Skip to main content

รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศ กล่าวในเวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม เรื่อง 'เร็วมากเท่ากับตายไว เพราะอะไรมาฟังกัน' ว่า ความเร็วเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะความเร็วจะทำให้ระยะหยุดยาวขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะชนยิ่งสูงมากขึ้น และที่สำคัญเมื่อขับรถเร็วความสามารถในการมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบข้างจะแคบลง เมื่อมองไม่เห็นหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินกระทันหัน หรือมีสิ่งตัดหน้าระยะการมองจำกัด ดังนั้นการขับมาเร็วจะมองไม่เห็น หยุดไม่ทัน โอกาสชนมากกว่า 

ผู้จัดการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า ในการขับรถยนต์ความเร็วของแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าขับด้วยความเร็วเท่าไหร่ จึงถือว่าเร็ว แต่มีการทดลองเปรียบเทียบให้เห็นว่า หากขับรถที่ความเร็ว 60กม./ชม. แรงชนเท่ากับรถตกตึกที่ความสูง 14 เมตร หรือ ตึก 5 ชั้น ดังนั้นหากขับรถด้วยความเร็วเกิน 80-100 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% นอกจากนี้ยังมีข้อมูลวิจัยเชิงหลักฐานอีกเรื่องคือ รถจักรยานยนต์ หากขับเกิน 80 กม./ชั่วโมง โอกาสการเสียชีวิต ประมาณ 42% ส่วนความเร็วที่ 100 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิต 80% 

รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า องค์ประกอบด้านอื่น เช่น ฝนตก มีส่วนที่ทำให้ ความเร็วยิ่งสูง ค่าความเสียดทานยิ่งต่ำ รถลื่นเสียหลักได้ง่ายกว่า เพราะรถเกาะถนนน้อย ที่สำคัญหากเกิดภาวะ 'รถเหินน้ำ'  (Hydroplaneing) เมื่อขับรถที่มีน้ำขังบนผิวถนน ดอกยางรถยนต์จะมีหน้าที่รีดน้ำออกไปด้านข้าง ตัวล้อไม่เหินถนน แต่เมื่อถ้าใช้เร็วสูงมากยางรถยนต์จะรีดน้ำไม่ทัน เกิดขึ้นเมื่อไหร่รถจะเสียหลักทันที แต่อุบัติเหตุจะไม่รุนแรงหากไม่ชนกับสิ่งที่ตั้งอยู่ข้างทาง หรือ รถที่วิ่งตามมาแล้วเบรกไม่ทัน

"หลังฝนหยุดตกใหม่ๆ การขับรถจะอันตรายมากกว่าฝนตก เพราะช่วงฝนตกโดยพฤติกรรมจะขับชะลอเนื่องจากมองไม่เห็นเส้นทาง แต่เมื่อฝนหยุดกลายเป็นว่าคนขับเร่งความเร็ว ทำให้ความเสียดทานน้อยลง รถไม่เกาะถนน มีโอกาสรถเหิน ถ้าไม่ชำนาญรถจะหมุนเสียหลักได้ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ต้องมีสติ ประคองพวงมาลัยรถ อย่าเหยียบเบรก ค่อยๆ ผ่อนเท้าจากคันเร่ง และที่สำคัญหากใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ มีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะสมาธิในการขับรถจะลดลงไป เพราะทั้งสายตาและการสื่อสารถูกดึงไป" รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 

รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ในรถบางยี่ห้อติดตั้งกล่องดำ มีหน้าที่บันทึกพฤติกรรมการขับขี่ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุจนแอร์แบ็กทำงาน กล่องดำจะหยุดทำงาน ด้วย แต่จะมีข้อมูลบันทึกไว้ก่อนหน้าเกิดเหตุ 5 วินาที ซึ่งตัวนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะบ่งชี้ได้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุได้ ส่วนลักษณะรถ ยี่ห้อ รุ่น มีความต่างกัน หากเกิดการชน เพราะแต่ละยี่ห้อ มีความแข็งแรงไม่เท่ากัน

ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัย รศ.ดร.กัณวีร์ มองว่า ป้องกันได้ระดับหนึ่งและขึ้นอยู่กับว่านั่งส่วนไหนของรถ จากเจ็บมาก ช่วยให้เจ็บน้อยได้ เพราะลดแรงเหวี่ยงแรงกระแทก แต่หากขับมาอย่างเร็ว แรงชนอาจไปถึงห้องโดยสารได้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาความเร็วต้องควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจึงสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้