Skip to main content

Libertus Machinus
 


หลังกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ผ่านเรียบร้อยดีในไทย การเรียกร้องของฝั่ง LGBTQ+ ก็ดูจะยกระดับ "การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม" ไปอีกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ หรือกระทั่งประเด็นที่เคยเป็นประเด็นร้อนในหลายประเทศอย่างการทำ "ห้องน้ำไม่แยกเพศ"

แน่นอน เราสามารถเล่าประวัติศาสตร์การแยกเพศห้องน้ำสาธารณะได้ยาวๆ เลย เพราะในโลกตะวันตก ห้องน้ำสมัยแรกก็ไม่แยกเพศ ผู้หญิงต้องใช้ร่วมกับผู้ชาย ซึ่งเหล่านักสตรีนิยมยุคแรกจะต่อสู้จนเกิด "ห้องน้ำหญิง" ที่ผู้หญิงจะเข้าได้อย่างปลอดภัยมาในที่สุด จนสุดท้ายเวลาล่วงเลยมาศตวรรษที่ 21 นักสตรีนิยมรุ่นเก่าอย่าง J.K. Rowling ที่ชูคุณค่าความเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ของ "ห้องน้ำหญิง" ที่หญิงแท้โดยกำเนิดเท่านั้นควรจะเข้าได้ ก็ต้องมาต่อสู้กับเหล่า "นักกิจกรรมหญิงข้ามเพศ" ที่ยืนยันว่า "หญิงข้ามเพศ" จะควรจะต้องมีสิทธิ์เข้าห้องน้ำหญิงได้เช่นกัน

เราจะไม่พูดถึงประเด็นนี้ เพราะทุกวันนี้ในโลกตะวันตกก็ยังสู้กันอยู่ เรียกได้ว่าสถาบันหรือสถานที่ใดอยากดู "ก้าวหน้า" ก็จะเริ่มทำให้น้ำแบบไม่ระบุเพศ (เช่น ตามมหาวิทยาลัย) แต่สถาบันไหน "หัวเก่า" หน่อยก็จะไม่สนใจทำ

ภาวะแบบนี้ มันทำให้คนอาจคิดว่าการมีหรือไม่มีห้องน้ำไม่ระบุเพศดูจะเป็น "ปัญหาโลกที่หนึ่ง" แต่ในความเป็นจริง ประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรมหาศาลประเทศหนึ่ง ก็มีการทำ "ห้องน้ำคนข้ามเพศ" อย่างจริงจัง และประเทศที่ว่านั้นคือ อินเดีย


ที่ทางของเพศที่ 3 ในทางประวัติศาสตร์ของเอเชียใต้

 

อินเดียไม่ใช่ประเทศแรกๆ ในเอเชียแน่ๆ ที่คนจะนึกถึงเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQ+ เพราะอย่างน้อยๆ การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันก็ยังไม่มีกฎหมายอินเดียรองรับ (มีการสู้ไปถึงศาสสูง ก่อนศาลสูงจะยืนยันว่า เพศเดียวกันแต่งงานกันไม่ได้ในเดือนตุลาคม 2023) แต่กลับกัน คน "เพศที่ 3” ในอินเดียกลับน่าจะมีห้องน้ำแบบเฉพาะใช้มากกว่า "เพศที่ 3” ในหลายๆ รัฐในสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ

ทำไมเป็นแบบนี้ ?

ต้องแยกตอบเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกคือ ประเด็นเรื่องสถานะของ "กะเทย" ในสังคมอินเดีย ประเด็นที่สองคือ เรื่องความจริงจังในการสร้าง "ห้องส้วม" ของรัฐบาลอินเดีย

ประเด็นแรก ในวัฒนธรรมเอเชียใต้กลุ่มคนที่เรียกว่า Hijra เป็นกลุ่มคนที่มีอยู่แต่โบราณ ซึ่งนิยามของ Hijra ก็คือคนที่เพศกำเนิดเป็นชายแต่มีพฤติกรรมแบบผู้หญิง ซึ่งแปลว่า "กะเทย" ในภาษาไทยก็ตรงแล้ว โดยคนกลุ่มนี้คือเป็นกลุ่มคนขายขอบก็จริง  แต่ก็มีความเป็นกลุ่มก้อนและบทบาทที่ชัดเจนในสังคมมาตลอดประวัติศาสตร์

อาชีพดั้งเดิมของคนกลุ่มนี้คือ นักร้องนักเต้นตามพิธีกรรมต่างๆ พูดอีกแบบ สังคมอินเดีย "ยอมรับ" การดำรงอยู่ของ "กะเทย" มาเป็นพันปีแล้ว ซึ่งต่างจากหลายสังคมที่มองคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมต้องกำจัด

ปัจจุบันประเทศโซนเอเชียใต้ทั้งหมดก็มีการยอมรับ "กะเทย" ในบางระดับเพราะมีฐานวัฒนธรรมร่วมกันดังที่เล่ามา โดยในกรณีอินเดียในปี 2014 ทางศาลสูงอินเดียประกาศว่า "กะเทย" คือ "เพศที่ 3” ที่มีสถานะในทางกฎหมาย หรือพูดง่ายๆ ในเอกสารราชการอินเดียสามารถใส่เพศว่า "กะเทย" ได้ และรัฐบาลทั้งระดับกลางและท้องถิ่นของอินเดียก็ต้องให้สิทธิตามกฎหมายแก่เพศที่ 3 เท่าเทียมกับเพศอื่นๆ

