Skip to main content

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ติดโควิดในเรือนจำ ทางทีมทนายจะดำเนินการขอให้ศาลไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อีกครั้ง หากศาลอนุญาตให้ไต่สวนและปล่อยตัวชั่วคราว ภาณุพงศ์จะได้ออกมารักษาตัวโรงพยาบาลนอกเรือนจำ

โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ทีมทนายได้ยื่นขอศาลไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หรือไต่สวนในห้องอื่นที่ไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณาคดี แต่ศาลแจ้งเป็นเชิงว่าไม่สามารถกระทำการไต่สวนได้ จึงส่งตัวภาณุพงศ์กลับเรือนจำ นรเศรษฐ์ยังกล่าวต่อว่า หากครั้งนี้ศาลไม่อนุญาตให้ไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ภาณุพงศ์ก็ต้องกลับไปเผชิญชะตากรรมแพร่ระบาดขอโควิด-19 ในเรือนจำ ซึ่งภาณุพงศ์มีความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืดมาแล้วกว่า 6 ปี


'ทนายนรเศรษฐ์' ติดโควิด แต่ยังมีทีมทนายช่วยยื่นประกันผู้ต้องขัง


ขณะที่กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับทราบผลตรวจเชื้อพบว่า นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ซึ่งเป็น 1 ในทีมทนายฯ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ส่วนตนเเละแม่ของรุ้ง ปนัสยา ติดเชื้อโควิดไปก่อนหน้านั้นผลตรวจไม่พบเชื้อ ในส่วนของคดีความปักหมุดที่มีนัดสืบพยานครั้งเเรกวันที่ 19 พ.ค. 2564 คงต้องขอศาลเลื่อนออกไปเพราะจำเลยตรวจพบเชื้อโควิดหลายคน ส่วนพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ก็ยังป่วยอยู่ 

ส่วนทีมทนายคนไหนที่สัมผัสกับปนัสยา ซึ่งรวมถึงตนด้วยก็ต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการ เเต่ในส่วนคดีที่จะมีการยื่นประกันเเกนนำเเละเเนวร่วมที่เหลือไม่ต้องเป็นห่วงทางศูนย์ทนายยังมีทนายความอีกหลายคนที่ไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อก็ยังทำงานเพื่อช่วยพวกเขาออกมาได้ 

อย่างเคสของภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 6 ซึ่งติดเชื้อโควิดอยู่ในเรือนจำ วันนี้เราก็ยื่นขอให้ศาลมีการไต่สวนผ่านวีดีโอคอนเฟอรเรนซ์ ก็รอดูอยู่ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไรในวันนี้ (13 พ.ค.)


'ราชทัณฑ์' แจงยอดสะสมผู้ติดโควิดในคุก นับจากการเริ่มระบาด เม.ย. 2564 


อายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ค. 2564) พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระรอกใหม่ในเดือน เม.ย. เป็นต้นมา และผู้ติดเชื้อทั้งหมด ได้รายงานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำจะดำเนินการย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายในทันที และจะมีการแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขังว่าต้องการแจ้งญาติหรือไม่ พร้อมทั้งเร่งขยายผลการสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อดังกล่าวไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วัน และ 14 วัน และในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือเป็นกลุ่มสีเขียว เรือนจำใดที่มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมากสามารถขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำภายใต้ความเห็นชอบของฝ่ายปกครองพื้นที่สาธารณสุขจังหวัด โดยจะต้องจัดเตรียมบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม

อายุตม์ กล่าวต่อว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว คือ 1.Bubble and Seal เรือนจำที่มีการระบาดใหญ่จะลดการรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ลง โดยส่งเรื่องพิจารณาให้ศาลทราบและพิจารณาหนทางต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ รวมถึงการไต่สวนทางระบบ Conference เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผู้ต้องขังไปศาล 2.คัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังเข้าใหม่ ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และเร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป และ 3.เจ้าหน้าที่เรือนจำทุกแห่งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำชับให้อยู่ในพื้นที่บ้านพักลดการสัมผัสกับครอบครัว และต้องเข้ารับตรวจ Swab ค้นหาการติดเชื้อที่อาจรับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวโดยวิธี RT- PCR ทุก 14 วัน 

ด้าน วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในการแพร่ระบาดครั้งนี้ คือเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความไวต่อการติดเชื้อได้สูง แสดงอาการช้า และมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ที่กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญ อีกทั้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อาจจะมีบุคลากรเฉพาะด้านที่ไม่เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด 

ซึ่งได้มีการเร่งจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเพิ่มเติมได้แก่ เวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัส Favipiravir ที่ยังอยู่ในระหว่างการขอรับการอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ เช่น โรงเรียนแพทย์ต่างๆ องค์การเภสัชกรรม, ยากลุ่มพิเศษอยู่นอกบัญชียาหลักซึ่งมีราคาสูง (High cost) อยู่ในระหว่างขออนุมัติการจัดซื้อจากกรมราชทัณฑ์, อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) พร้อมระบบ High flow oxygen จำนวนอย่างน้อย 5 -15 เครื่อง, วัสดุในการตรวจคัดกรองเชื้อ เช่น ชุด PPE ชุด Rapid test สำหรับตรวจ Antigen และ Antibody, พัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น พัดลม (อาจเป็นพัดลมไอน้ำถ้ามีการบุพลาสติกใสผนังลูกกรงห้อง) โทรทัศน์ เพื่อสร้างความสงบใจในโอกาสที่เจ็บป่วยแล้วมากักตัวอยู่ร่วมกันจำนวนมาก รวมถึงระบบไฟฟ้า และประปา น้ำยาทำความสะอาด ของใช้อื่น ๆ และระบบการกำจัดขยะติดเชื้อที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการจัดหาเพื่อเตรียมความพร้อม