Skip to main content

สรุป

  • กระแส #ย้ายประเทศ ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ของไทย ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ามีประเทศไหนบ้างที่ย้ายไปแล้วอาจเจอการเหยียดคนต่างชาติ
  • หลายประเทศมีปัญหาเหยียดเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติคล้ายๆ กัน แต่ที่เห็นชัดล่าสุด คือ กระแสต่อต้านคนเชื้อสายเอเชีย (anti-Asian) ในสหรัฐฯ หลังโรคโควิด-19 แพร่ระบาด 
  • มีชาวไทยในสหรัฐฯ อย่างน้อย 2 รายที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากคดีที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็น 'อาชญากรรมจากความเกลียดชังคนเอเชีย'
  • งานของสถาบัน TDRI ในไทย บ่งชี้ว่าประเทศไทยก็มีการเหยียดและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมาทำในภาคส่วนที่ขาดแคลนแรงงานไทย

สถิติคดีทำร้ายร่างกายจากความเกลียดชังคนเชื้อสายเอเชียและเอเชียแปซิฟิก (AAPI Hate Crime) เพิ่มขึ้นช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด โดยเว็บไซต์ USA Today รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงไตรมาสแรกของปี 2564 มีคดีคนเชื้อสายเอเชียและเอเชียแปซิฟิกในสหรัฐอเมริกาถูกละเมิดและฆ่า รวมกว่า 6,600 คดี ใน 16 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 164% เมื่อเทียบกับสถิติปีก่อนหน้า นำไปสู่การปรับแก้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดในคดีจากความเกลียดชังคนกลุ่มนี้เมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา

สื่ออเมริกันรายงานว่าหลังจากที่อดีตประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' กล่าวโทษจีนว่าเป็นผู้ทำให้โควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้คดีทำร้ายร่างกายและใช้ความรุนแรงกับคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทับซ้อนกับคดี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ชาวอเมริกันผิวดำเสียชีวิตขณะถูกตำรวจคุมตัว ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติในระดับโครงสร้างของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานในสหรัฐฯ

‘วิชา รัตนภักดี’ เป็นผู้มีเชื้อสายไทยรายแรกที่ถูกวัยรุ่นแอฟริกันอเมริกันทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตในสหรัฐฯ เมื่อ 28 ม.ค.2564 และอีกคดีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นต้นเดือน เม.ย. ‘สุชานันท์ อักษรนันท์’ หญิงเชื้อสายไทยที่เป็นทั้งเชฟและเจ้าของร้านอาหารในนิวยอร์ก ถูกชาวอเมริกันเชื้อสายลาตินอเมริกาทำร้ายร่างกายและทำให้แมวเธอตาย และเมื่อ 1-2 พ.ค.มีคนเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ถูกทำร้าย โดยรายหนึ่งเป็นผู้หญิงที่ถูกคนไม่รู้จักกันใช้ค้อนทุบศีรษะ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีกระแสคนไทยจำนวนมากอยากย้ายประเทศ เพราะไม่พอใจในการบริหารจัดการของรัฐบาลในขณะที่เกิดโรคระบาด จึงมีการตั้งคำถามในสื่อสังคมออนไลน์ของไทยว่า ประเทศไหนบ้างที่มีปัญหาเหยียดเชื้อชาติ และมีผู้ยืนยันว่าหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีปัญหาเหยียดผิวและเลือกปฏิบัติต่อคนต่างชาติ

"Voice of the People" by moonjazz is marked with CC PDM 1.0

ในความเป็นจริง การเหยียดเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติเป็นปัญหาร่วมในหลายประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดสงครามซีเรียและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เลือกลี้ภัยไปยังยุโรป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพเกิดขึ้นในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายแห่ง และพรรคการเมืองที่มีแนวคิดชาตินิยมหรือต่อต้านชาวต่างชาติ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แม้จะเสนอนโยบายที่สวนทางกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลก็ตาม

กรณีของไทยก็มีการสำรวจปัญหาเหยียดเชื้อชาติและเลือกปฏิบัติ โดยงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2555 บ่งชี้ว่าคนไทยจำนวนมากมีมุมมองและปฏิบัติต่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะ ‘พลเมืองชั้นสอง’ ทั้งยังมีการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้ และเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานมองว่าพวกเขา ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ ทั้งที่ส่วนใหญ่ทำงานในภาคส่วน 3D (Difficult งานหนัก, Dirty งานสกปรก, Dangerous งานอันตราย) ซึ่งขาดแคลนแรงงานไทยอยู่แต่เดิมก็ตาม

นอกจากนี้ บทความอีกอันหนึ่งของทีดีอาร์ไอก็ระบุว่า ไทยติดกลุ่ม 10 ประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะขาดความเท่าเทียมกันในหลายๆ ด้าน ทั้งโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ การรักษาพยาบาล การเข้าถึงบริการของภาครัฐ และการกระจายระบบสาธารณูปโภค ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากสถานะทางสังคมและภูมิภาคที่อยู่อาศัย

ขณะที่รายงาน Being LGBTI in Asia and the Pacific จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งสำรวจสถานการณ์กลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อปี 2562 พบว่าไทยเป็นประเทศที่ยอมรับกลุ่ม LGBTI มากเป็นอันดับต้นๆ คิดเป็น 69% ของผู้ตอบแบบสอบถาม แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าคนที่เป็น LGBTI จะต้องไม่ใช่คนในครอบครัว และเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น LGBTI (53%) ตอบว่ายังถูกทำร้ายทางวาจาจากคนรอบข้าง และอีก 42% ตอบว่ายังต้องปกปิดคนในสังคมว่าตัวเองเป็น LGBTI