Skip to main content

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก่อนการเข้าร่วมประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในประเด็นท่าทีของพรรคก้าวไกลต่อการเดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล คือ การผลักดันให้เกิดการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยในการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. ได้มีการล้มการตั้ง ส.ส.ร.ไปแล้วจากการโหวตลงมติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าจะถามประชาชนก่อน ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีการพูดถึงการทำประชามติเลย แต่กลับพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราแทน

"พรรคพลังประชารัฐได้เสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งก็เป็นมาตราที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์ เป็นเพียงแค่การปะผุรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มันดูดีขึ้น แต่ความจริงก็อาจเเย่ลงเพราะได้เลือกแก้ไขเฉพาะมาตรที่เอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลเท่านั้น"

ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล ประเด็นหลักคือการผลักดันให้เกิดทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายมาตรา เรายืนยันว่าสามารถทำคู่ขนานกันไปได้ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือการแก้ไขที่เป็นประเด็นหลักที่เป็นหัวใจการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่นคือ มาตรา 272 การปิดสวิตซ์และตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งข้อเสนอนี้ เราเคยเสนอมาแล้วและปัจจุบันได้เป็นที่ยอมรับของพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ใช่เเค่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เเต่รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการเสนอให้ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปด้วย  

"การปิดสวิตซ์ ส.ว. โดยเฉพาะตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นประเด็นสำคัญในข้อเสนอของเรา นอกจากนั้นเราจะต้องปฏิรูปองค์กรอิสระ ซึ่งรายละเอียดจะมีการพูดคุยกันต่อไป" 

ในประเด็นที่ได้มีการหารือกันเเล้ว ซึ่งเป็นข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา คือเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการเปลี่ยนเป็นระบบให้ประชาชนเลือกได้ทั้งพรรค และ ส.ส. เขต แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเเบบรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งหมด ยังสามารถปรับให้ดีขึ้นเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยใช้รูปแบบเดียวกับในประเทศเยอรมนี ซึ่งที่ผ่านมารูปแบบดังกล่าวถูกบิดเบือนจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ระบบเลือกตั้งรูปแบบนี้ถูกมองว่ามีปัญหามาก

ทั้งนี้ ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือถึงข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญ และจะมีการเเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านในข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป