Skip to main content

จากกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่างประกาศการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษา โดยจะมีการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้เด็กสนุก และรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ ซึ่งผลที่จะตามมาคือทำให้เด็กรักชาติ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต

ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ว่า การแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกจากวิชาสังคมศึกษา ด้วยเหตุผลว่าอยากให้เยาวชนรักชาติมากขึ้นนั้น จะเป็นการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และตั้งคำถามว่าที่จริงแล้วการแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกจากวิชาสังคมศึกษา มีประโยชน์ในด้านใด ตัวนักเรียนเองได้อะไร เสียอะไรกันแน่

Rocket Media Lab จึงชวนไปสำรวจเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์จากแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จากทั้ง 6 สำนักพิมพ์ที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้เป็นแบบเรียน ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช (วพ.) สำนักพิมพ์พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) สำนักพิมพ์แม็คเอ็ดดูเคชั่น (แม็ค) และสำนักพิมพ์เอมพันธ์ โดยแยกเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2 3 และ 4-6 ตามที่ปรากฏเป็นแบบเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ว่าเนื้อหาในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษานั้นสอนเรื่องอะไรบ้าง มีเนื้อหาอย่างไร และประเด็นที่น่าสนใจอย่างไร 

โดยพบประเด็นน่าสนใจดังนี้

- แบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยม 1-6 นำเสนอเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จากมุมมองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง โดยมีบทบาทสำคัญในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร ซึ่งปรากฏตั้งแต่ยุคสุโขทัยจนถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่
- เหตุการณ์สำคัญที่แบบเรียนหยิบมาเล่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์แบบราชการ’ แม้ปัจจุบันข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้นๆ ยังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการอยู่ก็ตาม เช่น กรณีหลักศิลาจารึก สมเด็จพระสุริโยทัย การกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- พบการให้รายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ของแต่ละสำนักพิมพ์ที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่แบบเรียนแต่ละชั้นปีก็ให้รายละเอียดแตกต่างกัน เช่น กรณีการล่มสลายของอาณาจักรธนบุรีและการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือกรณี 6 ตุลา 19 ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ระบุคู่ขัดแย้งต่างกันไป มีตั้งแต่การชุมนุมของนักศึกษาเพื่อต้านถนอม ไปจนถึงเป็นความขัดแย้งของฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดอุดมการณ์สังคมนิยมและฝ่ายขวาที่เป็นอนุรักษนิยม 
- อีกทั้งยังพบว่า แบบเรียน ศธ. ปรากฏจุดที่น่าจะพิมพ์ปีของเหตุการณ์ผิดพลาด 2 จุด คือ บรรยายว่า “16 ตุลาคม 2516” ซึ่งน่าจะหมายถึง 14 ต.ค. 2516 และ “19 พฤษภาคม 2553” ซึ่งน่าจะเป็น 2535 เพราะกล่าวถึง “ม็อบมือถือ” 
- ในแบบเรียน ม.ปลาย มีการกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดโยงกับประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่อสังคมไทยแม้กระทั่งในยุคประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ศธ.ที่ระบุว่าการมีประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่สมัย ร.5 ดังที่ปรากฏในหัวข้อ “พื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” 
- ประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มปรากฏเนื้อหาในบทเรียนมากขึ้น แต่ก็พบการตีความเนื้อหาที่สะท้อนทัศนคติทางการเมือง เช่น แบบเรียนของ ศธ. พูดถึงความจำเป็นของการรัฐประหารเพื่อยุติความรุนแรงทางการเมือง แม้ฝ่ายทหารไม่ต้องการเป็นรัฐบาล หรือประเด็นเรื่องเศรษฐกิจทุนนิยมที่ระบุว่าประชาชนใช้เงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลให้เกษตรกรในชนบทมีหนี้สินเพิ่มขึ้น
- ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังพบบทบาทกษัตริย์ในหลายมิติ ทั้งเรื่องการเมือง เช่น กรณี 14 ต.ค. 2516 และพฤษภาคม 2535 ที่แบบเรียนบรรยายว่ายุติลงได้ด้วยพระบารมีของร. 9 หรือเรื่องเศรษฐกิจ ที่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถูกหยิบมาปรับใช้หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 
- แต่ในขณะเดียวกันแบบเรียนประวัติศาสตร์ก็เลือกที่จะไม่ให้รายละเอียดในหลายๆ เรื่อง ที่มีนัยสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง เช่น ประวัติพระเจ้าตากสินและ ร.1 การสวรรคตของ ร.8 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดง 

บทสรุป

จากการศึกษาแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1-6 ของทั้ง 6 สำนักพิมพ์ที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้เป็นแบบเรียนนั้นพบว่า 

โดยภาพรวม แบบเรียนประวัติศาสตร์สำหรับนักเรียนมัธยมต่างพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ และเน้นย้ำวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ว่าควรมีลักษณะอย่างไร ก่อนที่จะนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทั้งในและนอกประเทศโดยไล่เรียงตามลำดับเวลา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยใช้หลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อสรุป แต่เมื่ออ่านอย่างละเอียดและเปรียบเทียบระหว่างสำนักพิมพ์ จะเห็นว่าแต่ละเล่มมีวิธีการเล่าเหตุการณ์เดียวกันด้วยน้ำเสียงและลีลาไม่เหมือนกัน ตลอดจนสอดแทรกทัศนคติบางประการเข้าไปในเนื้อหา แม้ว่าจะต้องเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ตาม

ขณะที่นักประวัติศาสตร์สะท้อนความกังวลต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งให้นักเรียนรักและภาคภูมิใจในชาติ จากการศึกษาของ Rocket Media Lab เห็นว่า แบบเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว เช่น การเชิดชูพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีบทบาทในหลายมิติตั้งแต่การประดิษฐ์อักษรไทยไปจนถึงการระงับความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ วิธีการนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งตายตัว แทบจะไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ข้อเสนอจากหลายมุมมอง ทั้งที่บทแรกของแบบเรียนก็เน้นย้ำว่า ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อมีหลักฐานใหม่ ทั้งยังควรวิเคราะห์และตีความจากมุมมองที่หลากหลาย

ที่มา : Rocketmedialab