Skip to main content

เมื่อใกล้หมดฤดูฝน ประเทศไทยก็กำลังจะเข้าฤดูฝุ่นพิษ โดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกยุคปัจจุบันที่หลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนับล้านคน

ล่าสุดงานวิจัยในอินเดียพบว่า การสูดอากาศที่มีอนุภาคฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกายในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายชนิดแล้ว ยังเพิ่มอัตราการเกิด “โรคเบาหวาน” ชนิดที่ 2 อีกด้วย

การศึกษาครั้งนี้มีขึ้นที่เมืองเดลีและเมืองเชนไนของอินเดีย พบว่า การสัมผัส PM2.5 เป็นเวลาหนึ่งเดือน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และหากมีการสัมผัส PM2.5 เป็นเวลานานหนึ่งปีหรือกว่านั้น จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น และพบว่าสำหรับการเพิ่มขึ้นของPM2.5 ทุกๆ 10มคก./ลบ.ม. ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 22%

การศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ใน British Medical Journal โดยนักวิจัยได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างของผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 12,000 คนในเดลีและเชนไนตั้งแต่ปี 2010 ถึงปี 2017 และวัดระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มตัวอย่างเป็นระยะ ร่วมกับใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและโมเดลการสัมผัสกับมลภาวะทางอากาศ

ขณะที่งานวิจัยที่เผยแพร่ใน Lancet วารสารทางการแพทย์รายสัปดาห์เก่าแก่ ระบุว่า อัตราการเป็นโรคเบาหวานของชาวอินเดียเพิ่มสูงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ และพบว่ามีผู้ป่วยเป็นเบาหวานในเขตเมืองมากกว่าในเขตชนบท

ดร.วี โมฮัน ประธานมูลนิธิวิจัยโรคเบาหวานมัทราสกล่าวว่า โรคอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวอินเดียในเขตเมืองมีอัตราการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าชาวอินเดียในชนบท แต่การศึกษานี้ทำให้พบสาเหตุใหม่ของโรคเบาหวานว่าเป็นผลจากมลภาวะทางอากาศด้วย

อีกการศึกษาหนึ่งกับกลุ่มตัวอย่างเดียวกันในเดลีพบว่าการสัมผัสกับ PM2.5 ในแต่ละปีในเดลีโดยเฉลี่ย 92มคก./ลบ.ม. ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น

การศึกษาแสดงให้เห็นว่าระดับ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยของอินเดีย ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การแข็งตัวของหลอดเลือดแดง การเกิดหัวใจวาย และหัวใจล้มเหลว

ทั้งนี้ PM2.5 ประกอบด้วยซัลเฟต ไนเตรท โลหะหนัก และคาร์บอน ซึ่งสามารถทำลายเยื่อบุหลอดเลือด และเพิ่มความดันโลหิตโดยทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ขณะเดียวกันยังรบกวนการทำงานต่อมไร้ท่อ และขัดขวางการผลิตอินซูลินของร่างกายอีกด้วย

อินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมลภาวะทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก ระดับ PM2.5 เฉลี่ยรายปีในเดลีอยู่ที่ 82-100 มคก./ลบ.ม. และในเชนไนอยู่ที่ 30-40 มคก./ลบ.ม.ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO ที่ 5 มคก./ลบ.ม. ขณะที่มาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติของอินเดียอยู่ที่ 40 มคก./ลบ.ม.