ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ปรับเปลี่ยนรูปแบบจัดการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัยให้กลายเป็นเรื่องสนุกมาตั้งแต่ปี 2562 เปลี่ยนวิชาการให้เป็นความสุข ใช้ความสนุกจากการเล่นของเด็กๆ เป็นเครื่องมือนำพาไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างสร้างสรรค์
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการเข้าร่วมเป็น เครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก” ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักเรื่องการเล่น ใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว
การจัดการเรียนรู้และดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา นอกจากจะเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระในเด็กปฐมวัยแล้ว ยังดำเนินการควบคู่กับไปการให้ความรู้กับผู้ปกครองให้ตระหนักและเข้าใจถึงคุณค่าของการเล่นที่เป็นธรรมชาติของเด็ก ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต เพราะจะนำไปสู่การสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และสติปัญญา
ครูซุพยาณี มูซอ หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า นอกจากวันเล่นอิสระและวันแล้ว ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมใหญ่ คือ “Play Day วันเล่นสนุก” เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ โซนกิจกรรมกลางแจ้ง โซนศิลปะระบายสีโดยใช้วัสดุธรรมชาติ โซนเล่นดิน ไม้ ทราย น้ำ โซนเล่นสนุกกับวิทยาศาสตร์ หรือโซนการเล่นกับวัสดุ สิ่งของ ชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นของจากธรรมชาติหรือสิ่งของที่สามารถถอดออกหรือนำมาต่อติดประกอบเล่นด้วยกันได้ โดยเด็กๆ สามารถเลือกที่จะ เล่น เรียนรู้ และสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจของตนเอง ขณะที่ครูและผู้ปกครองร่วมทำหน้าที่เป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น คอยสนับสนุนให้เกิดการเล่นอย่างปลอดภัย เปิดโอกาสให้จินตนาการของเด็กๆ นำพาไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ด้วยตัวของเขาเอง
ครูซุพยาณีกล่าวว่า การเล่นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดของเด็ก จึงต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติและความต้องการของเด็ก ก็คือการเล่น เมื่อเด็กได้เล่นก็จะมีความสุข สมองก็พร้อมที่จะเปิดรับในเรื่องราวต่างๆ และจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
อภิศิริ ยอดเวียน ผู้ปกครองที่อาสามาเป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น กล่าวว่า เด็กมีความสุขที่ได้เล่น และได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ลูกมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งด้านกล้ามเนื้อ อารมณ์ ความคิด การลำดับเหตุการณ์ การวางแผน มีระเบียบวินัย เล่นของเล่นแล้วเก็บของเอง
อรุณี นนทโกวิท ผู้ปกครองกล่าวว่า หลังเข้าร่วมอบรมเป็นผู้อำนวยการเล่น ทำให้ทราบว่าการเล่นมีคุณค่ามหาศาลสำหรับเด็กช่วงวัยนี้ สามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการครบทุกด้าน ฝึกสมาธิ มีความอดทน รู้จักที่จะรอคอย เมื่อให้ลูกได้เล่นพบว่าเขามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับอนาคต
การประเมินพัฒนาการตามหลักของกรมอนามัยพบว่า เด็กแรกรับเมื่อเข้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนามีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 79 แต่เมื่อได้เล่นอิสระผ่านไปไม่ถึงปีพัฒนาการของเด็กผ่านเกณฑ์ประเมินสูงถึงร้อยละ 98
สุกัญญา เย็นประสิทธิ์ ครูพี่เลี้ยงและ Play Worker กล่าวว่า การสอนในอดีตแต่ละวันจะมีกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้ออกมาเล่นประมาณ 20 นาทีเท่านั้น แต่เมื่อปรับการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระเด็กๆ มีเวลาเล่นอิสระมากขึ้นตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และในชั้นเรียนครูก็จะใช้การเล่นแล้วบูรณาการสอดแทรกเนื้อหาเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เข้าไปด้วย
นอกจากนั้น ทางศูนย์เด็กเล็กฯ ยังส่งเสริมให้มีกิจกรรมเยี่ยมบ้านจูงใจผู้ปกครอง “จัดมุมเล่นอิสระที่บ้าน” เพื่อให้เกิดพัฒนาการต่อเนื่องจากโรงเรียนไปถึงบ้าน และยังช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นด้วยการ เล่น-เรียน-รู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของครบครัวไปพร้อมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายครู ผู้ปกครองและชุมชน ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการเล่นอิสระ และพร้อมสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้มแข็ง
แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระมีการขยายผลโดยนำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาเป็นต้นแบบ เพื่อขยายแนวคิดไปสู่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 22 แห่งในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตมีนบุรี