อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “Health for Wealth สู่การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน” ในพิธีเปิดการประชุมงานมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา
อนุทินได้กล่าวถึงความสำคัญในการรักษามาตรฐาน และต่อยอดความสำเร็จของประเทศ จาก 6 ดัชนีชี้วัดที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 5 จาก 195 ประเทศ และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ในฐานะประเทศที่มีความมั่นคงทางสาธารณสุขในปีล่าสุด พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน
ในตอนหนึ่ง อนุทินได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ “สุขภาพ นำ เศรษฐกิจ” Health for Wealth โดยยกตัวอย่างนโยบายกัญชา ที่เปิดโอกาสให้นำพืชกัญชากัญชงมาใช้สร้างเสริมสุขภาพ และเปิดโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศในฐานะพืชเศรษฐกิจด้วย
โดยระหว่างการกล่าวปาฐกถา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้กล่าวถึงเหตุการณ์วานนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการโหวตถอนร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังนำเสนอต่อสภาฯว่า
“ไหนๆ พูดถึงเรื่องนโยบายกัญชาแล้ว ก็ต้องบอกกล่าวกันครับ ว่าเมื่อวานนี้ในสภา ได้เกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้น คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่ถูกปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการแล้ว ได้ถูกถอนออกไปจากการพิจารณา โดยผู้ที่เสนอให้ถอนและผู้สนับสนุนนั้น อ้างว่าต้องการให้ไปพิจารณาให้รอบคอบก่อน ผมก็แปลกใจครับ ว่าร่างที่มีการแก้ไขปรับปรุง จากเดิมมีเพียง 45 มาตรา แก้ไขไป 21 มาตรา และเพิ่มใหม่กว่า 60 มาตรา โดยที่มีทั้งกรรมาธิการและผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาครบทุกด้านนั้น จะไม่รอบคอบกว่าร่างเดิมที่ผ่านวาระรับหลักการมาแล้วได้อย่างไร แต่เข้าใจได้ว่าเป็นประเด็นการเมือง เมื่อประชาชนจำนวนมากเริ่มได้รับประโยชน์จากนโยบายกัญชาแล้ว ในขณะที่การเลือกตั้งก็ใกล้เข้ามา ก็เข้าใจได้ในเป้าประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มที่คัดค้าน อย่างไรก็ดี ขอให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า ประโยชน์ทางการแพทย์ต่างๆที่ประชาชนได้รับจากนโยบายกัญชานั้นจะไม่สะดุด เพราะทางกระทรวงสาธารณสุขเราได้ออกประกาศที่จำเป็นสำหรับการควบคุมและบังคับใช้ไว้หมดแล้วตั้งแต่ช่วงต้นของการปลดล็อคครับ” อนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่เสนอให้ถอนร่างออกไปก่อนจนนำสู่การลงมติดังกล่าว คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย โดยทั้งสองพรรคมีท่าทีในการพยายามผลักดันให้นำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยยืนยันประโยชน์ของกัญชาว่ามีน้ำหนักเหนือความเสี่ยงของการใช้งานในทางที่ผิด โดยเฉพาะเมื่อได้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชนแล้ว