สรุป
-
บทความจากเว็บไซต์รัฐสภาปี 2563 บ่งชี้ ไทยมีปัญหา 'ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ' เพราะมีผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ช่วงโควิดเริ่มระบาด ได้ปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อแล้วกว่า 8,000 คน
-
โควิดระบาดผ่านไปกว่าปี ปัญหาความแออัดในเรือนจำยังไม่บรรเทาลง และ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่าอาจ ‘สร้างคุกเพิ่ม’ เพื่อแก้ปัญหาแออัดและรองรับ 'นักโทษการเมือง'
-
องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนทั่วโลกเฝ้าระวังสถานการณ์โควิดในเรือนจำที่แออัด พร้อมแนะนำให้ทยอยปล่อยตัวนักโทษคดีไม่ร้ายแรง ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนแนะนำทั่วโลกปล่อยตัวนักโทษคดีไม่ร้ายแรง และ ‘นักโทษการเมือง’ แต่กลุ่มหลังไม่ได้รับการปล่อยตัวมากนัก
-
กรณี ‘รุ้ง ปนัสยา-พอร์ท ไฟเย็น’ กลุ่มราษฎร ติดโควิดหลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำทั้งที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินความผิด เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนความเสี่ยงการติดโควิดในทัณฑสถานของไทย เพราะ ‘อานนท์-ไมค์-จัสติน’ ก็ติดไปก่อนแล้ว
องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้รัฐบาลทั่วโลกเฝ้าระวังเรือนจำที่มีสภาพแออัด อาจกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโควิด นอกจากนี้ยังมีการจลาจลในเรือนจำบานปลายในหลายประเทศ ทั้งอิตาลี เปรู โคลอมเบีย ศรีลังกา ทรินิแดด ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ไทย
การจลาจลในเรือนจำบางที่มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บหลายราย ทำให้ประเทศต่างๆ พิจารณาผ่อนผันโทษให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อลดทอนความเสี่ยงของโรคโควิดในเรือนจำ โดยเฉพาะประเทศมีปัญหาเรือนจำแออัด พื้นที่ไม่เพียงพอ หรือมีพื้นที่ไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขัง สวนทางกับการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ปฏิบัติกันนอกเรือนจำ เช่น สหรัฐอเมริกา อิหร่าน อัฟกานิสถาน
การพิจารณาผ่อนผันโทษแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำต่างกันไปในหลายประเทศ มีทั้งการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตามเวลาที่กำหนด หรือติดตั้งกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) เพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้ต้องขัง การพิจารณาผ่อนผันโทษเพื่อปล่อยตัวก่อนกำหนด โดยพิจารณาจากหลายเกณฑ์ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ใกล้ถึงกำหนดพ้นโทษและมีความประพฤติดี รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ถูกลงโทษในความผิดร้ายแรง
กรณีของไทย ฐานเศรษฐกิจรายงานอ้างอิงบทความจากเว็บไซต์รัฐสภา ระบุว่า "เรือนจำไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน มีปริมาณผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำแต่ละแห่งรองรับได้ เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อการจัดสวัสดิการ และการแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง โดยปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำมีสาเหตุมาจากการใช้กฎหมายอาญามากเกินความจำเป็น"
ขณะที่เว็บไซต์ iLaw รายงานเพิ่มเติมว่า ไทยมีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง สามารถรองรับนักโทษได้ 217,000 คน แต่ขณะทำการสำรวจในเดือน เม.ย. 2563 เรือนจำไทยต้องรองรับนักโทษอย่างน้อย 373,000 คน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับนักโทษ 172% โดยมีจำนวนนักโทษที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ประมาณ 16% ของนักโทษทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่โรคโควิดแพร่ระบาดครึ่งแรกของปี 2563 มีการทยอยปล่อยตัวผู้ต้องขังไปกว่า 8,000 คน และกำหนดมาตรการลดวันต้องโทษสำหรับนักโทษที่ผ่านเกณฑ์ ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะระบุว่า "ควบคุมสถานการณ์โควิดในเรือนจำได้แล้ว"
ข้อเรียกร้อง 'ปล่อยนักโทษการเมือง' ยิ่งดังช่วงโควิด
ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกปล่อยตัว ‘นักโทษการเมือง’ ออกจากเรือนจำ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (UNPHCHR) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลเยเมนปล่อยตัวนักโทษการเมืองในช่วงโควิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ต้องขังที่อยู่กันอย่างแออัดในเรือนจำ
แม้จะยังไม่มีการนิยามคำว่า ‘นักโทษการเมือง’ (political prisoner) อย่างเป็นทางการโดยหน่วยงานของสหประชาชาติ แต่สารานุกรมเก่าแก่ Britannica ให้คำนิยามนักโทษการเมืองว่าเป็น "ผู้ที่มีจุดยืนหรือแนวคิดท้าทายต่อผู้ยึดกุมอำนาจทางการเมืองการปกครอง" ไม่ว่าจะประเด็นเชื้อชาติ เศรษฐกิจ มุมมองทางการเมือง และศาสนา โดยที่การกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดยืนของคนกลุ่มนี้จะถูกตีความลงโทษแตกต่างจากคดีความทั่วไปในสังคม
ขณะที่ ‘แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล’ (AI) ใช้คำว่า ‘นักโทษทางความคิด’ (prisoner of conscience) แต่ให้คำนิยามใกล้เคียงกับคำว่านักโทษการเมือง เพราะหมายถึงผู้ถูกจับกุมคุมขังจากการมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาล และการกระทำเชิงสัญลักษณ์ซึ่งตามปกติแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด อาจเป็นสาเหตุให้ถูกจับกุมดำเนินคดีได้
สารานุกรมบริทานิการะบุว่า AI ใช้คำว่านักโทษทางความคิดครั้งแรกในปี 2505 อ้างอิงกรณีนักศึกษาชาวโปรตุเกสถูกตัดสินจำคุก 7 ปี เพียงเพราะแสดงสัญลักษณ์ประชาธิปไตยต่อหน้า ‘อังตอนียู ดึ ออลีไวรา ซาลาซาร์’ ผู้นำรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้น และเมื่อถึงยุคโควิดแพร่ระบาด AI ได้ออกแถลงการณ์ในอียิปต์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดหรือนักโทษการเมือง โดยให้เหตุผลว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรจะถูกจับกุมหรือคุมขังจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของตัวเอง
กรณีของประเทศไทย แกนนำและผู้ชุมนุม 'ราษฎร' ที่เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและสถาบัน ทั้ง อานนท์ นำภา, ไมค์ - ภาณุพงศ์ จาดนอก, จัสติน - ชูเกียรติ แสงวงศ์ และล่าสุด รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ พอร์ท ไฟเย็น - ปริญญา ชีวินกุลปฐม ต่างติดเชื้อโควิดกันทั้งหมด หลังจากถูกคุมตัวฐานกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 (หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และยุยงปลุกปั่น) แม้จะเป็นการคุมตัวทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิพากษาความผิด
คนกลุ่มนี้ถูกปฏิเสธการประกันตัวหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีที่คนกลุ่มนี้ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องร้ายแรง และ “มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ก็อาจจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก”
ล่าสุดมีข่าวว่าผู้ต้องขังเกือบ 2,000 รายในทัณฑสถานหญิง เป็นผู้ติดเชื้อโควิดช่วงเดียวกับที่ทราบข่าวของรุ้ง ปนัสยา บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจำทั่วประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก่อนหน้านี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจำที่จังหวัดนราธิวาส เชียงใหม่ และฉะเชิงเทรา มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยราย แต่ปัญหาความแออัดในเรือนจำยังไม่ได้รับการแก้ไข
‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รมว.ว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน มี.ค.ว่าอาจสร้างเรือนจำเพิ่มเพื่อรองรับ ‘นักโทษการเมือง’ โดยเฉพาะ แต่ปัญหาผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดที่ตรวจพบนับพันรายในวันเดียวเมื่อ 12 พ.ค.2564 บ่งชี้ว่าเรือนจำแออัดของไทยอาจกลายเป็น ‘ระเบิดเวลา’ ที่รอการปะทุ และการสร้างเรือนจำเพิ่มอาจถอดชนวนได้ไม่ทันเวลา