ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก รัษฎา มนูรัษฎา, ปรีดา นาคผิว ทนายความจากสมาคมนักฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็นทนายของครอบครัว ชัยภูมิ ป่าแส ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ พร้อมด้วยองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เครือข่ายเพื่อนชัยภูมิ กลุ่มดินสอสี และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้ารับฟังคำการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ หลังจากวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง และให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายตามคำฟ้องของมารดาชัยภูมิ แต่ครอบครัวของชัยภูมิและทนายความจึงเดินหน้าขอยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลจนนำมาสู่การนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันนี้
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมทางสังคมชาติพันธุ์ลาหู่ พร้อมเพื่อนหนึ่งคนขับรถยนต์ผ่านด่านตรวจบ้านรินหลวง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจค้นยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงชัยภูมิ จนเสียชีวิต โดยภายหลังระบุว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพ ชัยภูมิ ว่า "พฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง โดยกระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย"
รัษฎา กล่าวว่า วันนี้ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ได้มีหนังสือแจ้งมายังศาลแพ่งให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 8.30 น. เหตุเพราะศาลอุทธรณ์ยังจัดทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้มูลคดีนี้เหตุเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง ชัยภูมิ ป่าแส ถึงแก่ความตายที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเป็นการกระทำเพื่อป้องตัวโดยชอบ คดีนี้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารกองทัพบกกล่าวอ้างว่าทหารใช้อาวุธปืนยิงจริง แต่จำเป็นต้องยิงเพื่อป้องกันตัวเพราะชัยภูมิมีมีดและมีระเบิดสังหารจะขว้าง ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัว ทีนี้ฝ่ายที่ยกข้อต่อสู้ขึ้นว่าเขาจำเป็นต้องป้องกันตัว เขามีภาระการพิสูจน์ทางกฎหมายว่าป้องกันตัวโดยชอบหรือไม่
ปรีดา กล่าวว่า สำหรับกรณีการเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ของศาลในวันนี้ โดยศาลได้นัดฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยมาฟังคำสั่งเพียงว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปเป็นมกราคมปีหน้า (2565) เราเห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลใช้กระบวนการพิจารณาคดีที่ก่อให้เกิดความลำบากต่อประชาชน ต่อคู่ความโดยไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลา ถ้าแม่ของชัยภูมิมาจากเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แค่มาฟังว่าคดีเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปในปีหน้านั้นจะรู้สึกอย่างไร ตนเลยได้ขอให้ศาลหรือผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ว่ามาเปิดผนึกคำสั่งของศาลอุทธรณ์วันนี้เลย ศาลแพ่งได้รับคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนมาหกวันแล้ว แล้วว่าศาลอุทธรณ์สั่งให้เลื่อนคดีไป เพราะเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือใช้วิธีสั่งให้เจ้าพนักงานศาล เจ้าหน้าที่ศาลแพ่งโทรไปแจ้งทนายความคู่ความทั้งสองฝ่ายเลยว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาลงมาขอให้ไปนัดวันที่ 26 ม.ค. ทีเดียวเลยก็จะง่ายและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเสียเวลา
ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมชื่อว่ากลุ่มด้วยใจรักษ์ (กลุ่มรักษ์ลาหู่เดิม) และเป็นผู้ดูแลชัยภูมิ กล่าวว่า ตนก็ยังหวังว่าจะได้ความยุติธรรมกับระบบกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา แต่ละครั้งก็เหมือนถูกกลั่นแกล้ง เราอยู่กองผักปิ้งแต่นัดให้ไปกรุงเทพ เราไปเสร็จก็ถูกเลื่อนนัดแบบนี้ แม่นาปอยก็บอกกับตนว่าแม่เดินทางไกลไม่ไหวแล้วเพราะแก่แล้ว ก็ยังดีที่เราไม่ได้ลงไปครั้งนี้ เพราะไปก็ต้องเสียค่ารถค่ารา เสียเวลาและความเหนื่อย เพราะเราหลายชีวิต ตนอยากให้พิจารณาให้เสร็จสักที อยากให้มีความชัดเจนถ้าจะเลื่อนนัดก็ควรแจ้งหรือบอกครอบครัวก่อน ความยุติธรรมมันไม่ควรที่จะได้มาด้วยความลำบากขนาดนี้ ซึ่งสรรพสิ่งบนโลกมันตั้งอยู่บนความจริง ถ้าเรามีใจที่อยากจะให้ความยุติรรมจริงๆ ก็ไม่ควรจะทำให้มันยุ่งยากขนาดนี้สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย อันนี้มันก็ยากเกินไปสำหรับพวกเราที่จะต้องต่อสู้ในกระบวการยุติธรรรม มันรู้สึกว่าเป็นหนทางที่ยากเกินกว่าที่มันจะเป็น แต่พวกเราก็จะไม่ยอมแพ้แม่นาปอยบอกว่าจะสู้จนถึงขั้นตอนสุดท้าย
ด้านปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า กรณีนี้ยังดีที่ยังได้รับความสนใจจากสาธารณะ เพราะเข้าใจว่าผู้คนในสังคมมีการติดตามคดีมาโดยตลอด เพราะสิ่งทีเกิดขึ้นกับน้องชัยภูมิอาจจะเกิดใครก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นึกถึงสุภาษิตทางกฎหมายที่กล่าวว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม" (Justice delayed, justice denied) ที่สำคัญคือคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ (CEDAW committee) ได้แสดงความห่วงใยถึงอุปสรรคนานัปการที่ดํารงอยู่สําหรับผู้หญิงและเด็กหญิงในการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพเมื่อมีการละเมิดสิทธิของตนตั้งแต่ปี 2560 ปีเดียวกันที่ชัยภูมิถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง) คณะกรรมการฯ ห่วงใยผู้หญิงชนบท ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และผู้หญิงพิการ ปรากฎว่าสี่ปีผ่านมากระบวนการยุติธรรมยังมิได้ขจัดอุปสรรคนานัปการที่ดํารงอยู่สําหรับผู้หญิงและเด็กหญิงในการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพเลย