Skip to main content

 

สรุป

  • สื่อต่างชาติรายงานว่ากรณีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเลิกจ้าง ‘เดวิด สเตร็คฟัสส์’ นักวิชาการอเมริกันที่มีผลงานเชิงวิพากษ์สถาบันหลักของไทย อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง
  • รายงานข่าวอ้างอิงผลจัดอันดับเสรีภาพทางวิชาการของ Scholars At Risk ที่บ่งชี้ว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 140 จากทั้งหมด 144 ประเทศที่สำรวจเมื่อปี 2563 และกรณีของสเตร็คฟัสส์บ่งชี้ว่าไทยขาดแคลนเสรีภาพทางวิชาการ
  • ม.ขอนแก่น (มข.) ยืนยันเหตุผลการเลิกจ้าง เพราะสเตร์คฟัสส์ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายได้ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะทำงานร่วมกับ มข.มานานกว่า 27 ปีในฐานะ ผอ.โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา
  • หลังจากกรณีของสเตร็คฟัสส์ถูกรายงานผ่านสื่อหลายสำนัก ตม.ขอนแก่นได้ตัดสินใจขยายเวลาพิจารณาคำร้องขอต่ออายุวีซ่าของเขาออกไป จากเดิมที่นัดฟังผลในวันที่ 19 เม.ย. เลื่อนไปเป็น 3 พ.ค.2564

เว็บไซต์ UCA News สื่อของชาวคริสต์คาทอลิก รายงานว่า 'เดวิด สเตร็กฟัส' นักวิชาการชาวอเมริกัน ซึ่งมีผลงานเกี่ยวกับไทยหลายชิ้น ถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่นยกเลิกสัญญาจ้างหลังจากทำงานด้วยกันมากว่า 27 ปี ทำให้เขาได้รับผลกระทบในการต่อวีซ่าทำงานและพำนักอยู่ในไทย แต่เรื่องนี้เป็นกลายเป็นประเด็นถกเถียง เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนีั้อาจมีประเด็นการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย

ขณะที่สื่อออนไลน์ของไทย The Isaan Record รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขอนแก่นขอขยายเวลาพิจารณาเอกสารต่อวีซ่าทำงานของสเตร็คฟัสออกไปก่อน เพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงหยุดยาววันสงกรานต์ ทำให้มีเอกสารต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก และนัดสเตร็คฟัสส์มาฟังผลต่ออายุวีซ่าอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ค.2564 และยืนยันการดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง พร้อมแจงว่าสเตร็คฟัสส์ไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คนต่างด้าว จึงไม่น่าจะมีปัญหา

กรณีของสเตร็คฟัสส์เป็นข่าวในสื่อหลายสำนัก ทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะเขารับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (CIEE) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มานานกว่า 27 ปี และเพิ่งถูกเลิกจ้างไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาเข้าร่วมการเสวนาในประเด็นทางสังคมและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ และมีผลงานเกี่ยวกับ กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) 

อย่างไรก็ตาม ทาง มข.ส่งหนังสือถึงสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองขอนแก่น โดยระบุว่าเหตุผลที่เลิกจ้างเป็นเพราะสเตร็คฟัสส์ "ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายได้" 

แถลงการณ์ ม.ขอนแก่น กรณีเลิกจ้าง เดวิด สเตร็คฟัสส์

ต่อ-ไม่ต่อวีซ่า ก็ถือว่าเป็นการ 'ส่งสัญญาณเตือน'

สเตร็คฟัสส์เป็นนักวิชาการที่สื่อต่างชาติขอสัมภาษณ์ในประเด็นเกี่ยวกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เป็นประจำ ทั้งยังมีบทความเผยแพร่ผ่านสื่อต่างประเทศหลายแห่ง เช่น The New York Times และ Aljazeera แต่หลังจาก มข.เลิกจ้างและแถลงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง สเตร็คฟัสส์ได้ยื่นขอวีซ่าทำงานใหม่กับบริษัท บัฟฟาโล่ เบิร์ด โปรดักชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารสื่อออนไลน์ในไทย The Isaan Record 

ยูซีเอนิวส์รายงานว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าไทยอยู่ในภาวะ “ขาดแคลนเสรีภาพทางวิชาการ” พร้อมอ้างผลจัดอันดับขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น Scholars At Risk ที่สำรวจข้อมูลในปี 2563 พบว่าไทยมีเสรีภาพทางวิชาการอยู่ในอันดับที่ 140 จากทั้งหมด 144 ประเทศที่ทำการสำรวจ

นอกเหนือจากกรณีสเตร็คฟัสส์ ยูซีเอนิวส์ได้อ้างถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยถูกจับกุมและตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันหลักของไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 80 คนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และสื่อที่สนับสนุนแนวคิดรอยัลลิสต์ในไทยรายงานข่าวว่าสเตร็คฟัสส์เป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง (CIA) ของสหรัฐอเมริกาที่มีความพยายามล้มล้างสถาบัน

อย่างไรก็ตาม การที่สื่อมวลชนและผู้สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมในไทยตั้งคำถามกับกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปยังผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยเฉพาะ อาจทำให้ทางการไทยผ่อนปรนหรือทบทวนการต่อวีซ่าของสเตร็คฟัสส์ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงนักวิชาการในไทยคนอื่นๆ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการในขณะนี้ด้วยเช่นกัน