ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (23 ม.ค.) มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม ประธานวุฒิสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงการทำหน้าที่ของวุฒิสภา หลังพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งคำถามกรณีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีกรอบระยะเวลาการดำเนินงานใน 60 วันว่า หากคณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาเสร็จแล้วจะสามารถเสนอผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมวุฒิสภาอย่างไรเพราะมีการปิดสมัยประชุมไปแล้ว หรือต้องรอการเปิดสมัยประชุมใหม่ในอีก 6-7 เดือนหรือไม่
ประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่า สมัยประชุมนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะไม่มีการประชุมวุฒิสภาจนกว่าจะเปิดสมัยประชุม โดยในสมัยปิดประชุมรัฐสภา วุฒิสภายังสามารถทำหน้าที่ในชั้นกรรมาธิการได้ตามปกติ แต่มีข้อควรระวังห้ามวุฒิสภาไปดำเนินการที่มีผลต่อการหาเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งห้ามเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 126 กำหนดว่า ในระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าด้วยเหตุ สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือถูกยุบ จะไม่สามารถประชุมวุฒิสภาได้ ยกเว้นมีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภาต้องประชุมเพื่อสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประธานวุฒิสภาสามารถนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้มีพระบรมราชโองการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่แทนรัฐสภาได้
จากนั้น ที่ประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณารับทราบรายงานการศึกษาเรื่องแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน โดยสาระสำคัญเพื่อเสนอแนวทางและนโนบายให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้งไปพิจารณาแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
เสรี กล่าวว่า รายงานฉบับนี้จะทำให้เกิดผลดีในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมาย แต่จะมีผลกระทบกับนักการเมืองบางส่วน โดยเฉพาะแนวทางในการแก้ไขปัญหาการซื้อเสียง ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแล้วเห็นว่า ประชาชนควรได้รับค่าตอบแทนการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การวางแนวทางให้คนรับเงินซื้อเสียงไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงการเสนอแนวทางลดการจำกัดไม่ให้ประชาชนหารายได้จำหน่วยสินค้าระหว่างที่มีการปราศรัยเลือกตั้ง เป็นต้น
ด้านวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขานุการกรรมาธิการฯ นำเสนอรายละเอียดของรายงานดังกล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาในการเลือกตั้งพบปัญหาสำคัญ คือการทุจริตการเลือกตั้งของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปัญหานี้กรรมาธิการฯเสนอแนวทางแก้ไขให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ สร้างวินัยให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย มีจิตสำนึกรับผิดชอบร่วมต่อต้านทุจริต มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แก้ไขกฎหมายให้ผู้ที่ขายสิทธิหรือผู้ที่รับเงินซื้อเสียงไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากเรื่องนี้พบว่าประชาชนมีความจำเป็นต้องรับเงินซื้อเสียงจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นพยานได้ เพราะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ซื้อเสียงเลือกตั้ง สุดท้ายไม่สามารถสาวถึงตัวผู้ซื้อเสียงเลือกตั้งได้
วงศ์สยาม กล่าวว่า วันนี้มีผู้ซื้อสิทธิขายเสียงอยู่มากมาย ประกอบกับสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ จึงอยากเสนอให้ กกต.กำหนดให้มีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในเบื้องต้นกำหนดให้คนละ 500 บาท ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง โดยคำนวณจากผู้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 40 ล้านคน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และยังช่วยให้ประชาชนเกิดแนวคิดที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน เพราะประชาชนได้รับเงินหลวง ไม่ใช่นักการเมือง ทำให้ประชาชนเลือกคนดี มีความรู้ เข้ามาทำหน้าที่
วงศ์สยาม ยังกล่าวว่า ทุกวันนี้นโยบายของรัฐบาลในการให้งบประมาณประชาชน 300-500 ต่อเดือนรวมถึงคนละครึ่ง ปีหนึ่งใช้งบประมาณเป็นแสนกว่าล้านบาท ในขณะที่การเลือกตั้งเกิดขึ้น 4 ปีครั้ง
นอกจากนี้ ในกฎหมายเลือกตั้งยังมีข้อห้ามไม่ให้นักการเมืองขนคนมาเลือกตั้ง แต่ในข้อเท็จจริงในต่างจังหวัดอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งการเสนอเงื่อนไขนี้อย่างน้อยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้ตั้งแต่การเลือกตั้งใช้สิทธิ แม้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงมีค่าใช้จ่าย สังคมไทยจึงควรยอมรับความเป็นจริงเหล่านี้
กรรมาธิการฯยังเสนอให้มีการแก้กฎหมาย กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ลาออกจากตำแหน่งไปลงเลือกตั้งในตำแหน่งอื่น จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นด้วย เช่นผู้ใหญ่บ้านลาออกไปดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน ลาออกไปลงสมาชิก อบจ. หรือ สมาชิก อบจ.ไปลงตำแหน่ง สจ. ย่อมทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมมากมายทั่วประเทศ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมต้องเกิดขึ้นด้วยความรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน กรรมาธิการฯยังเสนอให้แก้กฎหมายระยะเวลาการลงคะแนนจาก 8.00-17.00 น. เป็น 8.00-16.00 น. เพื่อแก้ไขปัญหาการนับคะแนนล่าช้าด้วย
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯมีข้อสังเกตเพิ่มเติม จากคณะอนุกรรมาธิการติดตามการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการแก้ไขบัตรเลือกตั้งให้เป็นระบบบัตร 2 ใบ จากเดิมระบบบัตรใบเดียว ประกอบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในแต่ละเขต คะแนนของผู้ชนะการเลือกตั้ง มีคะแนนน้อยกว่าผู้สมัครรายอื่นๆรวมกัน จึงถือเป็นประชาธิปไตยเสียงข้างน้อย ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นหากเป็นไปได้อยากเสนอให้มีการเลือกตั้งบัตรใบเดียว โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ให้เอาผู้ได้รับคะแนนการเลือกตั้งลำดับที่ 2 มาเป็น ส.ส บัญชีรายชื่อแทน ทำให้มี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด
วงศ์สยาม ย้ำว่า การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือการเลือกตั้งซ่อมเท่านั้น ยังไม่ศึกษาจากการเลือกตั้งใหญ่