ณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยด้านนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยกเลิกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้สัมภาษณ์กับ The Opener ว่า การมีนโยบายให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มาจากสมมุติฐานว่าการศึกษาเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ทั้งต่อตัวผู้ยืมเอง และที่สำคัญคือมีผลตอบแทนต่อสังคม และเพราะว่าเป็นการลงทุนที่ให้ประโยชน์ต่อสังคม ฉะนั้นจึงสมเหตุสมผลที่สังคมหรือผู้เสียภาษีจะช่วยกันลงขันกันให้กู้ด้วยเงื่อนไขที่ผู้ให้กู้ขาดทุนเช่นที่ กยศ. ทำอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อกลับมาที่ข้อเรียกร้อง ที่ปัจจุบันกลายเป็นนโยบายของหลายพรรคหลายกลุ่มการเมือง ให้มีการล้างหนี้ลูกหนี้ กยศ. แบบยกกระดาน ณัฐสิฎให้ความเห็นว่ามันขัดหลักการที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือ ถ้าการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นการลงทุนที่ดี ให้ผลตอบแทนดี ผู้เรียนเมื่อจบมาแล้วต้องมีความสามารถจ่ายหนี้คืนได้ โดยเฉพาะในกรณีของไทยที่เงื่อนไขการชำระผ่อนปรนมากๆ การที่จะมีนโยบายล้างหนี้ โดยอ้างว่าหนี้ กยศ. เป็นภาระหนักแก่ผู้กู้ ย่อมหมายความว่าการลงทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ใช่การลงทุนที่ดี ผู้เสียภาษีไม่ควรจะเอาเงินไปช่วยอุดหนุนการลงทุนนี้ นั้นคือ หากจะล้างหนี้แล้ว ขอให้ยุบ กยศ. ไปด้วยเลย จึงจะสมเหตุสมผล
แต่ณัฐสิฎยังเห็นว่าการลงทุนเพื่อการศึกษายังเป็นการลงทุนที่ดี แต่มีปัญหาสำคัญอยู่ 3 ประการที่ทำให้เกิดปัญหาใน กยศ.
1. ผู้เรียนจำนวนหนึ่งนำเงินกู้ยืมไปเรียนในสาขาที่ไม่นำไปสู่การประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งการใช้จ่ายที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนนั้นไม่ได้เรียกว่าการลงทุน แต่เรียกว่าเป็นการบริโภค นั่นคือเงินที่ควรจะนำไปลงทุนกลับนำไปบริโภค ซึ่งที่จริงการนำเงินกู้ไปเรียนในสาขาที่ตรงตามความชอบตัวเองแต่ไม่พิจารณาโอกาสในการนำไปประกอบอาชีพนั้นไม่ต่างอะไรกับที่มีหลายคนออกมาบอกว่าผู้กู้บางคนเอาเงินกู้ไปซื้อโทรศัพท์ราคาแพง ซึ่งถือเป็นการบริโภคเหมือนกัน
2. ความรับผิดชอบส่วนบุคคล ซึ่งมีทั้งสองมิติ ในมิติแรก คือความรับผิดชอบที่ผู้กู้จะต้องนำงินกู้ไปลงทุนเรียนในสาขาที่จะก่อประโยชน์ ก่อให้เกิดรายได้ และนำมาซึ่งความสามารถในการใช้หนี้ได้จริง ในมิติที่สอง คือความรับผิดชอบของผู้กู้ที่จะต้องชดใช้หนี้เมื่อตนเองมีรายได้แล้ว ซึ่งเงื่อนไขการชดใช้นี้ไม่ได้หนักหนา และความรับผิดชอบนี้มาจากการทำสัญญากันอย่างสมัครใจระหว่างผู้กู้และผู้เสียภาษี (โดยมี กยศ. ทำหน้าที่เป็นตัวแทน) ว่าจะนำเงินกู้ไปลงทุน และจะชดใช้หนี้คืนตามเงื่อนไขในสัญญา การที่ กยศ. จะล้างหนี้ให้ผู้กู้แบบเหมาเข่ง โดยไม่มีสาเหตุอันควร จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาในสังคม โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังของประเทศ กล่าวคือ ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องรักษาและเคารพสัญญาที่ได้ทำเอาไว้ ตราบใดที่สามารถระดมกระแสทางการเมืองและสร้างเรื่องราว (Narrative) ขึ้นมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของตนได้
3. ในระบบอุดมศึกษามีปัญหาจริงที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการเปิดหลักสูตรด้อยคุณภาพออกมาจำนวนมาก ซึ่งต่อให้ผู้กู้มีเจตนารมณ์จะใช้เงินกูลงทุนด้วยการศึกษาในหลักสูตรเหล่านี้จริง แต่ก็จะได้ผลลัพท์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง นอกจากนั้น หลายๆ หลักสูตรในลักษณะนี้ยังมีการโหมโฆษณาหลักสูตรแบบเกินจริงด้วย ในสถาณการณ์เช่นนี้ ผู้กู้จะเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจเข้าเรียนได้ เช่น หลักสูตรที่โฆษณาเชิญชวนให้เรียนมีตลาดรองรับจริงหรือไม่ หรือตัวสถาบันมีความพร้อมในการสอนตามหลักสูตรจนได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงานหรือไม่ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้เท่านั้นที่ กยศ. ควรพิจารณายกเลิกหนี้แก่ผู้กู้ที่ได้รับความเสียหายจากความด้อยคุณภาพและความไม่ตรงไปตรงมาของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอน และ กยศ. ด้วยมีมาตรการลงโทษสถาบันการศึกษาเหล่านี้ด้วย
“ไม่ว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ รัฐบาลจะให้เรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ก็ไม่ได้แก้ไขประเด็นปัญหาหัวใจทั้งสามประการที่กล่าวมาเลย”
ในการรณรงค์ล้างหนี้ กยศ. นั้น ประเด็นที่ยกขึ้นมาสนับสนุนมากคือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่เราควรจะตระหนักว่า กยศ. ตั้งขึ้นมาเพื่อขยายการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาระดับสูง โดยมีสมมุติฐานว่าการศึกษาระดับสูงเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้กู้ (Social Mobility) แต่โดยตัวนโยบายไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมแต่อย่างใด เพราะกว่าที่เด็กจะมาถึงการศึกษาระดับสูง ในการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 15 ปี เด็กได้ถูกระบบการศึกษาไทยหล่อมหลอมมาจนกลายเป็นเพดานความสามารถในการพัฒนาต่อในระดับอุดมศึกษาไปแล้ว ครอบครัวที่มีฐานะก็จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนดีๆ และมีการสิ่งเสริมอย่างใกล้ชิด ส่วนครอบครัวที่ฐานะไม่ดีก็ต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียนรัฐฯ ทั่วไป ซึ่งหากพิจารณาจากคะแนนการสอบวัด PISA ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าคุณภาพระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไทยแย่มาก ฉะนั้น นักเรียนที่มีฐานะดีก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับอุดมศึกษากว่านักเรียนจากครอบครัวยากจนอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะมีการล้างหนี้ กยศ. หรือให้เรียนฟรี หรือแม้ให้เรียนฟรีแถมค่าครองชีพ มันไม่ได้ไปลดความเหลื่อมล้ำที่มีมาแต่ก่อนแต่อย่างไรเลย
นอกจากนั้น ในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา นักศึกษาเกือบทั้งหมดได้ถูก “เลือกไว้ล่วงหน้า” (Pre-selected) ไปก่อนแล้วว่าจะได้เรียนต่อที่สถาบันการศึกษาระดับใด เช่น คนมีฐานะก็สามารถส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานดี สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ส่วนผู้มีฐานะยากจนส่วนใหญ่ก็จะต้องเรียนในสถาบันที่ด้อยกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการล้างหนี้ กยศ. หรือให้เรียนฟรี อย่างใดทั้งสิ้นเลย “การให้ทุนกู้เป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูง แต่ไม่มีผลลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมีนัยใดๆ”
ต้องแก้ปัญหายังไง? หากไม่ยกเลิกหนี้!
ตรงกันข้าม หากไม่ยกเลิกหนี้ กยศ. ณัฐสิฎ เสนอว่า ในระยะสั้น สำหรับคนที่กู้ไปแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะไปเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน แล้วจบมาหางานไม่ได้ ผู้กู้สามารถส่งคำร้องขอยกหนี้ (Write-off) ไปยัง กยศ. ได้ เพื่อผู้กู้ได้ปลดภาระหนี้ที่เกิดความความผิดของผู้อื่น นั่นก็คือสถาบันการศึกษา ไม่ใช่ความผิดของตัวผู้กู้เอง และยังทำให้เกิดความชัดเจนว่าตัวเลขงบประมาณของกองทุนเหลือเท่าไร ซึ่งเป็นวิธีการปรกติของธนาคารที่ใช้จัดการหนี้ที่ไม่มีโอกาสก่อรายได้
มาตรการการยกหนี้บางส่วนจะทำให้ กยศ. มีข้อมูลว่าสถาบการศึกษาใดหรือหลักสูตรใดเป็นสถาบันการศึกษา/หลักสูตรที่ด้อยคุณภาพ ที่ กยศ. ไม่ควรส่งเสริมให้ผู้กู้นำเงินไปทิ้งกับสถาบันการศึกษา/หลักสูตรเหล่านี้ ในการนี้ กยศ. ควรใช้ข้อมูลการยกหนี้มาพิจารณาตัดสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตรออกจากบัญชีหลักสูตรที่สามารถขอกู้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. ได้พยายามอย่างมาก “ชำระ” บัญชีหลักสูตรที่กล่าวไป แต่ด้วยข้อจำกัดการที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าหลักสูตร/สถาบันการศึกษาใดเป็นหลักสูตร/สถาบันการศึกษาด้อยคุณภาพ กยศ. ก็ไม่สามารถปลดหลักสูตรออกจากบัญชีได้ ข้อมูลการยกหนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ กยศ. สามารถชำระบัญชีหลักสูตรได้จริง มาตการเช่นนี้จะทำให้ (1) ช่วยจำกัดกรอบหลักสูตรการศึกษาให้แก่ผู้กู้ ทำให้ผู้กู้ที่ขาดข้อมูลคุณภาพหลักสูตรและสถาบันการศึกษาสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีมากขึ้น โอกาสที่สำเร็จการศึกษาออกมาแล้วจะประสบความสำเร็จก็จะมากขึ้นตาม (2) การลงทุนการศึกษาผ่านการกู้ กยศ. จะมีผลตอบแทนดีขึ้น และ (3) เพิ่มคุณภาพระบบอุดมศึกษาไทยด้วยการลดจำนวนสถาบันการศึกษาด้วยคุณภาพออกไป
มุมมองต่อนโยบายหาเสียง ‘เรียนฟรี-ยกเลิกค่าปรับ’
ส่วนความเห็นต่อนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองให้มีการเรียนฟรี ณัฐสิฎกล่าวว่า จริงๆ แล้วค่าเทอมมหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้แพง ถ้าเทียบกับค่ากินอยู่ จึงไม่แน่ใจว่านโยบายเรียนฟรีจะมีประโยชน์ช่วยให้ขยายโอกาสการศึกษาเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ถึงจะมีนโยบายเรียนฟรีก็ยังต้องส่งเสริมให้เรียนในสาขาที่นำไปสู่การจ้างงานหลักเรียนจบ ไม่ใช่ใช้เงินภาษีไปอุดหนุนให้คนลงทุนเรียนที่ไม่นำไปสู่การจ้างงานและสร้างรายได้ เพราะผู้เรียน อย่างน้อยที่สุดก็จะเสียเวลาชีวิตไป 4 ปี เสียรายได้ที่จะได้หากใช้เวลา 4 ปีนั้นทำงาน ประเทศชาติก็สูญเสียงบประมาณได้ไม่ได้ประโยชน์อย่างใด นั่นคือจะมีนโยบายเรียนฟรีก็ได้ แต่ต้องพิจารณาข้อจำกัดทางการคลังของรัฐบาลด้วย ว่าการโยกเงินมาอุดหนุนส่วนนี้จะคุ้มหรือไม่ หากเทียบกับนโยบายอื่นๆ เช่น สถานเลี้ยงเด็กแรกเกิดฟรี การส่งเสริมการศึกษาระดับปฐมวัย หรือการทำศูนย์ดูแลผู้ชราหรือผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น และไม่ควรมีนโยบายเรียนฟรีแบบเหมาเข่ง โดยส่วนตัวคิดว่าการลงทุนกับเด็กเล็กให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนระดับอุดมศึกษาแบบหว่านแหแบบเทียบกันไม่ได้
ส่วนนโยบายที่จะพักดอกเบี้ย และยกเลิกค่าปรับหนี้ กยศ. ณัฐสิฎกล่าวว่าดอกเบี้ยแค่ 1% ไม่มีทบต้น ซึ่งน้อยมากอยู่แล้ว ยิ่งเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อก็จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่จริงแล้วมันติดลบ ไม่มีเหตุผลใดที่พอฟังขึ้นในการยกเว้นดอกเบี้ย ส่วนการยกเลิกค่าปรับ นั่นเท่ากับจะยิ่งลดเครื่องมือของ กยศ. ในการบังคับการจ่ายหนี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ค้างสาหัสขึ้นไปอีก
สุดท้าย มีการกล่าวว่า ทำไมคนรวยจึงสามารถเรียนอะไรตามใจชอบก็ได้ แต่คนจนต้องฝืนใจเรียนสาขาที่เอาไปทำมาหากินได้เท่านั้น ณัฐสิฎ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “คนจนมีสิทธิเรียนสาขาวิชาใดก็ได้ตามที่อยากเรียน แต่รัฐบาลไม่มีเหตุผลอันสมควรอันใดที่จะส่งเสริมให้คนเรียนในสาขาที่จะไม่ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับตัวผู้เรียนและสังคม”