Skip to main content

กรมอนามัย ออกคำเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ของฝุ่น pm2.5 ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนว่า ระหว่างวันที่ 1–7 มี.ค.นี้ ปริมาณของ pm2.5 จะอยู่ในระดับสีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ย้ำประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก

กรมอนามัยร่วมกับ GISTDA ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนพบว่า ข้อมูลจากดาวเทียมในการตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ภาพรวมของประเทศว่ามีค่า pm2.5 สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทั้งหมด ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง (ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยปัจจัยหลักเกิดจากการเผาในที่โล่ง โดยพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นกว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับที่ตรวจพบจากดาวเทียม ซูโอมิเอ็นพีพี ในวันที่ 28 ก.พ.พบสถิติสูงสุดถึง 3,768 จุด ประกอบกับสภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อนลง จึงส่งผลให้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรง

ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์ pm2.5 ระหว่างวันที่ 1-7 มี.ค.พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับสีแดง หรือในปริมาณที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อpm2.5 เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงการเจ็บป่วยต่างๆ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ อาจมีอาการกำเริบและเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักได้

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 21–28 ก.พ.มีผู้ที่มีอาการจากการสัมผัส pm2.5 ร้อยละ 68.3 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ คันตา ร้อยละ 23.3 รองลงมาคือ แสบตาและแสบจมูก ร้อยละ 20 คัดจมูก ร้อยละ 16.7 กรมอนามัยจึงแนะนำให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่นและป้องกันตนเอง หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม หรือมีค่า 51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือระดับสีแดง ที่มีค่ามากกว่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ประชาชนควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมอย่างน้อย 5 วัน

นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส pm2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ '4HealthPM2.5' หรือ เว็บไซต์คลินิกมลพิษออนไลน์ และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือกรมควบคุมโรค 1422