Skip to main content

หมู่บ้านพิพลันตรี รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย มีประเพณีว่า ทุกครั้งที่มีเด็กผู้หญิงเกิดในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะร่วมกันปลูกต้นไม้ 111 ต้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศอินเดียมักเต็มไปด้วยข่าวการข่มขืน เด็กผู้หญิงถูกทรมาน และฆาตกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความสะเทือนใจให้กับคนที่ได้เห็นข่าวเหล่านี้เป็นอย่างมาก แต่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐราชสถานของอินเดีย กลับมีเรื่องราวน่ารักๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับคนทั่วไป เนื่องจากพวกเขามีประเพณีที่น่าทึ่งในการช่วยเหลือดูแลเด็กผู้หญิง และเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กัน และหมู่บ้านแห่งนั้นมีชื่อว่า ‘หมู่บ้านพิพลันตรี’

หมู่บ้านพิพลันตรี คือหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในเขตเมืองราชสามัญ ทางตอนใต้ของรัฐราชสถาน ชาวบ้านของที่นี่มีประเพณีที่ช่วยส่งเสริมสิทธิของเด็กผู้หญิง พร้อมๆ กับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน โดยทุกครั้งที่มีเด็กผู้หญิงถือกำเนิดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะร่วมกับปลูกต้นไม้ 111 ต้น จากนั้นชาวบ้านทุกคนจะร่วมกันดูแลต้นไม้เหล่านั้นจนเติบโตและออกดอกออกผล ก่อนจะมอบต้นไม้ทั้งหมดให้กับเด็กหญิงคนนั้นๆ
 


ประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับประเด็นทางสังคม 2 เรื่อง คือการเสริมพลังให้กับเด็กผู้หญิงและการปลูกป่า ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านพิพลันตรีได้ทำแบบนี้ติดต่อกันมานานมากกว่า 15 ปี และสามารถช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สตรีนิยมเชิงนิเวศในรูปแบบนี้ยังเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิเด็กผู้หญิงให้กับชาวบ้าน ซึ่งนั่นนำไปสู่การปฏิบัติที่มากกว่าการปลูกต้นไม้ลงดิน แต่เป็นการหมั่นรดน้ำพรวนดิน และดูแลต้นไม้ให้เติบโตเหมือนกับการดูแลลูกสาว

ชยัม ซุนดาร์ ปาลิวัล อดีตนักบวชของหมู่บ้านและผู้ริเริ่มประเพณีดังกล่าว ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กผู้หญิงเกิดโดยเฉลี่ย 60 คนในหมู่บ้าน และเขาก็อยากทำอะไรเพื่อเป็นการรำลึกถึงลูกสาวของเขาที่เสียชีวิตจากอาการขาดน้ำ เมื่อเธออายุได้ 18 ปี นับตั้งแต่สูญเสียลูกสาวไป ชยัมจึงให้คำมั่นสัญญากับตัวเองว่าจะทำให้หมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อไม่ให้หมู่บ้านขาดแคลนน้ำอีกต่อไป

“ยิ่งเราปกป้องสิ่งแวดล้อมมากเท่าไร ธรรมชาติก็จะตอบแทนเรามากขึ้นเท่านั้น คนที่ยินดีร่วมมือกันธรรมชาติไม่ต้องกังวลอะไร ธรรมชาติให้พลังแก่เรา เด็กผู้หญิงให้พลังแก่เรา การกระทำของเรากฎให้พลังแก่เราด้วยเช่นกัน” ชยัมกล่าว

ปัจจุบันนี้ เด็กผู้หญิงที่มีชื่อติดอยู่บนต้นไม้จะมาร่วมงานฉลองรักษะบันธานทุกครั้ง เพื่อผูกกำไลพิเศษให้กับ ‘ต้นไม้พี่น้อง’ ของพวกเธอ ซึ่งนั้นคือสัญลักษณ์ของความผูกพันชั่วนิรันดร์ระหว่างต้นไม้กับเด็กผู้หญิง

ไม่เพียงเท่านั้น การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านอีกด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รับการปรับปรุง ห้องน้ำถูกสร้างเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับไฟฟ้าที่ถูกติดตั้งเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดอาชญากรรมก็ลดน้อยลง ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

อาจกล่าวได้ว่า ประเพณีของหมู่บ้านพิพลันตรีแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีในการกอบกู้โลก และเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอิทธิพลในการเสริมพลังให้กับเด็กผู้หญิงทุกคนที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้