CNN เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ผู้ปกครองอาจมีความกังวลว่า วิดีโอเกม อาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ด้านการใช้ชีวิต แต่การศึกษาใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา พบว่า การเล่นเกมอาจช่วยทั้งด้านความรู้ความเข้าใจและการควบคุมแรงกระตุ้นได้ด้วย โดยการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open
ที่ผ่านมาการศึกษาอื่นๆ จะค้นพบสิ่งที่คล้ายคลึงกัน แต่งานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน พบว่าเด็กที่เล่นวิดีโอเกมเป็นเวลา 3 ชม.ขึ้นไปต่อวัน จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความจำและการควบคุมแรงกระตุ้นได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นวิดีโอเกมเลย อีกทั้งผู้เล่นเกมยังมีระดับกิจกรรมในสมองเกี่ยวกับความสนใจและความจำในการทำงานที่เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขาไม่พบหลักฐานของความสัมพันธ์เชิงสาเหตุโดยตรงระหว่างวิดีโอเกมกับการปรับปรุงส่วนความรู้ความเข้าใจ
การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็ก 2,000 คนที่อายุ 9-10 ปี จากการศึกษา Adolescent Brain Cognitive Development (ABCD) ที่ติดตามเด็กประมาณ 12,000 คนสำหรับการศึกษาระยะยาวที่สุดในประเทศด้านการพัฒนาสมองและสุขภาพเด็ก
โดยการศึกษาใหม่แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่เล่นเกมมากกว่า 3 ชม. ต่อวัน และผู้ที่ไม่เคยเล่นเกม แต่ละกลุ่มทำการทดสอบสองครั้งเพื่อวัดการควบคุมแรงกระตุ้นและความจำระยะสั้นขณะทำการถ่ายภาพสมอง
เบเดอร์ ชารานี (Bader Chaarani) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า นักวิจัยควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ อายุ และสถานะภาพทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขาพบว่า ผู้เล่นวิดีโอเกมไม่เพียงแต่ทำการทดสอบได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการกระตุ้นสมองมากขึ้นในส่วนที่เชื่อมโยงกับความสนใจและความจำในการทำงานอีกด้วย
ทั้งนี้ การศึกษาไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างประเภทวิดีโอเกมที่เล่น แต่ชารานี ตั้งข้อสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่มักเล่นเกมยิงปืน และเกมแอ็คชั่นผจญภัยมากกว่าเกมตรรกะที่เล่นช้าๆ เช่น เกมที่ต้องใช้ความคิดแก้ปัญหา
ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าผู้ปกครองครวรพิจารณาเลือกวิดีโอเกมแทนการดูโทรทัศน์ โดย ชารานี บอกว่า บางทีวิดีโอเกมก็ไม่ได้แย่กว่าการดูทีวี
ด้าน เจนนี เรดสกาย (Jenny Radesky) ผู้อำนวยการกุมารเวชศาสตร์ ด้านพฤติกรรมพัฒนาการ ที่วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน บอกกับ ซีเอ็นเอ็น ว่า ผู้ปกครองและวัยรุ่นที่เห็นผลเหล่านี้ควรรู้ว่างานวิจัยส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าเล่นวิดีโอเกมบางเกมทุกวัน วันละ 1-2 ชม. เชื่อมโยงกับสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
ผู้อำนวยการกุมารเวชาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนยังกล่าวด้วยว่า ยังไม่อาจจะตอบได้ว่าการเล่นวิดีโอเกมมากขึ้นจะนำไปสู่การควบคุมแรงกระตุ้นที่ดีขึ้นหรือหน่วยความจำในการทำงานในบริบทที่ไม่ใช่หน้าจอ เช่น ห้องเรียน หรือทำงานบ้าน ซึ่งในกรณีหลังนี้ ครู/ผู้ดูแล อาจจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและสร้างทักษะทางสังคมและอารมณ์มากกว่า