นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำเนินงานตาม แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ไปถึงปี พ.ศ. 2570 ว่า ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 50 คน หรือปีละ 18,000 กว่าคน ตัวเลขนี้หากเทียบระดับโลกเราอยู่ในอันดับที่ 9 แต่หากนับเฉพาะภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 1 จึงต้องพยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้ เพราะทุกชีวิตมีความหมายและมีคุณค่ากับสังคม
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากแผนฉบับที่ 4 ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่เขียนไว้ ส่วนสำคัญจากระบบติดตามกำกับไม่ดี ดังนั้น แผนฉบับที่ 5 ที่ตั้งเป้าลดตายลงครึ่หนึ่ง ให้ลดเหลือ 12 ต่อแสนประชากร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แนวโน้มจะสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างสูง ลำพังเขียนแผนสั่งการเฉย ๆ จะสำเร็จน้อยมากๆ ความแตกต่างจากแผนฉบับเดิม คือ ทำงานหลายด้านให้สอดคล้องกัน กล่าวคือทำอย่างไรให้ปลอดภัยในภาพรวม ยานพาหนะที่ปลอดภัยต้องเป็นอย่างไร ระบบบริหารจัดการต้องเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าแผนฉบับใหม่ เน้นโฟกัสไปที่รถจักรยานยนต์ เน้นย้ำป้องกันกลุ่มนี้เป็นหลัก ว่าจะทำอย่างปลอดภัย ซึ่งคำตอบที่ง่ายที่สุดคือการเริ่มต้น จากการสวมหมวกนิรภัย เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ลดทันที่ แต่นับเป็นเรื่องท้าทายเพราะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน
“ถ้าเราอยากลดการตายบนถนนลง เราต้องรู้ว่าทำท่ีไหนและมาตรการใดจะได้ผลอย่างไร เช่น การใส่หมวกนิรภัย มีกฎหมายมานานแล้ว แต่ปัจจุบันอัตราใส่แค่ครึ่งเดียวของการขับขี่” นพ.วิวัฒน์ กล่าว
นพ.วิวัฒน์ ยกกรณีศึกษาประเทศเวียดนาม ที่ทุกวันนี้ประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก เนื่องจากรัฐมีการเตรียมตัวอย่างดี เพราะสะท้อนให้เห็นถึง #ความสูญเสีย ให้ได้ตระหนักคิดผ่านการส่งข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจ ที่สำคัญการปลูกฝังในเด็กเล็กจะทำให้เกิดความเคยชิน ในที่สุดจะทำให้รู้สึกว่าการใส่ หมวกกันน็อค เป็นปกติ
“ธรรมชาติมนุษย์จะเผลอ ในขณะที่พฤติกรรมใช้ความเร็ว เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความสูญเสีย เราต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ขับรถที่ความเร็วเท่าไหร่ เสี่ยงเสียชีวิตมากแค่ไหน เนื่องจากร่างการมนุษย์มีความเปาะบางมาก จึงต้องวางมาตรการความปลอดภัยให้กับตัวเอง และคิดเสมอว่าการอยู่บนถนนคือทำให้เกิดความเสี่ยงมากที่สุด” นพ.วิวัฒน์ กล่าว