Skip to main content

วานนี้ (28 ธ.ค.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ ชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับที่…) พ.ศ…., ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ… และ ร่างพ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่…) พ.ศ… , พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ  ร่างพ.ร.บ.กบข.และร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ ร่างพ.ร.บ.กยศ.

ทั้งนี้ มติของสภาฯ ​เห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขทั้ง 5 ฉบับ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ใน ร่างพ.ร.บ.กบข. มีผู้อภิปรายคัดค้านการแก้ไขของวุฒิสภา ที่ตัดบทบัญญัติที่ให้สิทธิสมาชิกกบข. ขอรับเงินกองทุนไม่เกิน 30% ของจำนวนเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยของตน ซึ่งส.ส.ล้วนอภิปรายคัดค้าน เพราะตัดสิทธิข้าราชการชั้นผู้น้อยในการได้รับสิทธิด้านที่อยู่อาศัย แต่ก็ยอมปรับลดจำนวนอัตราขอเงินสะสมกบข. แต่ควรคงหลักการดังกล่าวไว้

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.กยศ.​ มีผู้อภิปรายคัดค้านการแก้ไขของวุฒิสภา ที่เขียนบทบัญญัติให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และคิดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่ไม่เกินร้อยละ 0.5%  ทั้งที่ตามร่างพ.ร.บ.กยศ. สภาฯ มีมติไม่คิดดอกเบี้ยและไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ

ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับ ส.ว. แก้ไข ฟื้นเก็บดอกเบี้ย 1% คิดเบี้ยปรับ 0.5%

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่. …) พ.ศ. … ที่วุฒิสภามีการแก้ไขจากที่สภา มีมติไม่เก็บดอกเบี้ย และไม่เก็บค่าปรับ ซึ่ง ส.ว.แก้เป็นเก็บดอกเบี้ย 1% และเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% โดยสมาชิกส่วนใหญ่ทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย เห็นว่ากองทุน กยศ.ควรเป็นหน่วยงานที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน และเศรษฐกิจ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้พัฒนาตัวเองและยกระดับตัวเองให้มีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า มีเพียง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แสดงความเห็นติงว่านโยบายไม่คิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ เป็นการมุ่งเน้นหาเสียงเกินไป จนไม่คิดถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยเกี่ยวกับวินัยการกู้เงินของนักเรียนนักศึกษา

นอกจากนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังได้ตำหนิการทำหน้าที่ของวุฒิสภาว่า การที่วุฒิสภาแก้ไขให้คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เป็นแนวคิดของผู้ที่ไม่รับรู้ถึงสภาพปัญหาด้านการศึกษา และความยากจน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกับ ส.ส. โดย อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า “วันนี้จะได้รู้ว่าใครบ้างที่คล้อยตามวุฒิสมาชิก ผู้ทรงเกียรติมากที่สุด ไม่รู้เกียร์ 1 เกียร์ 2 หรือเกียร์ 3 แต่ผมไม่ศรัทธา และผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา และอยากให้พี่น้องนักศึกและผู้ปกครองทั่วประเทศ ช่วยติดตามผู้แทนฯจังหวัดของท่านว่าโหวตว่าอย่างไร นอกจากนี้ อยากให้ช่วยกันยกมือว่าไม่เห็นด้วย และตั้ง กมธ.ร่วม ทำงานแค่ 7 วันก็พิจารณาเรียบร้อย แต่ถ้าไม่จริงใจ เล่นเล่ห์เพทุบาย ก็ถ่วงไป ถือเป็นความไม่จริงใจของรัฐบาล ถ้าเห็นด้วยกับวุฒิสภา จะได้รู้ว่าไม่มีความจริงใจกับประชาชน ชนชั้นใดเมื่อมีโอกาสออกกฎหมาย และออกกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น วันนี้เราจะได้รู้ว่าผู้แทนราษฎรเป็นคนชั้นไหน”

จากนั้น ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้กดออดให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติในร่าง พ.ร.บ.กยศ. โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ด้วยคะแนน 226 ต่อ 11 คะแนน และงดออกเสียง 60 คะแนน เป็นอันว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา คือให้เก็บดอกเบี้ย 1% และเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% สุดท้ายศุภชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อหมดระเบียบวาระการประชุมแล้ว จึงขอปิดการประชุมในเวลา 15.03 น. ซึ่งหลังจากนี้จะส่งร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติของสภาฯ เห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขทั้ง 5 ฉบับ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ในร่าง พ.ร.บ.กบข. มีผู้อภิปรายคัดค้านการแก้ไขของวุฒิสภา ที่ตัดบทบัญญัติที่ให้สิทธิสมาชิก กบข. ขอรับเงินกองทุนไม่เกิน 30% ของจำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยของตน ทั้งนี้ ส.ส.ล้วนอภิปรายคัดค้าน เพราะตัดสิทธิข้าราชการชั้นผู้น้อยในการได้รับสิทธิด้านที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ยอมที่จะปรับลดจำนวนอัตราของเงินสะสม กบข. แต่ควรคงหลักการดังกล่าวไว้

'ภูมิใจไทย' แจงเจตนารมณ์ งดออกเสียง ในการลงมติร่าง พ.ร.บ.กยศ. ชี้ต้องการให้ ก.ม.มีผลใช้บังคับโดยเร็ว และเกิดประโยชน์กับ ปชช. 

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงการลงมติร่าง พ.ร.บ. กยศ. ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่เกิน 1% ต่อปี และคิดดอกเบี้ยปรับ กรณีผิดนัดชำระ ในอัตราไม่เกิน 0.5 % ต่อปี โดยพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งแก้ไขจากร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร คือ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และไม่คิดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ดังนั้น พรรคภูมิใจไทย จึงของดออกเสียง เพราะหากลงมติไม่เห็นชอบ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันระหว่างทั้งสองสภาเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งอาจพิจารณาไม่แล้วเสร็จทันภายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ ซึ่งจะทำให้ต้องนำกฎหมาย กยศ.ฉบับเดิม ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 7.5 และดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ร้อยละ 18 ซึ่งจะทำให้ประชาชนและผู้กู้ต้องเสียผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทย ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้งต่อไป พร้อมยืนยันหากพรรคภูมิใจไทย มีโอกาสได้รับเลือกตั้งและเข้ามาเป็นฝ่ายรัฐบาลจะเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวทันที

สภาฯ เคยเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กยศ. กู้ปลอดดอกเบี้ย-ไม่คิดค่าปรับ เมื่อ ก.ย. 2565

ทั้งนี้ เมื่อ ก.ย. 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เคยมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฉบับที่.... ในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ ได้แก่ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย ซึ่งขณะนั้นมีรายงานว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งที่ผ่านมามีร่างกฎหมายที่ถูกตีตกกลับมายังสภาฯ เช่นกัน เช่น  ร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ถ้าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะมีผลให้ผู้กู้ยืมเงินที่มีกว่า 3.4 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีนับล้านรายและถูกฟ้องดำเนินคดีอีกจำนวนมาก ได้รับสิทธิประโยชน์ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจากสภาผู้แทนราษฎร