ในการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง รธน. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้มีการแก้ไข ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจ
หนุนเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน ควบคู่ปฏิรูปศาลและหน่วยงานยุติธรรมให้ทำตามหลักกฎหมาย
รังสิมันต์กล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกลมีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เพิ่มสิทธิและเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
- คำนิยาม “สิทธิเสรีภาพ” ให้หมายรวมถึงที่ประเทศไทยได้มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
- เพิ่มเติมข้อความว่าการประกันตัวว่าต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีหากไม่ใช่กรณีที่โทษร้ายแรงจะต้องมีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น
- การระบุรายละเอียดของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมว่าต้องสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง พิจารณาโดยเปิดเผย ให้โอกาสจำเลยในการสู้คดีอย่างเพียงพอ ผู้เสียหายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นธรรม
- เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ที่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม เสรีภาพเหล่านี้จะถูกจำกัดมิได้
- สิทธิชุมชน ให้การทำโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านโดยประชาชนและชุมชนได้มีส่วนร่วม
- เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะจำกัดได้ก็ด้วยกฎหมายเฉพาะเรื่องการชุมนุมสาธารณะ หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเท่านั้น
- เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นพรรคการเมืองให้การจัดตั้งไม่ยุ่งยากซับซ้อน การเข้าร่วมเป็นสมาชิกไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมาหาเรื่องยุบพรรคไม่ได้ถ้าไม่ใช่กรณีล้มล้างการปกครองเท่านั้น
“สิทธิและเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้ อันที่จริงแล้วบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ก็ควรจะเพียงพอแล้วที่จะเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็อย่างที่เราเห็นกันว่าศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นบิดเบือนกฎหมายที่มีอยู่ไปขนาดไหน ผมเชื่อว่าหากเราปฏิรูปให้องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหลายมีความยึดโยงกับประชาชนได้ การจะใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเลย” รังสิมันต์กล่าวเสริม
ยืนยันหลักการนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
ในเรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกลตั้งแต่ในอดีตสมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ยืนยันสนับสนุนหลักการนี้มาโดยตลอดว่าผู้ที่คู่ควรได้เป็นผู้นำประเทศ ต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งตามระบบในประเทศไทยที่เราใช้หมายถึงผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. มิใช่เป็นใครบางคนที่รังเกียจการเลือกตั้ง แต่ก็หวังอยู่ในอำนาจต่อโดยดูดเอาผู้มีอิทธิพลกลุ่มต่างๆ มาช่วยหาเสียงแทนตัวเอง
ถามหาสำนึก ส.ว. เลิกหวงอำนาจ คืนอำนาจกลับสู่ประชาชน
ประเด็นสุดท้าย ตามร่างที่ยื่นเสนอเข้ามาโดยภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 64,151 คน เนื้อหาไม่มีอะไรซับซ้อนให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. ชุดแรก 250 คน มีวาระ 5 ปี ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่ง ส.ว. ชุดนี้ทั้งหมด ยกเว้นประธานสภาที่งดออกเสียงตามมารยาท ก็ใช้อำนาจนี้ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจหลังยุคคณะรัฐประหารต่อไป ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา
“ส.ว. 250 คน คสช. จิ้มมาเองล้วนๆ มีทั้งแก๊ง ตท.12 เพื่อนประยุทธ์ 21 คน แก๊ง ตท.6 เพื่อนประวิตร 5 คน รวมไปถึงแก๊งเพื่อนพ้องน้องพี่ศิษย์เก่า สนช., สปช., สปท. และอีกสารพัดคณะที่เคยร่วมงานกับ คสช. เป็นจำนวนถึง 157 คน (ตามข้อมูล iLaw) อย่าได้ปฏิเสธเลยว่า ส.ว. ชุดนี้คือมรดกตกทอดที่เกิดมาจากความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งของคณะรัฐประหาร”
บางท่านอาจแย้งว่า ส.ว. ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแล้วยังไง? ถึงจะมีที่มาจาก คสช. เลือก แต่ ส.ว. ชุดนี้ก็ประกอบด้วยคุณวุฒิ คือมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่างๆ และมีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปประเทศ ก็ขอเชิญท่านเหล่านั้นไปดูกรณีสดๆ ร้อนๆ เรื่อง “สิบตำรวจโทหญิง” ที่มีข่าวว่าเอาข้าราชการทหารมาเป็นทหารรับใช้และกระทำทารุณกรรมต่างๆ นานา รวมถึงไปฝากชื่อเป็นบัญชีผีใน กอ.รมน. เพื่อกินเงินพิเศษโดยไม่ได้ไปลงพื้นที่จริง ซึ่งก็ปรากฏต่อมาว่า ส.ต.ท. คนนี้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอดีต สนช. ท่านหนึ่ง และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการของ สนช. ด้วย อดีต สนช. ที่เป็นข่าวนั้น รวมถึงคนที่แต่งตั้ง ส.ต.ท. คนนี้เป็นตำแหน่งต่างๆ ปัจจุบันก็มาอยู่ใน 250 ส.ว. ชุดนี้ด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ มาดูผลงานการคัดสรรของ ส.ว. อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนที่เคยบอกว่าอยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ไม่อยากอยู่ต่อแม้แต่วันเดียว แต่มาวันนี้ก็ยังจะดันทุรังเอาอดีต กรธ. ที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้มาเป็นทนายสู้คดีว่าตัวเองยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี นี่มันพฤติกรรมของคนที่เหลิงอำนาจ กระหายอำนาจชัดๆ ตอนที่ยกร่างเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะกลัวศัตรูทางการเมืองจะอยู่ยาว แต่พอถึงคราวของตัวเองกลับพยายามแถสุดกำลังให้ได้อยู่ชั่วนาตาปี
“เพราะฉะนั้น ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วเพื่อนสมาชิกทุกท่าน โดยเฉพาะ ส.ว. จะได้เริ่มก้าวแรกของการยุติระบบอันบิดเบี้ยวนี้ ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเรื่ออำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ 3 รอบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เดือนมิถุนายน 2564 และเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไม่เคยได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึงเกณฑ์ที่จะผ่านได้เลย มาวันนี้ทั้งพวกผมในสภาและประชาชนข้างนอกขอถามมโนธรรมสำนึกจากพวกท่านอีกสักครั้ง พวกท่านอาจทำผิดมาเยอะ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเยอะไปกว่านี้ พวกท่านเลือกได้ที่จะไม่ตกนรกขุมที่ลึกกว่านี้ไปด้วยกันกับ พล.อ.ประยุทธ์”
“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องขอร้องต่อเพื่อนสมาชิก โดยเฉพาะ ส.ว. มันพอได้หรือยังที่พวกท่านจะยอมปลดล็อกอำนาจตรงนี้ ให้นายกรัฐมนตรียึดโยงกับประชาชนได้จริงๆ เสียที ผมรู้พวกท่านหวงอำนาจ ผมรู้ว่าอยากเก็บอำนาจนี้ไว้ แต่อำนาจนี้มันไม่ใช่ของท่าน มันเป็นของประชาชน คืนให้พวกเขาเถิดครับ พอได้แล้ว” รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย