Skip to main content

ศาลรับฏีกาคดีที่ครอบครัว 'ชัยภูมิ ป่าแส' ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก กรณีทหารวิสามัญ หลังต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 5 ปี 10 เดือน ทนายความ คาดศาลจะใช้เวลาในการพิจาณากว่า 6  เดือนก่อนจมีคำพิพากษา ด้านครอบครัวประสานเสียงมีความหวังและพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้จนถึงที่สุด 

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชนของครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ถูกทหารด่านบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก Protection International   (PI) ทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มดินสอดี ได้เดินทางเข้าฟังคำสั่งศาลฎีกา ในคดีที่นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ ยื่นฟ้องเมื่อปี พ.ศ. 2562 ต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ 

การยื่นฎีกาของนาปอยในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26  ม.ค.  2565 โดยได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ ยกฟ้องฝ่ายกองทัพบกเพราะเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงชัยภูมิ ป่าแส นั้น เป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กองทัพบกจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย  ซึ่งหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ครอบครัวและทนายความได้เห็นต่างกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จนนำมาสู่การยื่นฎีกาในครั้งนี้ ซึ่งประเด็นสำคัญดังนี้ 

การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ทหารป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จำเป็นต้องพิจารณาในสองประเด็น โดยประเด็นแรกต้องพิจารณาว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือไม่ หากศาลฎีกาพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ได้บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วจะเห็นได้กว่าการกระทำของชัยภูมิตามที่เจ้าหน้าที่ทหารเบิกความถึงนั้นขัดแย้งกับพยานหลักฐานผลตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของผู้ตายจากวัตถุระเบิดอย่างชัดแจ้ง จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลฎีกาเชื่อถือรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้นจึงฟังได้ว่าภยันตรายที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวอ้างนั้นไม่มีและไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง  

ประเด็นที่สอง เจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจอ้างความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปมาใช้วินิจฉัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารคนนี้วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ถืออาวุธและมีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ ย่อมจะต้องมีวิจารณญานสูงกว่าวิญญูชนทั่วไป เพราะการปฏิบัติหน้าที่อาจก่อความเสียหายให้กับประชาชนมากกว่าวิญญูชน 

ซึ่งภายใต้หลักการพิจารณาทั้งสองประการจะเห็นได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธสงครามยิงชัยภูมิบริเวณต้นแขนซ้ายซึ่งอยู่ระดับเดียวกับทรวงอกที่เป็นอวัยวะสำคัญ ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนสงครามมีอำนาจทำลายล้างสูง และย่อมจะทำให้ชัยภูมิถึงแก่ความตายได้ เจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงย่อมมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุแม้จะยิงเพียงนัดเดียวก็ตาม

ด้วยเหตุผลพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่โจทก์ ร้องต่อศาลฎีกา ครอบครัวชัยภูมิจึงขอให้ศาลฏีกา มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โดยพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและให้ครอบครัวได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่พึงได้รับ

ทั้งนี้ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาที่ทนายความและครอบครัวของชัยภูมิได้ยื่นไป พร้อมทั้งศาลฎีกาได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้กับครอบครัวชัยภูมิ และกองทัพบกซึ่งเป็นจำเลยต้องยื่นแก้คำฎีกามาภายใน 15 วัน ส่งให้ศาลชั้นต้นเพื่อรวบรวมสำนวนและส่งคืนศาลฎีกาเพื่อดำเนินการต่อไป 

รัษฎาทนายความของครบอครัว ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีว่า วันนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งลงมาว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และสั่งรับฎีกาของโจทก์ ดังนั้นคดีก็อยู่ระหว่างที่จะต้องให้กองทัพบกทำการแก้ฎีกาเข้ามาภายใน 15 วัน ซึ่งคำสั่งศาลวันนี้ก็เป็นคำสั่งสั้นๆที่ถือว่าศาลท่านได้ให้ความยุติธรรมกับประชาชนให้ได้สู้ถึงชั้นฎีกานับว่าเป็นเรื่องที่ดี ก็ต้องขอบคุณองค์คณะของศาลฎีกาที่รับฎีกาของแม่ชัยภูมิด้วย โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะพิจารณาทั้งคำฎีกาและคำแก้ฎีกาของกองทัพบก ถ้ามีนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาศาลก็จะมีหมายแจ้ง ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 6  เดือนขึ้นไป ตนคิดว่าศาลน่าจะพิจารณาอย่างละเอียด 

"ผมรู้สึกว่าครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส แม้เขาจะมีฐานะที่ยากจน แต่เขาเข้าใจว่าคนเราจะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อสู้ให้ถึงที่สุด เวลาคณะทนายความอธิบายให้เขาเข้าใจเขาก็ตั้งใจที่จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกเขา" ทนายความสิทธิมนุษยชนของครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส ระบุ 

รัษฎา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คิดว่าคดีวิสามัญฆาตกรรมมีความสำคัญเพราะว่าฝ่ายหนึ่งเป็นประชาชนที่เสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นองค์กรของรัฐจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้นคดีวิสามัญฆาตกรรมมีความสำคัญตั้งแต่ชั้นของพนักสอบสวนต้องร่วมทำการสอบสวนพร้อมกับพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการเมื่อกฎหมายมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ทำเพื่อผดุงความยุติธรรม พนักงานอัยการก็ต้องทำให้เต็มที่ตั้งแต่ชั้นสอบสวน  ในคดีนี้แต่ละคนมีหน้าที่ที่ควรทำก็ต้องไปตรวจดูว่าแต่ละคนได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ 

ขณะที่ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ก่อตั้งกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่) ซึ่งเป็นผู้ดูแลชัยภูมิกล่าวว่า อยากขอบคุณทีมทนายความและหลายหน่วยงานที่ยังร่วมต่อสู้กับครอบครัวในกรณีนี้อยู่ และขอบคุณศาลฎีกาที่รับฎีกาของครอบครัว แม้ว่าหลายนัดที่ผ่านมาเราจะยังไม่เห็นความเป็นธรรม แต่ครั้งนี้ทำให้ครอบครัวได้เห็นความหวังในการต่อสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และแม้ตลอดเวลาของการต่อสู้พวกเราจะเหนื่อยและได้รับผลกระทบกับครอบครัวอย่างมาก แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาพวกเราก็ยังยืดหยัดที่จะสู้ต่อ โดยเฉพาะแม่ของชัยภูมิที่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เพราะขาดเสาหลักของบ้านอย่างชัยภูมิ แต่ก็ไม่ทำให้แม่หมดแรงพลังที่จะสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกเช่นกัน 

ขณะที่ยุพิน ซาจ๊ะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรัก ซึ่งเป็นผู้ดูแลชัยภูมิด้วยเช่นกันกล่าวเพิ่มเติมว่า  ตอนแรกเราก็นึกว่าจะไม่มีความหวังแล้ว แต่พอทราบข่าวว่าศาลฎีการับฎีกาของแม่ชัยภูมิ ทำให้เรามีความหวังกันเพิ่มมากขึ้น มีพลังที่จะสู้ต่อมากขึ้น เราอยากให้แม่ของชัยภูมิได้รับค่าชดเชย เพราะแม่ชัยภูมิไม่เหลือใครแล้ว แม่เขาเสียลูกจากการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อยเขาควรได้รับความเป็นธรรมด้วยการได้รับเงินชดเชยเยียวยาเพื่อให้แม่เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ชดเชยเยียวยาเพื่อทดแทนจากการที่เขาต้องเสียลูกที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเขาด้วย 

ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 5 ปี 10 เดือนแล้ว ที่ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม  ซึ่งภายหลังเกิดเหตุขึ้นครอบครัวของชัยภูมิ ได้เดินหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับชัยภูมิ ทั้งการทวงถามเรื่องกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ จากเจ้าหน้าที่ จนนำมาสู่การยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ โดย วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง และให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายตามคำฟ้องของมารดานายชัยภูมิ  และครอบครัวของชัยภูมิพร้อมทั้งทนายความจึงเดินหน้าขอยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลต่อไป โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ศาลแพ่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เป็นวันที่ 26 มกราคม 2565 และในวันที่ 26 มกราคม 2565 ศาลอุทธณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ “ยกฟ้อง” พร้อมมีคำวินิจฉัยว่า ทหารใช้ปืนยิงนายชัยภูมิเพื่อป้องกันตัวเองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งตำแหน่งที่ทหารยิงนายชัยภูมิคือต้นแขนซ้าย เป็นตำแหน่งยิงที่บอกเจคนาว่า ไม่ได้ประสงค์แก่ชีวิต และในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ทีมทนายความของครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส ได้ขออนุญาตยื่นฎีกาจน ศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาในคดีนี้