Skip to main content

นาหวะ จะอื่อ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่) ที่ดูแลและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวงวิสามัญฆาตกรรม  วานนี้ (17 ส.ค.) เดินทางเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีที่ น.ส. นาหวะได้ยื่นอุทธรณ์คำร้องที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544  ที่ยกคำขอในการอนุมัติค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายในระหว่างที่เธอถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เธอถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีของ ชัยภูมิ ป่าแส

คดีของ นาหวะ สืบเนื่องมาจากวันที่ 29 พ.ค. 2560 เป็นวันที่ นาหวะ ถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านของไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งทั้ง ไมตรี และ นาหวะเป็นผู้ดูแล ชัยภูมิ ป่าแส  ขณะนั้นที่มีการตรวจค้นดังกล่าว ไมตรี ไม่อยู่บ้านเพราะกำลังเดินทางกลับจากการประชุมกับผู้แทนพิเศษว่าด้วยนักปกป้องสิทธิฯของสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ ในกรณีการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม

ผลการค้นบ้านไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ แต่เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับ นาหวะ ที่อยู่บ้านในขณะนั้น ในข้อหาตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเชื่อมโยงมาจากกรณีนายชัยภูมิ ปาแส ภายหลังจากนั้น น.ส.นาหวะ ถูกควบคุมตัวไปขออำนาจฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งศาลอนุญาติให้ฝากขัง โดยนาหวะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นศาล ซึ่งมีการพิสูจน์ว่า นาหวะ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น และเกี่ยวกับการประกันตัวของ นาหวะ  ครอบครัวก็ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ น.ส.นาหวะ ได้รับการประกันตัว

โดยต้องใช้หลักทรัพย์ประมาณ 2 ล้านบาท ครอบครัวจึงยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม ในเวลาต่อมากองทุนยุติธรรมก็อนุมัติหลักทรัพย์การประกันตัว พร้อมทั้งดำเนินการยื่นประกัน นาหวะ ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่ศาลไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วดังกล่าว 
จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน 2561  ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง เป็นวันที่ น.ส.นาหวะ ได้อิสรภาพคืนหลังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถึง 331 วัน 

ในปี 2562 นาหวะ จึงยื่นขอรับค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่าย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ เนื่องจากในช่วงที่ นาหวะ ต้องถูกควบคุมตัวนั้น มีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งค่าข้าวของเครื่องใช้ ค่าเดินทางไปเยี่ยม นาหวะ เพื่อเติมกำลังใจให้กันและกัน และเป็นช่วงเวลาที่แม่และลูกที่ยังเล็กก็จะได้เจอกันในช่วงเวลาสั้นๆ หนี้สินของครอบครัวก็เพิ่มขึ้น เพราะรายจ่ายเพิ่มแต่รายได้ลดลง หรือการสูญเสียอิสรภาพ ซึ่งในช่วงเวลานั้นควรเป็นช่วง นาหวะ จะทำมาหากินและสามารถไปทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์กับเยาวชนของกลุ่มด้วยใจรัก(รักษ์ลาหู่)ได้
เมื่อเธอได้ยื่นขอใช้กลไกตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯแล้วนั้น คณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็ไม่อนุมัติคำขอ นาหวะจึงขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์

โดยวานนี้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเห็นพ้องกับคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาไม่จ่ายค่าทดแทนให้กับนาหวะตามคำอุทธรณ์ โดยศาลได้ให้เหตุผลประกอบว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่หมายเลขแดงที่ 1571/2561 คดีถึงที่สุดแล้วโดยให้ยกฟ้องนาหวะ เนื่องมาจากพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการ (โจทก์) นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า น.ส.นาหวะ (จำเลยในคดีดังกล่าว) กระทำความผิดตามฟ้องของพนักงานอัยการ(โจทก์) จึงต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ น.ส.นาหวะ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ซึ่งถือได้ว่าพยานหลักฐานของพนักงานอัยการ (โจทก์) ที่นำสืบไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของนาหวะ จึงมิใช่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านาหวะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของน.ส.นาหวะ ไม่เป็นความผิด นาหวะจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาตามคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญามีคำวินิจฉัยให้ยกคำขอนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคณะกรรมการฯ จึงพิพากษายกอุทธรณ์คำขอดังกล่าว

นาหวะ กล่าวหลังจากฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว ว่า รู้สึกเสียใจเหมือนเรามีความหวังว่าจะต้องได้รับการเยียวยา เพราะระหว่างที่เราถูกคุมขังจากข้อหาที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ นอกจากการทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจที่ถูกพรากอิสรภาพในการที่เราจะได้ใช้ชีวิตไปแล้ว เราต้องสูญเสียโอกาสในอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่แม่ในการดูแลลูก โอกาสในการที่จะได้อยู่กับครอบครัว งานการที่เคยทำก่อนถูกจับก็ไม่สามารถกลับไปทำได้อีก ทำให้เราเสียโอกาสในการหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวของเรา ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเราแต่เกิดขึ้นกับครอบครัวและคนใกล้ชิดเราด้วย 

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ซึ่งทำงานเพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เห็นว่า  ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม หลักการสำคัญคือการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 29   วรรค 2  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่ง น.ส.นาหวะ ในฐานะที่เป็นจำเลยในคดียาเสพติด ศาลชั้นต้นยกฟ้องยกประโยชน์แห่งความสงสัย และโจทก์คืออัยการไม่ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์เพื่อนำประเด็นชี้ในศาลสูง  เราจึงเห็นว่าการยกฟ้องแม้จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยประกอบกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว นาหวะ ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีและได้ระบุในรัฐธรรมนูญไว้แล้ว 

ปรานม กล่าวว่า การพิจารณาค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้กับบุคคลที่เคยตกเป็นจำเลยและภายหลังพิพากษายกฟ้อง เราหวังไว้ว่าทั้งคณะกรรมการฯ และศาลจะพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาให้เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิพื้นฐานสำคัญในการให้การคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนธรรมดาอย่าง      

ขอบคุณภาพ จิตรภณ ไข่คำ