Skip to main content

สรุป

  • ก่อนจะเข้ารับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม (33.6%) ระบุว่า มีอาการมานานกว่า 2 ปี จึงเริ่มรักษา
  • ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (56.9%) เปลี่ยนจิตแพทย์มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนเข้ารักษากับจิตแพทย์คนปัจจุบัน
  • ครึ่งหนึ่ง (51.5%) ของผู้ที่เคยรับการรักษากับจิตแพทย์มากกว่า 1 คน ใช้เวลารักษากับจิตแพทย์คนก่อนหน้านี้มากกว่า 1 ปี
  • เกือบ 1 ใน 3 (29.6%) ระบุว่า ค่ารักษาคิดเป็นร้อยละ 21 ของรายได้หรือมากกว่า
  • เกือบ 3 ใน 4 (72.3%) ใช้เวลาพบแพทย์ต่อครั้งไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  • ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการยาราคาถูกมากที่สุด รองลงมาคือ ลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่นกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ตามด้วย การทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลได้

ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่การเป็นทุกข์ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ด้วย ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมถึงระบบสาธารณสุข การสำรวจภาระโรค การบาดเจ็บ และปัจจัยเสี่ยง (Global Burden of Diseases, Injuries, and Risk Factors Study) ขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2562 พบว่าในกลุ่มอายุระหว่าง 15-29 ปี โรคทางจิตเวช 2 โรคคือ โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลเป็นสองโรคที่ติดอันดับ 1 และ 2 ของภาระโรค ส่วนการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ขณะที่ รายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อมิถุนายน 2565 เรียกร้องให้ชาติต่างๆ ลงทุนกับสุขภาพจิตให้มากขึ้น ด้วยเหตุผลว่าโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์แย่ลงทั่วโลก ในปีแรกของการระบาด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ขณะที่สัดส่วนงบประมาณด้านสุขภาพจิตของประเทศต่างๆ มีเพียงร้อยละ 2 ของงบประมาณสาธารณสุข

ในประเทศไทย ตัวเลขประมาณการจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยราว 1.35 ล้านคน อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ที่ 88.33% อธิบดีกรมสุขภาพจิตเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 กันยายนว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งโรคซึมเศร้าด้วย โดยระบุว่า เป็นไปตามแนวโน้มเดียวกันกับสถานการณ์ทั่วโลกที่เป็นผลมาจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขมุ่งคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเติมในโรงพยาบาลทั่วประเทศ  นอกจากนี้ยังประสานงานกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เพื่อผลักดันยาจิตเวชที่จำเป็นเข้าสู่บัญชียาหลักเพิ่มเติมด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้าเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในสังคมมากขึ้น ผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและกล้าพบแพทย์มากขึ้น

 Rocket Media Lab สำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับทำความเข้าใจสถานการณ์ว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาพยาบาลต้องเผชิญกับสถานการณ์ใดบ้างในกระบวนการรักษา ตลอดจนสะท้อนความต้องการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

รู้จัก (ส่วนหนึ่งของ) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

การสำรวจออนไลน์ของ Rocket Media Lab นี้ สำรวจระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคมถึง 30 กันยายน 2565 โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและเข้ารับบริการในสถานพยาบาล เพื่อทำความเข้าใจภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องเผชิญ มีผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ทั้งหมด 506 คน
ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 65.2 เพศชายร้อยละ 19.4 และ LGBT+ ร้อยละ 15 อื่นๆ ร้อยละ 0.4 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 21-30 ปี ร้อยละ 46.2 อันดับที่ 2 คือช่วงอายุ  31-40 ปี ร้อยละ 33.2 อันดับ 3 คือ 41-50 ปี ร้อยละ 11.1 ตามด้วยช่วงอายุ 13-20 ปี ร้อยละ 6.7 อายุ 51-60 ปี ร้อยละ 2.0 ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 0.8

ผู้ตอบแบบสอบถามมาจาก 50 จังหวัด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 57.7 อันดับที่ 2 นนทบุรี ร้อยละ 7.1 อันดับที่ 3 เชียงใหม่ ร้อยละ 5.1 อันดับที่ 4 ปทุมธานี ร้อยละ 4.3 อันดับที่ 5 สมุทรปราการ ร้อยละ 2.5

โดยมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด ร้อยละ 62.6 รองลงมา ปริญญาโท ร้อยละ 24.3 อันดับที่ 3 มัธยมศึกษาหรือ ปวช. ร้อยละ 7.7 อันดับที่ 4 ปริญญาเอก ร้อยละ 3.8 อันดับที่ 5 อนุปริญญาหรือปวส. ร้อยละ 1.4

อาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน คิดเป็นร้อยละ 37.2 อันดับที่ 2 นักเรียนหรือนักศึกษา ร้อยละ 15 อันดับที่ 3 รับจ้างอิสระ ร้อยละ 12.8 อันดับที่ 4 เจ้าของกิจการหรือค้าขาย และผู้ไม่ประกอบอาชีพ เท่ากันที่ร้อยละ  9.9 อันดับที่ 5 ข้าราชการ ร้อยละ 7.7

รายได้ต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 15,001-30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 32.8 อันดับที่ 2 คือผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 30,001-45,000 บาท ร้อยละ 16.8 อันดับที่ 3 ผู้ที่มีรายได้ แต่ไม่ถึง 15,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 16 อันดับที่ 4 ผู้ที่ไม่มีรายได้เลย คิดเป็นร้อยละ 15.2 อันดับที่ 5 คือผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 45,001-60,000 บาท เท่ากับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 90,001 คิดเป็นร้อยละ 6.1

โดยส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามพบแพทย์ทุก 1 เดือน คิดเป็นร้อยละ 43.9 รองลงมา พบแพทย์ทุก 2 เดือน ร้อยละ 20.2 อันดับ 3 พบแพทย์ทุก 3 เดือน ร้อยละ 18 อันดับ 4 พบแพทย์มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ร้อยละ 8.1 อันดับ 5 พบแพทย์ทุก 4 เดือน ร้อยละ 3

ทั้งนี้เกือบ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้เวลาในการพบแพทย์ต่อครั้งไม่เกิน 1 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 72.3 รองลงมาอันดับ 2 ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ร้อยละ 24.3 อันดับ 3 ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ร้อยละ 2.4 อันดับ 4 ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง ร้อยละ 1

นานเท่าใด? กว่าจะเจอหมอที่ (คิดว่า) ใช่

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนใช้เวลานานหลายปีกว่าจะรู้ว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนใช้เวลานานกว่าจะเจอกับจิตแพทย์ที่เหมาะกับตนเอง ไม่เพียงเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากมายจึงจะเชื่อมั่นในหมอที่รักษา แต่ยังทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมร่วมด้วย

ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 506 คน ผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายอาการซึมเศร้ามาแล้วระยะเวลาหนึ่ง เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ก่อนจะเข้ารับการวินิจฉัย
1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามหรือ ร้อยละ 33.6 ระบุว่า มีอาการมาแล้วนานกว่า 2 ปี จึงจะเริ่มรักษา อันดับที่ 2 มีอาการระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี ร้อยละ 24.1 อันดับที่ 3 มีอาการน้อยกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี ร้อยละ 23.7 อันดับที่ 4 มีอาการนาน 1-2 ปี ร้อยละ 12.6 อันดับที่ 5 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 5.9

ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.9 เปลี่ยนจิตแพทย์มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนจะเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์คนปัจจุบัน จำแนกเป็นผู้ที่เคยรักษากับจิตแพทย์มาก่อนหน้านี้ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 27.7 เคยหามาแล้ว 2 คน ร้อยละ 12.5 เคยรักษากับจิตแพทย์มาแล้ว 3 คน ผู้ที่เคยรักษากับจิตแพทย์มาแล้ว 3 คน ร้อยละ 8.7 ผู้ที่เคยรักษากับจิตแพทย์มากกว่า 5 คน ร้อยละ 3.8 ผู้ที่เคยรักษากับแพทย์มาแล้ว  4 คน ร้อยละ 2.8 และผู้ที่เคยรับการรักษากับจิตแพทย์มาแล้ว 5 คน ร้อยละ 1.6 ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่เคยรักษากับจิตแพทย์คนอื่นเลย ร้อยละ 43.1

ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เคยเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์มากกว่า 1 คน ใช้เวลารักษากับจิตแพทย์คนก่อนหน้านี้มากกว่า 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 51.5 ซึ่งสามารถจำแนกเป็นผู้ที่ใช้เวลารักษากับ 1-2 ปี ร้อยละ 16.5 ใช้เวลา 2-3 ปีร้อยละ 15.5 ใช้เวลามากกว่า 5 ปี ร้อยละ 11.3 และ และผู้ที่ใช้เวลารักษานาน 3-5 ปีร้อยละ 8.2 ส่วนผู้ที่ใช้เวลารักษาน้อยกว่า 6 เดือน มีร้อยละ 31.3 และระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี ร้อยละ 17.2

สำหรับการรักษาในปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 82.2 พอใจจิตแพทย์คนปัจจุบัน มีร้อยละ 17.8 ที่ไม่พอใจแพทย์ที่ตนเองกำลังเข้ารับการรักษา

สำหรับเหตุผลตัดสินใจเลือกรักษาที่สถานพยาบาลปัจจุบันว่า มีผู้ตอบว่า เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษามากที่สุด ร้อยละ 25.9  อันดับที่ 2 ได้รับคำแนะนำจากบุคคลอื่น ร้อยละ 19.8 อันดับที่ 3 ตามสิทธิรักษาพยาบาล ร้อยละ 17.6 อันดับที่ 4 เดินทางสะดวก ร้อยละ 17.2 อันดับที่ 5 แพทย์ส่งมารักษาต่อร้อยละ 3.8 อันดับที่ 6 สะดวกไม่ต้องรอคิวนาน ร้อยละ 2.7 จากข้อมูลอาจสะท้อนว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการรักษาเป็นลำดับต้นๆ 

โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ที่ไม่พอใจแพทย์ที่ตนเองกำลังเข้ารับการรักษาพบว่า ให้เหตุผลว่าเป็นการรักษาตามสิทธิมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 24.4  และร้อยละ 17.7 ระบุว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่ผู้ที่พอใจกับแพทย์ปัจจุบัน มีผู้ให้เหตุผลว่า เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 27.8

นอกจากนี้เมื่อถามถึงประสบการณ์หยุดรักษากลางคัน สัดส่วนระหว่างผู้ที่เคยกับผู้ที่ไม่เคยหยุดรักษากลางคันใกล้เคียงกันมาก ร้อยละ 46.2 เคยหยุดรักษากลางคัน ขณะที่ร้อยละ 53.8 ไม่เคย สำหรับที่เคยหยุดรักษากลางคัน มีผู้ตอบแบบสอบถามที่หยุดการรักษาเพราะคิดว่าตนเองดีขึ้นแล้วมากที่สุดร้อยละ 20.9 มีร้อยละ 19.2 ให้เหตุผลว่า มาจากการค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ให้เหตุผลว่าไม่สะดวกในการเดินทางมีร้อยละ 10.6 ผู้ที่ตอบว่า ผลข้างเคียงจากยา ร้อยละ 6.3

1 ใน 3 เสียเงินค่ารักษาคิดเป็น 21% ของรายได้ขึ้นไป

จากการสำรวจเหตุผลในการเลือกรักษาพยาบาลก่อนหน้านี้สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความพึงพอใจระหว่างคนไข้กับแพทย์เป็นหัวใจสำคัญของการรักษา แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาของผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งบัตรทอง บัตรประกันสังคม และบัตรข้าราชการ  แต่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เลือกจ่ายค่ารักษาเอง เนื่องจากความไม่สะดวกจากการขอใบส่งตัวจากคลินิกต้นสังกัดเพื่อรักษาในโรงพยาบาลที่สะดวก โดยอธิบายว่า เลือกจ่ายเองเพราะเดินทางจุดเดียว วันเดียวจบ ลดความวุ่นวาย แทนที่จะใช้สิทธิรักษาฟรี

สถานพยาบาลที่ผู้ตอบแบบสอบถามเข้ารับการรักษาครั้งล่าสุด มีสัดส่วนใกล้เคียงกันระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีผู้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัดรัฐ ร้อยละ 50.69 สังกัดเอกชนร้อยละ 48.51 อื่นๆ เช่น แอปพลิเคชัน

ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท จำนวนมากกว่า 2 ใน 3 เลือกชำระค่ารักษาเองทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 68.2 รองลงมาใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ร้อยละ 11.9 อันดับที่ 3 สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 8.7 อันดับที่ 4 ประกันสุขภาพ/สวัสดิการของที่ทำงาน ร้อยละ 5.7 อันดับที่ 5 สิทธิข้าราชการร้อยละ 5.3 อันดับที่ 6 ประกันสุขภาพส่วนบุคคล ร้อยละ 0.2

สำหรับผู้ที่ใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เกินครึ่งตอบว่า ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ร้อยละ 51.6 ครอบคลุมบางส่วน ร้อยละ 48.4 โดยเมื่อพิจารณา เหตุผลที่เข้ารับบริการของผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายพบว่า เลือกเพราะตามสิทธิเบิกจ่ายมากที่สุด ร้อยละ 67.3 รองลงมาเป็น ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายร้อยละ 11.54  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้สิทธิเบิกจ่ายร้อยละ 77.8 พอใจกับแพทย์คนปัจจุบัน

ขณะที่ในจำนวนผู้ตอบว่าจ่ายค่ารักษาเองให้เหตุผลว่า เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษาของจิตแพทย์คนปัจจุบันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 33.9 รองลงมาคือ ได้รับคำแนะนำจากบุคคลอื่นร้อยละ 25.2 ทั้งนี้จำนวนผู้ที่จ่ายเองพอใจจิตแพทย์คนปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 83.7

มีผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 29.6 ตอบว่า ค่ารักษาคิดเป็นร้อยละ 21 ของรายได้ขึ้นไป ซึ่งจำแนกเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 21-30 ของรายได้ร้อยละ 13.8 ค่าใช้จ่ายร้อยละ 31-40 ของรายได้ ร้อยละ 5.1 ค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ ร้อยละ 5.5 ค่าใช้จ่ายร้อยละ 41-50 ของรายได้ ร้อยละ 2.6 ค่าใช้จ่ายร้อยละ 51-60 ของรายได้ ร้อยละ 1.4 ค่าใช้จ่ายร้อยละ 61-70 ของรายได้ร้อยละ 1.2 ขณะที่ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายจ่ายทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.7 และผู้ที่มีค่าใช้จ่ายร้อยละ 10-20 ของรายได้มีร้อยละ 26.7

ค่ารักษาพยาบาลก่อนใช้สิทธิเบิกจ่ายต่อครั้ง มีความหลากหลาย ตั้งแต่ไม่เสียเลยไปจนถึงมากสุดที่ 35,000 บาท โดยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 1,800 บาท ทั้งนี้ มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 52) เป็นผู้ที่เสียค่ารักษาพยาบาล มากกว่า 1,501 บาทขึ้นไป กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กลุ่มที่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 200 บาทต่อครั้ง อยู่ที่ร้อยละ 16.8% ตามด้วย 1,401-1,600 บาท ร้อยละ 9.5 อันดับ 3 คือ 1,801-2,000 บาท อยู่ที่ร้อยละ 7.3 อันดับ 4 คือ 2,801-3,000 บาท อยู่ที่ร้อยละ 6.7  และอันดับ 5 จ่าย 801-1,000 บาท อยู่ที่ร้อยละ 5.7

ค่ายา มีความหลากหลาย ตั้งแต่ไม่เสียค่ายาเลยไปจนถึงมากสุดที่ 32,000 บาทต่อครั้ง โดยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 2,075 บาท ทั้งนี้ เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 47.8) เป็นผู้ที่เสียค่ายามากกว่า 1,501 บาทขึ้นไป โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 1 ใน 10 (ร้อยละ 13.8) เสียค่ายาตั้งแต่ 5,001 บาทขึ้นไป  กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กลุ่มที่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 200 บาทลงไป ร้อยละ 13.8 ตามด้วย 801-1,000 บาทและ 1,801-2,000 บาท อยู่ที่ร้อยละ 10.1 ท่ากัน 1,401-1,600 บาท ร้อยละ 7.3  และ 401-600 บาทร้อยละ 6.3

1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามบำบัดซึมเศร้าเพิ่มเติมหลากหลายวิธี

นอกจากจิตแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังใช้วิธีการบำบัดอื่นร่วมด้วยเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าให้หายไวขึ้น โดยให้เหตุผลหลากหลาย เช่น โรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาตามสิทธิบัตรทองในต่างจังหวัด มีจิตแพทย์แค่ 1 คนเท่านั้น จึงหาทางเลือกอื่นด้วยการพบนักจิตบำบัดที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองร่วมด้วย อาการจึงดีขึ้น หรือมีกรณีที่อยู่ระหว่างนัดพบจิตแพทย์ แล้วหากเกิดความกังวลหรือจัดการตัวเองไม่ได้ ก็จะใช้บริการนักบำบัดที่ติดต่อได้ทันที

ผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้วิธีการบำบัดอื่นร่วมด้วยเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 36.2 ส่วนที่เหลือร้อยละ 63.8 รักษากับจิตแพทย์เพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่ใช้การบำบัดอื่น แบ่งเป็น การบำบัดกับนักจิตวิทยามากที่สุด ร้อยละ  65.8 อันดับที่ 2 กิจกรรมบำบัดและศิลปะบำบัด เท่ากันที่ ร้อยละ 22.3 อันดับที่ 4 ดนตรีบำบัด ร้อยละ 10.9 อันดับที่ 5 ละครบำบัดร้อยละ 2.1 โดยค่ามัธยฐานของค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ 500 บาท

โดยเมื่อพิจารณาเหตุผลของการบำบัดด้วยวิธีการอื่นพบว่า มีหลายคนพบนัดจิตวิทยาควบคู่กับจิตแพทย์ในสถานพยาบาลเดียวกันตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ตอบแบบสอบถามพอใจที่ได้พบนักจิตวิทยาร่วมด้วย เพราะคิดว่าจิตแพทย์มีเวลาจำกัด เน้นไปที่การปรับยามากกว่า

ยาราคาถูก-ระบบการทำงานยืดหยุ่น ความหวังของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

เมื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งส่วนใหญ่ชำระค่ารักษาเองทั้งหมดระบุว่าต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านใดบ้าง ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการยาราคาถูกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 41.1 รองลงมาคือ ลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่นกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ร้อยละ 27.3 อันดับที่ 3 คือ สามารถทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลได้ ร้อยละ 27.1 อันดับที่ 4 มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการบำบัดโดยด่วน ไม่ต้องรอนัดหมาย ร้อยละ 26.3 อันดับที่ 5 ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับการพบนักจิตวิทยา ร้อยละ 24.3 อันดับที่ 6 รัฐมีช่องทางการเข้าถึงนักจิตวิทยาที่สะดวกและเป็นระบบ ร้อยละ 22.7 อันดับที่ 7 ได้รับการสนับสนุนทางการเงินให้กับการบำบัดอื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาหลักกับจิตแพทย์ ร้อยละ 22.3 อันดับที่ 8 ความถี่ในการพบแพทย์ที่เหมาะสม ร้อยละ 18.4 อันดับที่ 9 สัดส่วนของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย ร้อยละ 18 อันดับที่ 10 มีระบบจำกัดระยะเวลารอพบแพทย์ไม่ให้นานเกินไป เช่น ไม่ควรเกิน 1 เดือน ร้อยละ 14.2
    
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต ด้วยการสนับสนุนและผลิตบุคลากรทางด้านจิตให้มากขึ้น รวมทั้งมีการเชื่อมต่อการรักษาระหว่างจิตแพทย์และนักจิตบำบัดด้านอื่นตามความเหมาะสมของคนไข้ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องรอแพทย์ตรวจนาน ขณะที่มีเวลาพบแพทย์สั้นๆ เช่น มีกรณีที่ได้ปรึกษากับแพทย์นาน 5-7 นาที นอกจากนี้ในหลายจังหวัด มีตัวเลือกสถานให้พยาบาลหรือแพทย์ค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องเดินทางไปรักษาไกล ผู้ตอบแบบสอบถามสะท้อนประสบการณ์การรักษาด้วยสิทธิการรักษาพยาบาลว่า ควรให้สิทธิรักษากับโรงพยาบาลโดยตรง โดยไม่ต้องไปขอใบส่งตัวจากคลีนิคมิตรไมตรีที่เป็นต้นสังกัด เพราะต้องเดินทางเพิ่มหลายจุด วุ่นวาย เสียเวลา ค่าเดินทาง

ขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสอบถามก็ต้องการให้ยาจิตเวชที่มีคุณภาพอยู่ในหลักบัญชีแห่งชาติมากกว่านี้ การใช้ยานอกบัญชีเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมาก ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งระบุว่า “อยากให้เบิกได้ โดยไม่จำกัดตัวยา เนื่องจากแพ้ยาในระบบที่ราคาถูก ทำให้ต้องจ่ายค่ายานอกระบบตัวที่ราคาแพงกว่าเองทั้งหมด เพิ่มปริมาณแพทย์โรงพยาบาลรัฐ สาเหตุที่ยอมไปเอกชนที่ราคาแพงกว่ามากๆ เพราะมีช่วงที่อาการแย่มากๆ ไม่สามารถทนรอเวลานัดของรพ.รัฐที่ต้องรอนานหลายเดือนได้”

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังกังวลในประเด็นการทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลกับบริษัทเอกชน เนื่องจากบริษัทปฏิเสธผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า อีกทั้งยังไม่ยอมให้ผู้ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าทำประกันสุขภาพด้วย ทั้งที่หายจากโรคมาแล้วหลายปี ผู้ตอบแบบสอบถามจึงต้องการให้มีการกำกับดูแลการทำประกันสุขภาพด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ภาครัฐสร้างความเข้าใจ เพื่อลดอคติต่อผู้ป่วยจิตเวชให้เห็นภาพด้านดีของผู้ป่วยมากขึ้น มากกว่าภาพที่น่ากลัว และอยากให้รัฐทำระบบการส่งต่อผู้ป่วยในการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ และมีงานทำ พร้อมมีสิทธิค่ารักษาครอบคลุมค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูและรักษา
    
เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน จึงมีความเห็นว่า บริษัท นายจ้าง หรือฝ่ายทรัพยากร​บุคคล ​ควร​ให้ความสำคัญ​กับสุขภาพจิตของพนักงาน นอกจากสร้างความเข้าใจเพื่อลดการตีตราต่อผู้ป่วย เช่น การอบรมพนักงานแล้ว ควรมีนักจิตวิทยาประจำองค์กร เพื่อให้พนักงานเข้ารับการปรึกษาได้สะดวกขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามบางคนมองว่า ควรออกกฎหมายให้มีนักจิตวิทยาหรือเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญประจำทุกสถานที่ทำงาน สถานศึกษา และชุมชน และจัดเวลาให้ทุกคนได้รับคำปรึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นประจำ และเท่าเทียม ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น รวมทั้งมีระบบทำงานที่ยืดหยุ่นแก่ผู้ที่มีอาการจิตเวช รวมถึงมีระบบลาป่วยที่คำนึงถึง​ปัจจัย​การพบจิตแพทย์​ โดยขอให้การจ้างออกคือทางเลือกสุดท้าย

ภาระค่าใช้จ่ายจากยาใน-นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ

จำนวนแพทย์ที่ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้เพียงพอ จนนำไปสู่การหันไปรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ที่ผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง เป็นปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องเองก็ตระหนักถึง นพ.ปิยะวัฒน์ เด่นดำรงกุล คณะกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเคยให้ความเห็นว่า การรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าต้องใช้เวลานานในการตรวจ ขณะที่มีคนไข้มารับการรักษาจำนวนมาก แต่จำนวนแพทย์มีจำกัดทำให้แพทย์ต้องบริหารเวลา ด้วยสภาวะที่มีผู้ป่วยแออัด คนไข้หลายคนจึงเลือกรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐมาก ขณะเดียวกันผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ตอบสนองต่อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ต้องใช้ยาที่อยู่นอกบัญชีที่มีราคาสูง นพ.ปิยะวัฒน์เสนอว่า กระทรวงสาธารณสุขควรเพิ่มบุคลากรเพื่อรองรับกับปริมาณผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มากขึ้น และเพิ่มงบประมาณสายด่วนสุขภาพจิตเพื่อให้ผู้มีภาวะซึมเศร้าได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังมาจากค่ายานอกบัญชียาหลัก นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลให้สัมภาษณ์ในประเด็นการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติว่า การจ่ายยาของแพทย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แพทย์บางคนใช้ยาในบัญชียาหลัก ซึ่งปัจจุบันมี 8 รายการ บางคนก็ชอบใช้ยานอกบัญชี จึงตอบยากว่า มีสัดส่วนเท่าใด สำหรับตนเองใช้ยาในบัญชีเป็นหลัก เพราะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานอกบัญชีไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งจำเป็นต้องใช้ เพราะยาในบัญชีมีผลข้างเคียงหรือใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้ยาในบัญชียาหลักได้ แต่ก็เห็นว่า ควรเพิ่มยาในบัญชีหลักให้มากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาในบัญชียาหลักได้ ค่าใช้จ่ายระหว่างยาในบัญชีกับนอกบัญชีต่างกันมากหลายเท่าตัว

นิมิตร์ย้ำ ต้องไม่มีส่วนต่างค่ายา  

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำหลักการว่า โรคซึมเศร้าเป็นสิทธิประโยชน์ในทุกระบบ ไม่ว่า ประกันสังคม บัตรทอง ข้าราชการ หมายความว่าถ้าเราป่วย สิทธิประโยชน์คือไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษา

ส่วนกรณีที่ต้องใช้ยา หลักการคือ ยาที่ระบบจะจ่ายต้องเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลัก ซึ่งกลไกและกระบวนการพิจารณายาของบัญชียาหลักคือ หมอ กระทรวง กอง ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่รวมถึงภาคประชาชน จะเสนอให้อนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติพิจารณาว่า ยาตัวไหนที่ควรเข้ามาอยู่ในบัญชี โดยมีงานวิชาการเข้ามาซัพพอร์ต แล้วถ้าตัวไหนผ่านเข้าไป ก็จะอยู่ในสิทธิประโยชน์ เวลาเราป่วย หมอก็จะรักษาเราด้วยยาในบัญชียาหลัก เราก็ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างเรื่องยา 

นิมิตร์ อธิบายต่อว่า กรณีที่เรามักได้ยินว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าบอกว่าค่ายาแพงมาก หมายความว่าน่าจะเป็นยานอกบัญชี พอเป็นยานอกบัญชี โรงพยาบาลก็จะเรียกเก็บเงิน ซึ่งมีทางเลือกสองทาง ทางที่หนึ่งคือ เราเจรจากับหมอให้เปลี่ยนยาให้ โดยเลือกยาที่อยู่ในบัญชียาหลัก และอีกทางเลือก สำหรับผู้ป่วยในระบบบัตรทองและประกันสังคม คือผู้ป่วยต้องยืนยันสิทธิว่า ถ้าหมอผู้รักษา เป็นคนตัดสินใจใช้ยาตัวที่อยู่นอกบัญชียาหลักให้เรา โดยที่เราไม่ได้เป็นคนร้องขอ หลักการคือเราไม่ต้องจ่ายเงิน

"เพราะว่าเราเป็นผู้ป่วยและเราไม่รู้หรอกว่าการรักษาจะต้องใช้ยาตัวไหน คนที่รู้ คิดและตัดสินใจใช้ยา คือ หมอ เพราะฉะนั้น ระบบบอกไว้เลยว่า ถ้าเป็นแนวทางการรักษาของหมอที่จะตัดสินใจใช้วิธีรักษาเราแบบนี้ๆ มันอยู่ในสิทธิประโยชน์แม้ว่าจะอยู่นอกบัญชี

"หมอก็มีหน้าที่จ่ายยาแล้วไปอุทธรณ์กับระบบว่ายาตัวนี้มันสำคัญ จำเป็นต้องใช้ ไม่มีตัวเลือกอื่น แต่ราคาอาจจะแพงกว่า เพราะฉะนั้นก็ไปเคลมเงินเพิ่มกับระบบ ทีนี้ถ้าระบบถูกเคลมเงินเพิ่มจากยาตัวนี้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ คนจ่ายเงินคือ สปสช. หรือประกันสังคม ต้องเป็นคนเสนอยาตัวนี้เข้ามาให้กรรมการบัญชียาหลักพิจารณา เพื่อให้อยู่ในบัญชีเสีย เพราะถ้าใช้บ่อย เท่ากับว่ามีความสำคัญ จำเป็น"

นิมิตร์ เล่าว่า ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไต ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งมีความเรื้อรังของโรค ต้องจ่ายค่ายาอยู่เรื่อยๆ พอได้รู้ข้อเท็จจริงนี้ก็พยายามยืนยันสิทธิและได้ผลพอสมควร แต่ยังไม่มากพอ เพราะบางคนก็กลัวว่าร้องเรียนไปจะถูกกลั่นแกล้ง ไม่รักษา

"นี่คือสารหลักที่เราส่งเสียงบอกกับผู้คนว่าเรามีสิทธิอย่างนี้นะ เพียงแต่ในทางปฏิบัติจริง ต้องแข็งแรงพอ เพราะมันต้องไปเผชิญหน้ากับห้องยา ห้องเก็บเงิน สมมติเราไปถูกเรียกเก็บเงินตรงห้องแล้วเราบอกไม่จ่าย แล้วขอให้เปลี่ยนเป็นบัญชียาหลัก ห้องเก็บเงินจะบอกว่าคุณต้องไปบอกกับหมอ พอจะกลับไปหาหมอ หมอที่ตรวจเราอาจจะออกเวรไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหมอตรวจเสร็จแล้วบอกว่าเดี๋ยวจ่ายยาให้ ต้องต่อรองตรงนั้นเลยว่าเป็นยาอะไร ยาอยู่นอกบัญชีไหม มีตัวอื่นไหม ถ้ามีตัวในบัญชีหมอต้องเปลี่ยนเป็นตัวในบัญชีให้ เราไม่พร้อมจ่ายเงิน แล้วถ้าไม่มี หมอต้องเขียนไปว่าไม่มียาตัวอื่นให้เลือก เพราะฉะนั้น คุณเก็บเงินเราไม่ได้ ต้องต่อรองตั้งแต่ตอนอยู่กับหมอ พอเราแข็งขัน ยืนยันแบบนี้เขาก็ต้องยอม"

“ย้ำว่า ต้องไม่มีส่วนต่าง กรณีถือบัตรทอง เราจ่ายได้เต็มที่ 30 บาท ถ้าประกันสังคม ต้องไม่จ่ายเลย ถ้าถูกเก็บส่วนต่าง ต้องร้องเรียนและเอาเงินคืน แต่เบื้องต้นคือต้องไม่จ่าย”

ที่มา : ผลสำรวจภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก.ค.-ก.ย.65 [ข้อมูลดิบ]