ‘นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติ แต่ละปีจะมีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน ประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 4 แสนคน เท่ากับครองเตียงในโรงพยาบาล ประมาณ 30% ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 ราย 

แต่วันนี้ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด19 ที่ยังคงหนักหนาสาหัส ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 2564 ระบุว่า ทั่วประเทศมีคนเป็นโควิด 106,951 คน ขณะที่เตียงในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีอยู่ 150,000 เตียง มีผู้ป่วยโควิดนอนรักษาอยู่ 60,838 เตียง และอีก 46,113 นอนรักษาในเตียงโรงพยาบาลสนาม ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าเตียงเกือบครึ่งในโรงพยาบาล ถูกใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด ดังนั้น ตอนนี้หากป่วยเป็นโรคอื่น แทบจะไม่มีเตียงรักษา

"โควิดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน นับเป็นสาธารณภัยระดับโลกและระดับชาติ ที่มีวิกฤตซ้อนวิกฤต วันนี้นายกฯ หรือรองนายกฯ ต้องเป็นผู้สั่งการและติดตามอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอวันทำงาน เพราะเราเหมือนอยู่ในสงคราม ส่วนประชาชนอย่างเรา ต้องช่วยกันระมัดระวังรักษาตัวเองให้ดี โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ขอให้ปรับพฤติกรรมและเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน” นพ.วิทยา กล่าว

ด้าน สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ตัวเลขอุบัติเหตุทางถนน 2563 จาก ข้อมูล 3 ฐาน ภาพรวมผู้เสียชีวิตลดลง 10% จากปีปกติ  แต่ไม่แน่ใจว่าเกิดจากคนเดินทางน้อยลง 20-30% หรือความเข้มข้นของมาตรการป้องกัน ซึ่งจากสถิติจะเห็นว่าการเดินทางที่ลดลง ในบางกรณีกลับเกิดความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเมื่อถนนโล่งคนเลยใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น แม้ว่าปรากฏการณ์นี้ในไทยยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม แต่ข้อมูลจาก WHO มีการระบุชัดว่า ภาพรวมการเดินทางลดลง แต่ความสาหัสหรือรุนแรงจากอุบัติกลับสูงขึ้น ในต่างประเทศมีข้อสรุปจากผลการศึกษา เช่นที่สหรัฐอเมริกา พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ส่วนในออสเตรเลีย เปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำมัน พบว่า แม้ยอดขายน้ำมันจะลดลง 20% แต่อุบัติเหตุลดลงเพียงแค่ 10% เท่านั้น

สุเมธ บอกว่า แม้โควิด19 กับอุบัติเหตุทางถนน จะมีส่วนคล้ายกันพอสมควร ในแง่ของการที่คนเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โควิดทำให้ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และยังถูกจำกัดการเดินทางด้วย เช่นเดียวกับการลดอุบัติเหตุทางถนน หากผู้ขับขี่ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะช่วยลดการบาดเจ็บและความสูญเสียลงได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากนโยบาย และการสื่อสารที่ดีของภาครัฐ การสื่อสารที่เหมาะสมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ทีดี เช่น การรณรงค์ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย 

แต่ในเรื่องอุบัติเหตุมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง หลากหลายมากกว่าโควิด ทั้งการไม่สวมหมวกกันน็อค ขับเร็ว รถและถนนไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ ยากกว่าโควิดหลายสิบเท่า นับเป็นโจทย์ยากที่รัฐต้องดำเนินการ จากผลวิจัยในต่างประเทศ ที่ชี้ว่าการลดการเดินทาง กลับไม่ได้ส่งผลดีต่อความปลอดภัยทางถนนมากนัก เพราะผู้ขับขี่มีความประมาทและใช้ความเร็วมากขึ้น เชื่อว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ประเด็นสำคัญนี้จะนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่น่าสนใจ เพราะในเรื่อง Road Safety ไม่มีวัคซีน เป็นเรื่องของพฤติกรรมคนเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องหาต่อว่า วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันและลดอุบัติเหตุ คืออะไร