Skip to main content

สรุป

  • สื่ออังกฤษรายงานในช่วงโควิดแพร่ระบาดต้นปี 2563 ว่าในสถานการณ์ปกติ การที่กองทัพในแต่ละประเทศเข้าไปยุ่งกับกิจการพลเรือน อาจเป็นสัญญาณว่าการเมืองของประเทศนั้นขาดเสถียรภาพ

  • แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตหรือสาธารณภัย การดึงกองทัพเข้ามาช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องแปลก เช่น อังกฤษและสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ขอความช่วยเหลือจากกองทัพ

  • กองทัพโดยทั่วไปมีจุดแข็ง 5 ข้อที่ช่วยเหลือประชาชนได้ คือ กำลังพลที่มีวินัย, ความช่วยเหลือทางการแพทย์, การขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ, ความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคง

  • ล่าสุด รัฐบาลอินเดียขอความร่วมมือกองทัพ ลงทะเบียนกำลังพลสำรองแพทย์ทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือนที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ เพื่อรับมือวิกฤตโรคโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

  • กรณีของกองทัพไทย มีส่วนพัวพันกับคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโรคโควิดถึง 2 ครั้ง 2 ครา

รัฐบาลอินเดีย ภายใต้การนำของนากยรัฐมนตรี ‘นเรนทรา โมดี’ ประกาศให้กองทัพทุกหมู่เหล่าร่วมกันปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังเกิดวิกฤตสาธารณสุข ไม่มีเตียงโรงพยาบาล หน้ากากออกซิเจน และบุคลากรที่เพียงพอต่อการรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 กองทัพอินเดียได้ออกคำสั่งให้แพทย์ทหารและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝ่ายพลเรือนในกองทัพ รวมถึงแพทย์และบุคลากรการแพทย์ทหารที่เกษียณอายุไปแล้วแต่ยังสุขภาพแข็งแรง ให้เข้าลงทะเบียนกำลังพลสำรอง เพื่อเตรียมพร้อมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐบาลและพลเรือนในการรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลายได้โดยง่าย

มาตรการนี้รัฐบาลยืนยันว่ามีความจำเป็น แต่เว็บไซต์ Mint รายงานว่ามีผู้วิพากษ์วิจารณ์การที่รัฐบาลนเรนทรา โมดี นำสรรพกำลังของกองทัพมาทุ่มให้กับการจัดการโรคระบาด อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจหลักได้ โดยเฉพาะในช่วงที่อินเดียยังมีความขัดแย้งตามแนวชายแดนกับทั้งจีนและปากีสถาน มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธในช่วงปีที่ผ่านมา  

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าการระดมกำลังทหารทุกหมู่เหล่ามาช่วยรับมือสถานการณ์โควิดไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน เพราะกองกำลังที่จะมาช่วยในด้านนี้เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการแพทย์เป็นการเฉพาะ

5 จุดแข็งที่ทำให้กองทัพทั่วโลกช่วยเหลือประชาชนได้ในยามวิกฤต

ช่วงที่โควิดระบาดแรกๆ ในปี 2563 ประเทศสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกคำสั่งให้ทหารเข้ามาช่วยรับมือการล็อกดาวน์ควบคุมการเดินทางของประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และรัฐบาลสหราชอาณาจักรมีคำสั่งให้ทหารที่มีหน้าลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และบุคลากรการแพทย์ไปตามชุมชนต่างๆ โดยบีบีซีรายงานว่า ในสถานการณ์ปกติ การเห็นกองทัพของประเทศต่างๆ เคลื่อนกำลังพลไปตามท้องถนนอาจจะเป็นสัญญาณว่าการเมืองในประเทศนั้นขาดเสถียรภาพ และเป็นสัญญาณความขัดแย้งทางการเมือง

แต่เมื่อเกิดวิกฤตหรือภัยพิบัติต่างๆ การกระจายกำลังทหารเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรนัก เพราะกองทัพในหลายประเทศต่างก็ฝึกฝนภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยขนาดใหญ่เช่นกัน พร้อมยกจุดแข็ง 5 ประการที่ทำให้กองทัพช่วยเหลือสาธารณชนได้ดี ประกอบด้วย (1) กำลังพล สามารถกระจายไปได้ทั่วประเทศ และได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติตามคำสั่งและรักษาระเบียบวินัย (2) ความช่วยเหลือทางการแพทย์ (3) ระบบขนส่งโลจิสติกส์ (4) ความปลอดภัย และ(5) การรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของทหารโดยทั่วไป

ส่วนกองทัพจีนมีบทบาทนำในการศึกษาพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด โดยสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศเป้าหมายให้กองทัพจีนมุ่งพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ และสงครามอวกาศ (space warfare) ที่พยายามชิงการนำและสร้างนวัตกรรมด้านอวกาศ แต่หลังจากที่โลกต้องเจอกับเชื้อโรคอุบัติใหม่อย่างโรคซาร์สและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ 2009 กองทัพจีนก็หันมาทุ่มเทวิจัยและพัฒนาด้านวัคซีนและเทคโนโลยีการแพทย์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

กรณีของกองทัพอินเดียได้มีการแจกแจงด้วยว่านับตั้งแต่โควิดแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน กองทัพได้ปฏิบัติหน้าที่มาหลายภารกิจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเครื่องบินทหารไปลำเลียงประชาชนตกค้างในต่างแดนกลับสู่ประเทศ การกระจายอุปกรณ์การแพทย์ การลำเลียงบุคลากรการแพทย์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ล้วนได้รับความร่วมมือจากกองทัพมาโดยตลอด และวิกฤตโควิดล่าสุดมีการขอความร่วมมือจากแพทย์ทหารและเจ้าหน้าที่ซึ่งเกษียณอายุไปแล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ให้คำแนะนำทางการแพทย์แก่ประชาชนทางออนไลน์ 

เปรียบเทียบบทบาท ‘กองทัพไทย’ กับการรับมือโควิด

การรับมือโควิด-19 ภายใต้รัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้รับความเชื่อมั่นจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในอีกหลายด้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งถูกเปรียบเป็นการ ‘ใช้ยาแรง’ แต่ไม่มีมาตรการเยียวยารองรับทันท่วงที จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการทำมาหากินของประชาชนรายเล็กรายน้อย

อีกประเด็นคือการใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนรับการช่วยเหลือเยียวยาที่ยุ่งยาก กีดกันผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์สมาร์ตโฟน แต่ก็ถือว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงแรกด้วยการกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันให้เป็นศูนย์ได้อยู่นานหลายเดือน จนกระทั่งมีผู้ตั้งคำถามว่าการที่รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นที่การตรวจคัดกรอง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่พบผู้ติดเชื้อมากนัก

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกก่อนจะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทั้งยังควบตำแหน่ง รมว.กระทรวงกลาโหม แต่การสั่งการหรือประสานให้กองทัพไทยทุกหมู่เหล่าเข้ามารับมือกับสถานการณ์โควิดก็ยังมีข้อกังขา เพราะตอนที่เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ หรือที่รู้จักในนาม ‘คลัสเตอร์สนามมวย’ ทำให้ทั้งรัฐบาลและกองทัพถูกตั้งข้อสงสัยอยู่มาก เพราะสนามมวยดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกองทัพ ซึ่งถ้าเป็นคำนิยามของบีบีซีก็ต้องถือว่าเป็นหน่วยงานที่เคารพในคำสั่งและรักษาระเบียบวินัยได้ดี แต่กรณีสนามมวยทำให้เห็นว่ามีการละเมิดคำสั่งขอความร่วมมือด้านสาธารสุขในช่วงนั้น ทั้งยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะทางสังคมอีกด้วย

หลังจากนั้นสถานการณ์โควิดถูกควบคุมได้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดแบบคลัสเตอร์รอบใหม่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดค้าอาหารทะเลในมหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญ และผลตรวจผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ตลาดกุ้งมหาชัย สืบทราบได้ว่ามาจากกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเดินทางข้ามแดนเข้ามายังไทย ทำให้เกิดคำถามในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยว่าเพราะเหตุใดการป้องกันชายแดนของทหารพรานและกองกำลังแนวชายแดนของกองทัพจึงไม่สามารถควบคุมผู้ข้ามแดนได้ และมีการตั้งคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยใดรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการลักลอบขนแรงงานเถื่อนหรือไม่

ส่วนการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นเมื่อต้นเดือน เม.ย. ก็เริ่มขึ้นจาก ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ’ ซึ่งบ่งชี้ว่า ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.กระทรวงคมนาคม ‘คนวงใน’ ของรัฐบาล พล.อ,ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมในสถานบันเทิงแห่งนั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ‘การ์ดตก’ ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการเว้นระยะห่างอย่างที่รัฐบาลชุดนี้พยายามพร่ำบอกกับประชาชนมาโดยตลอด 

ที่มา:
Armed forces fight the 'invisible army' as Covid-19 threatens India
• China’s coronavirus vaccine shows military’s growing role in medical research
Deployment of military medical professionals in COVID-19 not affecting operational preparedness: Indian Army
Pakistan Calls in Army to Help Contain COVID-19 Spread
Thai PM’s Consolidation of Powers Akin to Second Coup, Opposition Says