นี่เป็นพื้นฐานที่ต้องเข้าใจก่อน เพราะวิธีคิดเรื่องเพศในสังคมเอเชียใต้ไม่เหมือนตะวันตกแน่ๆ สังคมอินเดียยอมรับว่าคนเกิดมาเป็น "เพศที่ 3” ในแบบนั้นเลย และไม่จำต้องมาคิดว่านี่คือ "คนข้ามเพศ" หรือ "หญิงข้ามเพศ" แบบตะวันตก เพราะเค้าคิดว่านี่คือสิ่งที่เค้าเกิดมาเป็นอยู่แล้ว ไม่ต้องมีการไป "ข้าม" อะไร หรือพูดง่ายๆ กะเทย ก็คือ กะเทย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่กะเทยก็มีสิทธิพลเมืองเท่ากับมนุษย์คนอื่น


นโยบายสร้างห้องส้วม และห้องน้ำสำหรับเพศที่ 3

 

ประเด็นที่สอง เราต้องรู้จักกับนโยบาย Swachh Bharat Mission (SBM) ก่อน

ทุกวันนี้นานาประเทศน่าจะจำ Narendra Modi ในฐานะของผู้นำที่นำอินเดียเข้าสู่ลัทธิชาตินิยมขวาจัด แต่สำหรับคนอินเดีย นายกผู้ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2014 คนนี้มีผลงานเด่น คือ การทำให้คนอินเดียเลิก "ขี้กลางทุ่ง" (open defecation)

สมัยที่ Modi ขึ้นเป็นนายกตอนแรก อินเดียเป็นชาติที่ "ห้องส้วม" น้อยมาก ซึ่งหลายคนก็คงได้ยินกิตติศัพท์การ "ขับถ่ายได้ทุกที่" ของคนอินเดียมาจากคนที่เคยไปเที่ยวอินเดียบ้าง

แน่นอนนี่ฟังดูไม่ศิวิไลซ์สิ้นดี และ Modi ก็ต้องการเปลี่ยนเค้าเลยมีนโยบายชื่อ Swachh Bharat Mission (SBM) ซึ่งแปลตรงๆ ว่านโยบาย "อินเดียสะอาด" ซึ่งถามว่าทำอะไร ง่ายๆ ก็คือการ "สร้างส้วม" และรณรงค์ให้คนเลิกขับถ่ายกลางแจ้ง

ถามว่าจริงจังแค่ไหน เอาง่ายๆ คือ นโยบายนี้ดำเนินมาตลอดทั้งสามสมัยที่ Modi เป็นนายก และจากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมารัฐได้สร้าง "ห้องส้วม" เพิ่มทั่วอินเดียกว่า 100 ล้านห้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังสร้างอยู่ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้คนอินเดียขับถ่ายเป็นที่เป็นทางทางเดียวกับนานาอารยประเทศ

ภายใต้นโยบายแบบนี้ แน่นอนว่ารัฐมีเงินในการสร้าง "ห้องส้วม" มากมายมหาศาล ซึ่งก็ "บังเอิญ" จริงๆ ที่ Modi เริ่มเป็นนายกพร้อมๆ ที่ศาลสูงอินเดียประกาศ "ยอมรับ" สถานะทางกฎหมายของ "เพศที่ 3” และนี่ก็ไม่แปลกเลยที่งบประมาณบางส่วนจะถูกเอามาสร้างห้องส้วมสำหรับเพศที่ 3 โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าตามข่าวในอินเดีย ช่วงปลายทศวรรษ 2010 จะมีข่าวมากมายว่ารัฐต่างๆ ในอินเดียจะมีการเปิด "ห้องน้ำสำหรับเพศที่ 3 ห้องแรกของรัฐ" และข่าวพวกนี้ก็มีมากแบบไม่หวาดไม่ไหวในช่วงดังกลุ่ม เพราะมันก็เป็นเรื่องใหญ่ระดับ "ปฏิวัติ" จริงๆ สำหรับประเทศที่ไม่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกันด้วยซ้ำ

แน่นอน ภาพที่อินเดียมีห้องน้ำ 3 เพศเรียงกันเป็นสิ่งที่ "ทรงพลัง" มากที่ทำให้อินเดียดูมีความ "ก้าวหน้า" ในด้านสิทธิ LGBTQ+ แต่ความเป็นจริงก็คือเหล่า "กะเทย" ในอินเดียก็ยังชี้ว่ามันมีปัญหาอีกมาก ซึ่งถ้าจะพูดสั้นๆ ก็คือ ห้องน้ำสำหรับ "เพศที่ 3” มีน้อยแบบไม่ได้สัดส่วนมากๆ

โดยเฉพาะถ้าคิดว่าประเทศนี้เพิ่งใช้เวลา 10 ปีสร้างส้วมเพิ่มไปกว่า 100 ล้านห้องเลย แต่เดินๆ ไปคือมันก็ไม่ได้เจอห้องน้ำสำหรับเพศที่ 3 กันง่ายๆ

เอาง่ายๆ ในปี 2023 กรุงเดลีซึ่งน่าจะเป็นเมืองที่มีห้องน้ำคนข้ามเพศมากที่สุดในอินเดียแล้ว ก็มีห้องน้ำคนข้ามเพศทั้งเมืองราวๆ 100 ห้อง และก็กำลังสร้างเพิ่มหลักร้อย ซึ่งมันฟังดูน้อยมากสำหรับประเทศที่มีศักยภาพจะสร้างห้องส้วมหลักล้านห้องให้สบายๆ ในปีๆ หนึ่ง

หรือแม้แต่ในเมืองที่ "ไฮเทค" ที่สุดในอินเดียอย่างบังกาลอร์ รัฐมีการสร้าง "ห้องน้ำเพศที่ 3” ห้องแรก แต่ไม่บอกใคร พอไม่มีคนเข้า เจ้าหน้าที่เลยล็อคเอาไว้ ซึ่งก็ทำให้คนยิ่งเข้าไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ก็ไม่แจ้งอะไรเลยนอกจากบอกว่า ถ้ามีคนมาถามก็จะเปิดให้ แต่ไม่มีคนเข้าก็เลยล็อค ประเด็นคือ ไม่มีใครในชุมชน "กระเทย" รู้เลยว่ามีห้องน้ำสร้างมาให้พวกเค้าแล้ว ซึ่งนี่เป็นสัญญาณว่ารัฐก็สร้างไปงั้นๆ เอา CPI แต่คนจะใช้จริงหรือไม่ ก็ไม่ได้สน

และนี่ก็ยังไม่นับว่าในหลายๆ เมืองมี "ไกด์ไลน์" เลยว่าให้พวก "เพศที่ 3” ให้ไปใช้ "ห้องน้ำคนพิการ" เพื่อความง่ายในการจัดการ เพราะ "ห้องน้ำคนพิการ" ก็มีอยู่แล้ว นี่ก็แค่เอาป้ายไปใส่เพิ่มก็มี "ห้องน้ำเพศที่ 3” แล้ว ซึ่งก็แน่นอน นี่สร้างความไม่พอใจในชุมชน LGBTQ+ ในระดับโลก เพราะมันเป็นการไปทรีตพวกเค้าเหมือนเป็น "คนพิการ"

ทั้งหมดนี้ประเด็นก็คือ ถึงอินเดียจะ "ยอมรับหลักการ" ว่า "เพศที่ 3” จะต้องมีห้องน้ำแยก หนทางจะมีห้องน้ำเพียงพอใช้ก็ยังห่างไกล และนี่คือก็ยังไม่ต้องไปพูดถึงการจะเรียกร้องทำให้อินเดียทำ "ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ" ในสไตล์ตะวันตก เพราะทำแบบนั้นคือผู้หญิงอินเดียไม่แฮปปี้แน่ๆ เพราะผู้หญิงอินเดียก็ต้องการ "พื้นที่ปลอดภัย" ที่ไม่มีผู้ชาย โดยเฉพาะในประเทศที่ถ้าอ่านข่าวอาชญากรรมจะมี "ข่าวข่มขืน" กันแบบรายวัน โดยในอินเดียก็เป็นที่รู้กันว่าจังหวะที่พวกนักข่มขืนเล็งจะเล่นงานผู้หญิง ตอนผู้หญิงจะไป "ปลดทุกข์" นี่แหละ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ต้องออกไป "กลางทุ่ง"

ดังนั้น สถานการณ์อินเดียน่าจะต่างออกไป ทำให้ "กระเทย" อินเดียก็ไม่ได้เรียกร้อง "ห้องน้ำไม่แบ่งเพศ" แบบในหลายประเทศ แต่ไปเน้นเรียกร้อง "ห้องน้ำเพศที่ 3” มากกว่า และระบบอินเดียก็น่าจะเป็นระบบ 3 ห้องน้ำไปอีกยาวนาน อย่างน้อยๆ ก็จนกว่าผู้หญิงอินเดียจะรู้สึกว่าการใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ชายจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัย

เพราะลองไปยืนยันว่า สังคมควรจะมีห้องน้ำแบบเดียวคือห้องน้ำไม่แบ่งเพศกับโลกตะวันตกสัก 100 ปีก่อน พวกเฟมินิสต์ยุคนั้นก็คงจะเซ็งๆ เช่นกัน


อ้างอิง
Why terms like ‘transgender’ don’t work for India’s ‘third-gender’ communities
Swachh Bharat Mission
Over 100 toilets constructed in city for transgender people, Delhi HC told
B’luru’s first transgender toilet: A story of neglect 
Trans people in India demand equal access to public toilets
Palghar: 3 injured in beach bike accident at Kelve beach
Patchy implementation of laws, lack of awareness, and stigma leave genderqueer Indians vulnerable to violence in their battle to fulfil a basic human need.
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน