Skip to main content

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมเตรียมมาตรการรับนักท่องเที่ยว ว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นนักท่องเที่ยวประเทศใด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคมและ กรุงเทพมหานคร โดยสรุปมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกมิติ และมาตรการที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว

“กรณีที่ประเทศไหนมีข้อกำหนดพิเศษ เช่น บางประเทศต้องตรวจ RT-PCR ให้กับนักท่องเที่ยวก่อนจะเดินทางกลับประเทศต้นทาง ก็จะมีมาตรการโดยต้องซื้อประกันสุขภาพ เพราะจะเป็นประโยชน์ หากพบเชื้อ ต้องพักรักษาตัวจนกว่าจะเป็นลบในประเทศไทยก่อน จึงเห็นว่าจะนักท่องเที่ยวควรต้องซื้อประกันสุขภาพให้เรียบร้อยก่อนจะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับเรื่องทั่วไปหากไม่มีข้อกำหนด จะเป็นลักษณะการให้คำแนะนำ แต่เน่นย้ำว่าขอให้ซื้อประกันสุขภาพเพื่อความสะดวกในมิติต่าง ๆ กรณีที่เกิดเจ็บป่วยภายในประเทศไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

อนุทิน กล่าวว่า จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ติดตามสถานการณ์โรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ร่วม 3 กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองรับเตรียมพร้อมและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

เมื่อถามย้ำว่า ค่าเหยียบแผ่นดินที่จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวของกระทรวงการต่างประเทศ และประกันสุขภาพมีความต่างกันหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ค่าเหยียบประเทศยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น การทำประกันสุขภาพจากประเทศต้นทาง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อติดตัวไว้

“ส่วนเงื่อนไขประกันสุขภาพที่ต้องซื้อเป็นไปตามมาตรฐานสากลครอบคลุม การเจ็บป่วย รักษาตามข้อกำหนดของประกันสุขภาพที่ต้องครอบคลุมการติดเชื้อ โควิด-19 ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวมักจะซื้อประกันสุขภาพอยู่แล้ว เพราะคุ้มค่ามากกว่า สามารถดูแลค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วยได้ครอบคลุม ส่วนใหญ่ประเทศที่ต้องการตรวจRt-pcr ก่อนกลับประเทศต้นทาง จะต้องทำประกันสุขภาพ เพราะเป็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมต่อทั้งสองประเทศ ทั้งประเทศที่รับนักท่องเที่ยวและประเทศต้นทาง” อนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมของสถานที่ให้บริการตรวจ RT-PCR ของไทยมีความพร้อมหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะใช้ระบบที่เคยทำมาคือห้องแลปปฎิบัติการ คลินิกที่ขึ้นทะเบียน  ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้โรงแรมที่พักมาร่วมทำข้อตกลงความร่วมมือจัดให้มีซุ้มตรวจ RT-PCR เนื่องจากเป็นผลการตรวจที่ต้องใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะขอความร่วมมือให้โรงแรมอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่าหากพบเชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นในประเทศไทยจะมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างไร อนุทิน กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น เป็นอีกเรื่อง หากกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่แล้วพิสูจน์ว่าวัคซีนไม่ครอบคลุม มีการเจ็บป่วย จะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่จะถือเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่

ส่วนทางกรุงเทพมหานคร เสนอมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีให้ข้อมูลและคำแนะนำที่ดี และยืนยันที่จะให้ความร่วมมือทุกเรื่อง

อนุทิน กล่าวว่า วันที่ 12 มกราคมนี้จะมีเที่ยวบินแรกที่เดินทางมาจากประเทศจีน ซึ่งรัฐมนตรีคมนาคมและรัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ จะไปตรวจความพร้อมการปฎิบัติงานและดูสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความสะดวกที่สุดกับนักท่องเที่ยว ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่คนไทย คนที่เกี่ยวข้องทุกคน ทุกฝ่ายมีความพร้อม สาธารณสุขก็มีความพร้อมในการควบคุมป้องกัน คัดกรอง กระทรวงคมนาคมก็เตรียมคัดกรองตามด่านบก น้ำอากาศ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ขณะที่การท่องเที่ยวขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานต่าง ๆ ผู้ให้บริการที่จะปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย โดยยึดมาตรฐานที่เคยปฏิบัติกันมา

“เราจะใช้พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อเป็นหลักในการควบคุม และมีคณะกรรมการออกแนวทางการปฏิบัติ โดยไม่เพิ่มความกดดันต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของอาจารย์แพทย์ คณบดีและจากหลายฝ่าย ที่มองว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ ดังนั้น อย่าไปตื่นเต้น ตระหนกจนเกินไป จนเราจะไม่ทำอะไรเลย เพราะนี่คือโอกาสที่เราจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สูญเสียไป แบกรับมาเป็นเวลาสามปี เราเปิดประเทศด้วยความพร้อม ทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวสำคัญอย่างมากสำหรับไทย อีกทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกัน อีกมากมาย จึงน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะพลิกฟื้นซ่อมแซม เสริมสร้างสิ่งที่เราเสียหายกลับมาในปีกระต่าย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว