กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด แนะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และประชาชนทั่วไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงเกินความจำเป็น ปรับพฤติกรรมการกิน ลด หวาน มัน เค็ม อาหารรสจัด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยไตเรื้อรังถึง 11.6 ล้านคน และมากกว่า1 แสนคนต้องล้างไต จากรายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไป ซึ่งหากกินเค็มมากเกินเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง
ส่วนการป้องกันโรคไตเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการลดการการบริโภคโซเดียม เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ โดยร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม โดยเฉลี่ยไม่ควรรับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า การป้องกันภาวะไตเสื่อมที่จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรัง ควรลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม โดยบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน รวมทั้งหลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารที่เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกินคือ 1) อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ผงฟู ซอสต่างๆ 2) เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม 3) อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม เช่น เค้ก พิซซ่า ขนมอบต่างๆ 4) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องในสัตว์ เมล็ดถั่ว กุ้งแห้ง 5) อาหารหมักดอง เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักกาดดอง 6) เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม หมูหยอง และอาหารเติมเกลือ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มซอง โจ๊กซอง 7) ลดการกินเนื้อสัตว์ลงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น คอหมูย่าง เอ็นหมู เอ็นวัว ข้อไก่ และ 8) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอล หรือไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม ขาหมู รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของเนย และครีม เช่น เค้ก พิซซ่า และผลิตภัณฑ์ขนมอบ