Skip to main content

สถิติผู้เข้าร่วมกลุ่มแชร์ข้อมูลย้ายประเทศในเพจเฟซบุ๊กรวมกว่าล้านบัญชีหลังจากที่โควิด-19 แพร่ระบาดในไทยระลอก 3 อาจสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้คนที่มีต่ออนาคตของตัวเองในประเทศ และอาจรวมไปถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ 

แม้เพจที่สนใจการย้ายประเทศจะถูกจับตา และถูกขู่ว่าจะโดนฟ้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเพจ และหายไปช่วงหนึ่ง แต่ก็กลับมาได้ใหม่โดยที่ผู้เข้าร่วมกลุ่มทะลุหลักล้านยังแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างแข็งขันกันเหมือนเดิม 

‘ดิ โอเพนเนอร์’ ชวนพูดคุยประเด็นนี้กับแพทย์ชาวไทย ‘นพ.อภิญญา บุญชู’ หรือ ‘หมอโอ’ ซึ่งย้ายไปอยู่สวีเดนจนได้รับสัญชาติ และเป็นคนหนึ่งที่มองว่า ระบบที่เปิดโอกาสให้คนเติบโตและก้าวหน้า ทำให้คนมองเห็นอนาคตของตัวเองได้ดีกว่าสังคมที่เต็มไปด้วยระดับชั้น

นอกจากนี้ การที่รัฐคุ้มครองพลเมืองตั้งแต่เกิดจนตาย แลกกับการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าที่สูงกว่าไทย ก็ยังถือว่าคุ้มค่า ส่วนการทำหน้าที่ตามอุดมการณ์ 'ชาตินิยม' กับ ‘พลเมืองโลก’ เป็นสิ่งที่แต่ละคนควรมีสิทธิเลือก

"Tourist attraction Tanks" by James Gagen is licensed under CC BY-NC 2.0

คิดย้ายประเทศตั้งแต่รัฐประหาร 2549

เหตุผลที่ทำให้ ‘หมอโอ’ เริ่มคิดถึงการย้ายประเทศ ต้องย้อนกลับไปสมัยที่ยังเรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีท้ายๆ ก็เกิดรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นแกนนำยึดอำนาจจากรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นไปร่วมการประชุมที่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

แม้การจบสาขาสหเวชศาสตร์จากจุฬาฯ พอจะรับประกันได้ว่า ‘หางานได้ไม่ยาก’ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไทย แต่เขาบอกว่า “รู้สึกสิ้นหวังกับการเมือง” และ “นึกภาพตัวเองอยู่ในสังคมไทยยุคนั้นไม่ออก” เพราะไม่แน่ใจในระบบการทำงานของไทย จึงหาข้อมูลเรื่องทุนเรียนต่อต่างประเทศ และตัดสินใจมุ่งไปที่สวีเดน ด้วยเหตุผลว่ามีมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงระดับโลกและมีทุนให้

“ความท้าทาย (Challenge) ที่เมืองไทยคือเราไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ อาจจะด้วยระบบการกดขี่ ระบบชั้นต่ำสูง ระบบอาวุโสในการทำงาน เราไม่รู้สึกว่าเราที่เพิ่งเป็นเด็กจบใหม่ ที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย จะสามารถใช้ศักยภาพของเราได้เต็มที่...ก็เลยมองไปประเทศที่เขามองเห็นคุณค่าของเรา และเราก็สามารถใช้ศักยภาพของเราได้เต็มที่ที่สุดตอนนั้น”

เขาตัดสินไปเรียนต่อสวีเดนเพราะสนใจในภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากอังกฤษ และสวีเดนเป็นประเทศที่มีคนอาศัยอยู่ค่อนข้างน้อย ราว 10 ล้านคน และมีมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจและมีชื่อเสียง เมื่อเรียนจบจุฬาฯ และได้รับใบแจ้งผลการศึกษาก็ไปสอบวัดผลภาษาอังกฤษ ทั้ง TOEFL และ IELTS เพื่อสมัครเรียนต่อในสวีเดนทันที ซึ่งสามารถหาข้อมูลและคำแนะนำได้จากเว็บไซต์ของทางการสวีเดน

“ตอนแรกผมมาเรียนภาษาสวีเดนก่อน ไม่ได้พิจารณาอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเรามีคุณสมบัติเงื่อนไขครบเราก็จะสามารถมาเรียนที่นี่ได้ แต่ก่อนที่เราจะมาเรียน เราก็หาข้อมูลว่าในมหาวิทยาลัยนี้ สาขานี้จะเรียนอะไรบ้างข้อมูลของประเทศสวีเดน ก็ทำตามเงื่อนไขเขาทั้งหมด ยื่นวีซ่าผ่านแล้วก็มา”

“เรื่องอากาศ เรื่องอาหาร ถ้าคนมาแรกๆ จะไม่ชินหน่อยนึง การปรับตัวอีกอย่างนึงคือถ้าเรามาจากสังคมอย่างสังคมไทย...ค่อนข้างจะอยู่กับเพื่อน เหมือนการสังสรรค์ในสมัยเรียน แต่พอมาอยู่ที่นี่ทุกคนจะทำงานจะมีชีวิตส่วนตัวค่อนข้างสูง มีครอบครัวที่ต้องดูแล การทำงานร่วมกัน เราจะทำงานด้วยกันได้ จะคุยกันในที่ทำงานได้ แต่ถ้าเราไม่สนิทกัน เลิกงานเราก็จะต่างคนต่างไป”

“คนสวีเดนใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างดีอยู่แล้ว ถ้าได้ภาษาอังกฤษมาก่อนก็จะสื่อสารในการเริ่มต้นเรียนหรือทำงานได้ง่ายกว่าในการที่เราไม่ได้ภาษาอังกฤษเลย การปรับตัวในการเรียนด้วยความเป็นคนไทยเราจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเยอะ...มีครั้งหนึ่งที่เรียนก็ต้องออกตัวกับคุณครูว่าไม่แน่ใจว่าจะพูดในประเด็นนี้ได้หรือเปล่า ครูก็ตอบกลับมาด้วยความมั่นใจว่าคุณต้องพูดออกมา พูดในสิ่งที่คุณอยากจะพูดได้ จะถูกจะผิดค่อยว่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุดคุณจะต้องสามารถพูดในสิ่งที่คุณคิดได้ ที่นี่จะไม่มีการห้ามทั้งหมด”

“มันต่างกับไทย...บางทีการพูดของคนไทยอาจจะดูว่า เราพูดกับใคร เราอยู่ตรงไหนของสังคม เราถึงจะพูดเพราะบางทีเราเจอสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนไทยจะถูกสอนว่าถ้ามันไม่ถูกต้อง แต่ว่าคุณจะต้องรู้กาลเทศะในการพูด แต่ที่นี่กาลเทศะของเขามันอาจจะไม่ใช่ลักษณะแบบไทยๆ แต่เป็นลักษณะว่าเราพูดอะไร เนื้อหาของเราคืออะไร”

“เขาเริ่มจากห้องเรียนไปจนถึงการใช้ชีวิต ในสังคมของคนสวีเดนก็จะเป็นอย่างนี้ เขาไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร จะเปิดกว้างมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนต่างชาติ เป็นนักเรียนใหม่ เป็นคนที่ทำงานมา 10 ปี แต่ว่าถ้าคุณพูดแล้วมันมีเหตุผลในตัวของมัน เขาจะฟัง และเขาจะไม่ตัดสินว่าความคิดเห็นแบบนี้ไม่ถูกไม่ผิด ถ้ามันผิดมาก ๆ เขาจะข้ามไป เขาจะไม่มาบอกว่าคุณผิดนะ คุณถูกนะ แต่ถ้ามันผิดเขาจะข้าม เขาจะไม่ใส่ใจความคิดเห็นนี้ เราก็จะรู้สึกว่าความคิดเห็นนี้มันไม่เข้าท่า เราก็จะถูกเรียนรู้ไปในตัวด้วย”

https://live.staticflickr.com/65535/49560354268_701ebda97c_b.jpg

เปรียบเทียบระบบสาธารณสุข สวีเดน VS ไทย

หลังจากเรียนภาษาสวีเดนจนคล่องแคล่ว ‘หมอโอ’ ได้เรียนต่อในสาขาแพทยศาสตร์ หลังจากนั้นจึงทำงานที่โรงพยาบาลในกรุงสตอล์กโฮมมาจนถึงปัจจุบัน เขาได้เปรียบเทียบวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในระบบสาธารณสุขระหว่างไทยและสวีเดนจากที่ประสบมาด้วยตัวเอง มองว่ามีความแตกต่างกันตั้งแต่ระดับการเรียนการสอนไปจนถึงการกระจายบุคลากร 

เขาระบุว่า การสอนเกี่ยวกับแพทยศาสตร์ที่ไทย ให้ความสำคัญอันดับแรกที่ความเสียสละ แต่ที่สวีเดนให้ความสำคัญกับความรู้และความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่น จึงกำหนดเวลาการทำงานของแพทย์ชัดเจน เพื่อไม่ให้แพทย์ต้องทำงานเกิน เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุดก็คือคนไข้

“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นแพทย์ ถ้าเราไปถามความคิดเห็นของเด็กไทยหรือนักเรียนไทยก็คือ ‘ความเสียสละ’ แต่ว่าพอผมเอาแนวคิดนี้มาใช้ที่นี่เขาบอกว่าไม่ใช่ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นแพทย์คือ ‘ความรู้’อย่างแรกที่สุดคือคุณต้องมีความรู้ อย่างที่สองที่ตามมาติดๆ ก็คือความรับผิดชอบต่อชีวิต เพราะว่าสิ่งที่คุณทำทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่คุณต้องทำกับมนุษย์ และเขาฝากชีวิตไว้กับเรา”

“ระบบสาธารณสุขของที่นี่ ในส่วนของแพทย์ เขาจะมีเวลาการทำงานที่ชัดเจน คือ 38-42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะไม่เกินไปกว่านี้ เพราะเขามีแนวคิดว่าถ้าแพทย์ทำงานเกิน คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือคนไข้ ก็จะจำกัดเวลาการทำงานของแพทย์ ถ้าแพทย์ไม่พอก็จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น”

“ประเทศสวีเดนเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ คนอาจจะเข้าใจว่าสวีเดนไม่มีโรงพยาบาลเอกชน แต่สวีเดนมีโรงบาลเอกชน แต่โรงพยาบาลเอกชนจะได้รับการรับรองจากรัฐ...เพราะฉะนั้นคนที่จะได้รับอิทธิพลสูงสุดคือประชาชน เขาจะจ่ายเท่ากันหมด จะไม่รู้ว่าเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน... แพทย์ทั้งหมดจะสู้กันด้วยค่าแรง...เพราะฉะนั้นหมอก็จะไหลมาทางเอกชน แต่ว่าเมื่อรัฐไม่มีแพทย์ เขาก็จะให้เงินเดือนที่สูงขึ้น หรือให้สวัสดิการอื่นๆ ที่สูงขึ้น”

“การกระจายตัวของแพทย์ค่อนข้างจะกระจายตัวได้เหมาะสมมากกว่าประเทศไทยที่แพทย์จะกระจุกตัวในเมืองใหญ่ และในต่างจังหวัดจะเป็นแพทย์จบใหม่ แต่ที่นี่จะสลับกันนิดนึง แพทย์จบใหม่จะอยู่โรงพยาบาลใหญ่ แพทย์เฉพาะทางก็จะกระจายตัวออกไปตามเมือง... คือการเรียนแพทย์จะต้องเรียนไปเรื่อย ๆ การที่เราเรียน 6 ปีความรู้อาจจะยังไม่แม่นพอ เพราะฉะนั้นการที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ คือเราจะทำงานร่วมกับแพทย์ที่มีทักษะมากกว่านั้น”

Haut Risque/ Unsplash

จ่ายภาษีแพง-แลกกับรัฐสวัสดิการที่ดูแล “ตั้งแต่เกิดจนตาย”

‘หมอโอ’ ยอมรับว่าการใช้ชีวิตอยู่ในสวีเดนต้องจ่ายภาษีแพงกว่าหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย โดยอาจต้องเสียภาษีสูงสุดถึง 31-56% ของรายได้ แต่เขาก็ไม่เคยเห็นคนในสวีเดนประท้วงเรื่องอัตราภาษีกันอย่างจริงจัง เพราะในหลายด้าน รัฐบาลได้สนับสนุนระบบที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของพลเมือง โดยมีการดูแลครอบคลุม “ตั้งแต่เกิดจนตาย”

“การที่บอกว่าจ่ายภาษีแพงแล้วรู้สึกว่าคุ้มไหม เราต้องดูก่อนว่าภาษีของเราถูกเอาไปทำอะไรบ้าง คนที่สวีเดนจ่ายภาษีสูงก็จริง แต่ว่าเราจะไม่เคยเห็นการประท้วงเรื่องภาษีเลย มันหมายความว่าคนสวีเดนเต็มใจที่จะจ่ายภาษีสูงๆ แล้วเขารู้สึกว่ารัฐไม่เอาเปรียบเขา และเขาได้ทุกสิ่งทุกอย่างคืนจากภาษีทั้งหมด”

“เราจ่ายภาษีสูง แต่รัฐจะดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กที่เกิดมาจะได้เงินเด็กจนถึงอายุ 18 ปี เงินจะเข้าบัญชีให้ ส่วนมากผู้ปกครองก็จะเก็บไว้ให้เด็ก เพื่อให้เป็นเงินของเขา ตอนที่เขาเรียนจบมัธยมปลายก็จะใช้เงินตัวนี้เพื่อไปหาบ้าน ตั้งต้นชีวิต...จบมัธยมปลายเขาจะไม่เรียนมหาวิทยาลัยต่อเลย อาจจะไปทำงานก่อนเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตในโลกของการทำงานเป็นยังไง อีกประมาณปีสองปีถึงจะกลับไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็จะมีบางส่วนที่เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็จะเข้ามหาวิทยาลัยเลย”

“...ที่บอกว่ารัฐช่วยเหลือแล้วทำให้คนขี้เกียจ คือรัฐไม่ได้ช่วยเหลือซะจนคุณมีรายได้เป็นเงินถุงเงินถัง การที่คุณมีรายได้จากการช่วยเหลือของรัฐ เป็นการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานที่สุด คุณอาจจะไม่มีรถขับ คุณอาจจะไม่มีโทรศัพท์ iPhone 12 คุณอาจจะไม่มีทีวี 70 นิ้ว แต่ว่าคุณมีคุณภาพชีวิตในการอยู่เสมอภาคกับทุกๆ คนได้ แต่ถ้าคุณอยากได้อะไรในชีวิตมากขึ้น คุณอยากได้รถขับ คุณอยากจะไปเที่ยวฮอลิเดย์ คุณก็ต้องทำงาน เพื่อที่จะมีเงินตรงนั้น”

“คนมีรายได้ตั้งแต่ 400,000 ขึ้นไปจนถึง 450,000 โครน ต่อปีจะเสียภาษีประมาณ 29-31% แล้วแต่เทศบาลที่เราอยู่ด้วย สูงกว่า 450,000-600,000 โครน เป็น 31+20% ถ้าเกินไปกว่า 600,000 โครน ก็จะเสียไป 31+ 25% นี่คือภาษีเงินได้ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มของที่นี่จะมี 6, 12 และ 25% แล้วแต่ว่าเป็นสินค้าอะไร 25% จะเป็นประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ สินค้าที่ 6% ก็จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค”

“ถ้าเทียบกับคนที่มีรายได้ 20,000 บาท ถือว่ามีรายได้น้อยไหม ก็อาจจะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของปริญญาตรีที่เมืองไทย ซึ่งการที่มีรายได้ 20,000 บาทแล้วใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ลำบาก...ค่าใช้จ่ายในการไปทำงานคือการนั่งรถไฟฟ้าต่อเดือนหรือค่านั่งแท็กซี่มันก็จะอยู่ที่หลายพัน ซึ่งมันเกิน 10-15% ของรายได้หรืออาจจะถึง 20% ค่าที่พักผมว่าน่าจะสูงเหมือนกัน ที่พักที่มีคุณภาพหน่อยน่าจะ 7,000-8,000 หรือ 10,000 บาท ยังไม่รวมค่าอาหาร” 

“แต่การที่คุณมาอยู่ที่สวีเดนแล้วมีเงินเดือน 20,000 โครน คุณสามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เลย เพราะคุณจะจ่ายค่าเดินทางต่อเดือนแค่ 800 โครน ค่าเช่าบ้าน 4,000-5,000 โครน แล้วที่เหลือจะเป็นค่าอาหาร ประมาณสัก 3,000-4,000 คุณก็จะเหลือเงินเก็บประมาณ 10,000 โครนต่อเดือน ถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็หลายหมื่นบาท หลังจากนั้นคุณจะมีฮอลิเดย์ปีละหกอาทิตย์ ซึ่งฮอลิเดย์ของคุณไม่ต้องทำงานหกอาทิตย์คุณก็จะได้เงินเดือนเต็ม”

กระบวนการขอสัญชาติมีเงื่อนไขอย่างไร?

นับจากวันที่ไปเรียนต่อจนกระทั่งทำงานและจ่ายภาษีสม่ำเสมอ ‘หมอโอ’ ถือเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะยื่นเรื่องขอสัญชาติสวีเดน เขาจึงตัดสินใจดำเนินการ และให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้คนจำนวนมากพยายามที่จะปรับตัวเป็น ‘พลเมืองโลก’ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าแนวคิดเรื่องชาตินิยม แต่การได้อยู่ในประเทศที่ระบบบริหารจัดการคำนึงถึงการคุ้มครองช่วยเหลือพลเมืองของตัวเอง ย่อมดีกว่าการอยู่กับรัฐบาลที่ไม่มีหลักคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาหรือคุ้มครองประชาชน

“การได้สัญชาติของสวีเดนก็จะมีเงื่อนไขคล้าย ๆ กับหลายประเทศ 1.มีถิ่นพำนักถาวรที่สวีเดน และอยู่ในประเทศสวีเดนเป็นจำนวนกี่วันต่อปีและเป็นจำนวนกี่ปีขึ้นไป ไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่มีหนี้ จ่ายภาษีครบ หรืออาจจะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ต้องได้รับใบอนุญาตให้อยู่พำนักถาวรที่นี่ 4 ปีขึ้นไป”

“คนที่เรียนปริญญาโทเขาก็สามารถที่จะหางานได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนจากวีซ่านักเรียนเป็นวีซ่าทำงานได้...เมื่อเราเริ่มทำงาน ก็จะเป็นการนับหนึ่งในการขอสัญชาติ (citizenship) ใช้เวลาประมาณ 5 ปี เมื่อเราครบ 5 ปีเราจะสามารถขอ citizenship ได้...การจ่ายภาษีเป็นเรื่องปกติ ทุกคนทำงานต้องจ่ายภาษี เพราะเราจะได้คืน นายจ้างจะหักภาษีเราก่อนที่จะเป็นเงินเดือนเราเลย ก็ไม่มีปัญหาอะไร”

Catalina Johnson/ Unsplash

ถ้าเลือกได้ ขออยู่กับรัฐที่พร้อมสนับสนุนประชาชน

แม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ไม่มีประเทศไหนที่ปราศจากข้อเสีย และสวีเดนก็เช่นกัน แต่ในทัศนะของ ‘หมอโอ’ สิ่งที่เป็นข้อเสียหรือเป็นปัญหาในสวีเดนมักจะถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพราะหลักคิดสำคัญของคนสวีเดนส่วนใหญ่ คือ การยอมรับว่า ‘มีปัญหาเกิดขึ้นจริง’ และเมื่อมีผู้ได้รับปัญหา สังคมจะต้องหาต้นตอให้ได้ก่อน ต่างจากสังคมไทยที่ผู้เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากภาครัฐมากนัก

“ข้อเสียของประเทศสวีเดนคือเขาจะพึ่งพาระบบ นี่คือความคิดเห็นส่วนตัว...แต่ระบบของเขาจะค่อนข้างจะคำนึงถึงความปลอดภัย เช่น ถ้ามีรถไฟที่เสียเวลารถไฟที่ตกราง เขาจะหยุดทั้งระบบเลย ระบบจะปรับเป็นแบบคนควบคุมเอง (manual) ไม่ได้...เขาจะคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน”

“แต่ที่สุดของที่นี่คือระบบมันรองรับและสอดคล้องกันหมด หน้าที่เราก็คือทำงานใช้ชีวิตให้มีความสุข แล้วกลไกทุกอย่างมันไปด้วยกัน มันทำงานของมันเอง คือทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองแค่นั้น มันก็ไปได้แล้วระบบมันดีอยู่แล้ว”

“ถ้าเป็นประเทศไทย คุณอาจจะเรียนจบปริญญาเอกด้านอวกาศและการบิน (aerospace) แต่ประเทศเราไม่มี aerospace ให้ทำงาน ก็ไม่มีประโยชน์...การลงทุนจากรัฐต่างๆ มันจะต้องไปด้วยกัน เราไม่สามารถที่จะไปในทางใดทางหนึ่งได้อย่างเดียว คุณต้องทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน เช่น ระบบการศึกษาดี แต่ว่าระบบการทำงานไม่ดี ก็ไปไม่ได้...สิ่งที่คนสวีเดนไปได้ก็คือทุกอย่างมันสอดคล้องกันไปหมด คุณตกงานก็มีเรื่องของสวัสดิการมารองรับ...เราแค่ทำงานของเราไป จ่ายภาษีไป เรามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ระบบสุขภาพก็จะมารองรับ”

“ที่เมืองไทยมีปัญหาอะไร ปัญหาคือความไม่เท่าเทียมกันใช่ไหม คือการที่เรามีรัฐบาลที่ไม่สามารถสนับสนุนช่วยเหลือเราได้เลย หรือว่าการที่ทุกคนทำอยู่ตอนนี้ คือการสู้เพื่อที่เราจะมีชีวิตอยู่ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรทำ คนที่ออกมาสู้อาจจะไม่ได้สู้เพื่อคนอื่นมากมาย แต่เราก็ทำเพื่อชีวิตของเราเอง เพราะว่าการที่เราไม่ออกมาพูดอะไรเลย มันก็เป็นการที่เราเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นการเอาเปรียบคนอื่นด้วยซ้ำ”

“หลักคิดของสวีเดนก็คือถ้ามีปัญหา เขาจะมองว่ามันมีปัญหา จริงๆ ไม่ใช่ของสวีเดนอย่างเดียว แต่เป็นของมนุษยชาติ...เราจะมองเห็นว่าทุกวันนี้มันไม่เหมือนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว การที่มันพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็คือคนที่มองเห็นปัญหาแล้วพยายามคิดว่ามันเป็นปัญหา และจะแก้ปัญหายังไงเพื่อที่จะอยู่ด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นการที่คุณมองไม่เห็นปัญหา คุณไม่คิดที่จะแก้ด้วยซ้ำไป คุณคิดว่าสิ่งนี้ดีแล้ว จริงๆ ถ้าเปรียบเทียบก็คือ ลาที่ไม่เคยไปไกลกว่าที่มันถูกผูกไว้ เราจะไม่รู้เลยว่าเราถูกผูก เมื่อไหร่ที่เราเดินไปจนสุดสายป่านแล้วเราจะรู้ว่าเราถูกผูกไว้”

“อย่างคนสวีเดน ถ้ามีคนหนึ่งพูดว่าปัญหาของเขาคือเขามีรายได้น้อย เขาไม่พอกิน คนก็จะไปถามว่าทำไมคุณถึงมีรายได้น้อย คุณมีปัญหาเรื่องภาษาหรือเปล่า คุณมีปัญหาเรื่องการทำงานหรือเปล่า เมื่อมีปัญหาเรื่องภาษา เรื่องการทำงาน รัฐก็จะเข้ามาช่วย คุณไปเรียนภาษา เขาจะให้เงินคุณไปเรียนภาษา ถ้ามีปัญหาเรื่องการทำงาน งานของคุณคืออะไร ถ้างานของคุณเป็นแรงงานไร้ฝีมือ คุณอยากจะพัฒนาตัวเองไหม ถ้าคุณอยากจะพัฒนาตัวเองคุณก็ไปเรียนหนังสือ เขาก็จะให้เงินไปเรียนหนังสือ”

“เมื่อคุณได้งานที่ดีขึ้นแล้ว คุณก็พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ แล้วรายได้ของคุณก็จะมาตามนั้น ผมคิดว่าการที่ใครมีปัญหาสักคนหนึ่ง มันจะต้องถูกแก้โดยการคุยกันแบบตรงไปตรงมา มันจะอยู่ในพื้นฐานที่เรามองเขาเป็นคน และเขาจะพัฒนาตัวเองไปจนเต็มความสามารถของตัวเอง คนเรามีสิทธิ์ที่จะพัฒนาตัวเองไปจนสุดทาง คนที่นี่จะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่คนที่จบหมอจะประสบความสำเร็จ แต่คนที่เป็นช่างที่นี่เขาก็จะประสบความสำเร็จของเขาได้เหมือนกัน คือทุกคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน รัฐที่เราอยู่จะสามารถผลักดันเราไปให้สุดทางเราได้แค่ไหน ผมว่าตรงนั้นก็สำคัญเหมือนกัน”