Skip to main content

เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ อ้างอิงถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนในสังกัด สพฐ. ด้วย

โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงตัวผู้เรียนว่าจะเริ่มฝึกการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับปฐมวัย ด้วยการสื่อสารภาษาคำศัพท์ที่เข้าใจง่าย ครูผูู้สอนจะต้องส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนให้มากขึ้น โดยครูต้องสอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลักด้วย

จากการพูดของ เลขาธิการ กพฐ. และการนำเสนอของเว็บไซต์บางเว็บทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่า สิ่งที่ เลขาฯ กพฐ. อยากให้ครูทำคือการสอนหนังสือแบบ "ไทยคำ อังกฤษคำ" จนได้รับเสียงตอบรับแง่ลบจากโลกออนไลน์อยู่พอสมควร

แต่เมื่อได้พูดคุยกับบุคลากรทางการศึกษาอย่าง ธนวรรธ์ สุวรรณปาล หรือครูทิว ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนราชดำริ กรุงเทพมหานคร และแอดมินเพจครูขอสอน ได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายของเลขาฯ กพฐ. อย่างน่าสนใจว่า "ส่วนตัวนั้นโอเคกับนโยบายนี้" แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องนำไปคิดต่อคือ ทำอย่างไรครูถึงจะได้รับการพัฒนาทักษะนี้

อีกทั้งครูทิวยังบอกด้วยว่า ภาษาอังกฤษช่วยให้ตัวเขาสามารถค้นคว้าข้อมูลได้ไกลออกไปจากสิ่งที่ค้นหาได้จากภาษาไทย

ส่วนการสอนสอดแทรกภาษาอังกฤษในวิชาเรียนนั้น ครูทิวบอกว่า ปกติเวลาสอนในห้องเรียนวิชาสังคม ครูจะให้นักเรียนจดศัพท์เฉพาะทางเทคนิคพร้อมคำนิยามอยู่แล้ว และสิ่งที่ต้องทำคือการสร้างบรรยากาศ และวัฒนธรรมในโรงเรียนให้ครูผู้สอนเอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษ โดยครูทิวได้ทิ้งท้ายไว้ว่า "ต้องสร้าง Attitude ใหม่ให้ครู ว่าต้องพร้อมเรียนรู้ด้วย"