Skip to main content

อีจุนซอก ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม PPP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ Bloomberg สื่อตะวันตก เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมประกาศนโยบายของพรรคก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้า (พ.ศ.2565) โดยระบุว่า พรรคพีพีพีและผู้สนับสนุนพรรค ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล อายุ 20 ต้นๆ จะต่อต้าน "ความโหดร้ายของจีน" โดยเฉพาะกรณีเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

บลูมเบิร์กเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของอีจุนซอกซึ่งระบุว่า "เราจะต่อสู้กับศัตรูของประชาธิปไตย" โดยเขาย้ำว่าการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงเปรียบได้กับการต่อสู้ของประชาชนเกาหลีใต้ในยุคทศวรรษ 1980 ที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมการประท้วงของชาวฮ่องกงเมื่อปี 2562 

อีจุนซอกยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาลพรรคเสรีนิยมเกาหลีใต้ โดยการนำของประธานาธิบดีมุนแจอินว่ามีนโยบายที่ "พึ่งพาจีน" มากเกินไป โดยอ้างอิงถึงกรณีที่เกาหลีใต้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ร่วมของ 20 ประเทศพันธมิตรสหรัฐอเมริกาที่ประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงฮ่องกง

ผ่อนท่าทีหลังพบทูตจีน

อย่างไรก็ตาม อีจุนซอกได้พบกับ 'ชิงไห่หมิง' เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงโซลของเกาหลีใต้ เมื่อ 12 ก.ค. หลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก โดยตัวแทนทางการจีนระบุว่าเป็นการเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีกับอีจุนซอกที่ได้รับเลือกเป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดของพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และอีจุนซอกได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับเว็บไซต์ Korea Joong Ang Daily สื่อของเกาหลีใต้ โดยเป็นการปรับท่าทีจากเดิม เนื่องจากเขาระบุว่าตนเองไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้คำว่า "ความโหดร้ายของจีน" (Chinese cruelty) และยอมรับว่าเป็นการใช้คำที่ไม่เหมาะสม

เขาย้ำด้วยว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการสังหารหมู่ผูู้ประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองควังจู (กวางจู) ของเกาหลีใต้ในเดือน พ.ค.1980 (ค.ศ.2523) สามารถใช้คำว่า "ความโหดร้าย" ในการอธิบายสถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่การประท้วงฮ่องกงที่เขาได้ไปสังเกตการณ์ด้วยตัวเอง เป็นการใช้กำลังอย่างโหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชาชนที่เป็นผู้ชุมนุม และการไม่ใช้คำอธิบายดังกล่าวจะเป็นผลดีกับชาวฮ่องกงมากกว่า พร้อมระบุว่า เขาไม่คิดจะฉวยโอกาสหาประโยชน์ทางการเมืองจากความขัดแย้งระหว่างฮ่องกงกับจีน

อีจุนซอกอธิบายว่าเขาได้แสดงความเห็นต่อเอกอัคราชทูตจีนประจำเกาหลีใต้ โดยระบุว่า จีนได้พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1990 เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาเช่นกัน จึงคาดหวังว่าจีนและเกาหลีใต้จะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน และจีนจะมีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติโดยเคารพในหลักการสากล

หนุนประชาธิปไตย แต่ไม่เอากลุ่มเฟมินิสต์ 

ขณะที่ The Global Times สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ รายงานอ้างอิงความคิดเห็นของผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ซึ่งโจมตีอีจุนซอกว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในแวดวงการเมืองที่โด่งดังในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และต้องการที่จะแตกต่างจากสมาชิกรุ่นเก่าในพรรค ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคคนใหม่เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 43.8% จากการลงคะแนนของสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนพรรค และหลังจากอีจุนซอกให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก ทางพรรคพีพีพีก็ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าความเห็นของอีจุนซอก ไม่ได้เป็นการต่อต้านรัฐบาลจีน

ส่วนบลูมเบิร์กรายงานก่อนหน้านี้ว่า จุดยืนที่สำคัญของอีจุนซอกคือการประกาศสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายความเท่าเทียมทางเพศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยวิจารณ์ว่าประธานาธิบดีมุนแจอินพยายามกล่อมให้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้เชื่อว่าโควต้าทางการเมืองสำหรับผู้หญิงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งที่ปัจจุบันผู้หญิงไม่ได้ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษาหรืออาชีพการงานเหมือนในยุคก่อนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ 

เขายังเคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่ากลุ่ม Womad ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งและ 'เป็นพิษ' ไม่ต่างจากกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้อีจุนซอกได้รับความนิยมจากผู้ชายเกาหลีใต้วัย 20-30 ต้นๆ เป็นจำนวนไม่น้อย

จุดอ่อน: เคยเกี่ยวข้องกับอดีต ปธน.ที่ถูกดำเนินคดี

อีจุนซอกเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ถูกจับตามองในฐานะที่เป็นผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งน่าจะมีมุมมองใหม่ด้านนโยบายต่างประเทศ แต่เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกรณีที่เคยเป็นสมาชิกพรรคแซนูรีของอดีตประธานาธิบดีปักกึนเฮ ซึ่งถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่และถอดถอนจากตำแหน่ง จนกระทั่งถูกตัดสินความผิดในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ-เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง 

นอกจากนี้ อีจุนซอกยังไม่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในเกาหลีใต้ปีหน้าได้ เพราะยังอายุไม่ถึง 40 ปี ซึ่งเป็นอายุขั้นต่ำของผู้ที่มีคุณสมบัติจะลงสมัครชิงตำแหน่งดังกล่าว แต่อีจุนซอกระบุว่า ต่อให้ถึงการเลือกตั้งในปี 2570 ซึ่งเขาจะอายุครบ 40 ปี ก็จะยังไม่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะเห็นว่าผู้จะดำรงตำแหน่งได้ควรมีประสบการณ์การทำงานมากกว่านี้