สรุป
- 'ธนาธร'มองยุบสภาตอนนี้ยังไม่เหมาะ-หวั่นสุญญากาศกลางวิกฤตโควิด แนะเปลี่ยนตัวนายกฯ มอบสองภารกิจ แก้โควิด-แก้ รธน.เหมาะกว่า
- โชว์วิสัยทัศน์ ศก. ชงรัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการลงทุนในความต้องการพื้นฐาน-สร้าง supply chain ใหม่สู่การจ้างงานในประเทศ-เงินไม่รั่วไหล
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดห้องสนทนาทางแอพพลิเคชั่น Club House ชวนประชาชนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ในหัวข้อ 'สร้างพันธมิตร ประคองธุรกิจพ้นวิกฤต' ต่อยอดจากการไลฟ์เฟซบุ๊กที่เคยได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วยการบริหารธุรกิจในสถานการณ์โควิด ผ่านการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
ธนาธร ระบุว่าในทางการเมือง หลายคนเริ่มพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาเกิดขึ้น ส่วนตัวเห็นว่าต่อให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม หากยุบสภาเวลานี้ กว่าที่จะได้รัฐบาลใหม่ขึ้นมาต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามเดือน ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ประเทศจะไม่มีรัฐบาลไม่ได้ แม้ว่าประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาลในปัจจุบันก็ตาม
อีกทางเลือกหนึ่งที่ตนเห็นว่าเป็นไปได้และเหมาะสมมากกว่า คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีเพียงสองภารกิจเท่านั้น คือ
1) จัดการวิกฤตโควิด ไม่ว่าจะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนเพิ่มและการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน
2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาเพื่อจัดการปัญหาใหญ่สองเรื่องนี้เท่านั้น หลังจากจัดการปัญหาโควิดและทำรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาแล้ว อาจจะกินเวลา 2 ปี พอดี จึงยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
โดยธนาธรคิดว่า สูตรนี้น่าจะดีกับประเทศมากกว่า คือแก้โจทย์ทั้งการเมืองและโควิดไปในคราวเดียวกัน เพราะแน่นอนที่สุด ต่อให้แก้ปัญหาโควิดจบ เราก็จะมาเจอกับดักการเมือง ที่ไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองฝ่ายอื่นเข้ามามีอำนาจได้อีก
นอกจากนี้ ธนาธรระบุว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีมากของประเทศไทยที่จะลงทุน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องวินัยทางการคลังมากเกินไปนัก ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้ไม่มีประเทศไหนบนโลกที่สนใจเรื่องวินัยทางการคลังแล้ว ทุกคนแข่งกันอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจหมด เช่นกรณีของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่อัดฉีดเงินลงไปแล้ว 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเยียวยาโควิด และกำลังจะออกงบประมาณอีก 2-3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ให้เกิดการแก้ปัญหาของสังคม เป็นต้น
และตนเห็นว่าประเทศไทยเอง ก็ควรจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้นเช่นกัน แต่ส่วนตัวแล้วอยากเห็นการลงทุนในสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ เช่น ทุกวันนี้หลายพื้นที่ แม้ในระดับเทศบาลยังเข้าไม่ถึงน้ำประปาที่สะอาดและเพียงพอใช้ทั้งปี เรายังมีโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรอีกมาก การคมนาคมขนส่งหลายจังหวัดยังไม่มีรถประจำทางที่ดี โรงคัดแยกและจัดการขยะส่วนใหญ่ในประเทศยังคงไม่ได้มาตรฐาน ตนกำลังพูดถึงอะไรที่เป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐานจริง ๆ ของประชาชน ที่อาจจะไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในทางตรง แต่มันลดต้นทุนได้ ลดความเครียดในชีวิตได้ ทำให้ชีวิตของประชาชนถึงแม้จะต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
"ดังนั้นถ้าถามว่ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ผมว่าเอาเม็ดเงินมาลงทุนกับสิ่งต่างๆที่เป็นพื้นฐาน เป็นสวัสดิการที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับมาเป็นสิบๆปีแล้วแต่ไม่ได้รับ ควรจะต้องทำตรงนี้ ซึ่งพวกนี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน ถ้าคุณอัดเม็ดเงินเพิ่ม 1-2 ล้านล้านบาทเข้าไปทำสิ่งพวกนี้ สิ่งพวกนี้เป็น local content เกือบทั้งหมด หมายความว่ามูลค่ามันเกิดขึ้นในประเทศ เงินไม่ได้ไหลออกเพื่อไปนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ มันทำให้เกิดการจ้างงานแน่นอน และนี่คือสิ่งที่เราต้องการ คืองาน คือคุณภาพที่ดีของประชาชน" ธนาธรกล่าว
นอกจากนี้ ธนาธรยังกล่าวถึงแนวคิดเพื่อการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ใช้โอกาสนี้ในการลงทุนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เคยเสื่อมโทรมมาก่อนหน้านี้ ทำให้พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่ได้อย่างน่าประทับใจกว่าเดิมเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว รวมทั้งการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังคงไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีอยู่มากมายเต็มไปหมดในประเทศไทยด้วย และตนยังมีแนวคิดว่าประเทศไทยจะต้องลงทุนในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ใหม่ โดยเอาความต้องการที่มีอยู่ในประเทศอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศตลอด เช่นเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ มาสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะลงทุนและสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เป็นต้น