ครม.มีมติเพิ่มค่าป่วยการให้ อสม.จากเดือนละ 1,000 เป็น 2,000 บ. ขณะที่ลูกจ้างสังกัด สธ.ตัดพ้อเลือกปฏิบัติ โวยค่าเสี่ยงภัยโควิดล่าช้า 2 ปียังจ่ายไม่ครบ หลายจังหวัดไม่ได้รับ
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 7มี.ค.ว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการ อสม.จาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท และเพิ่มจำนวน อสม.ที่มีสิทธิรับค่าป่วยการในการของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เป็น 1,090,163 คน โดยเป็น อสม. 1,075,163 คน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 15,000 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
อนุทินกล่าวต่อว่า อสม. ถือเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขไทยที่แข็งแกร่ง องค์การอนามัยโลกยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญที่ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด เป็นกลุ่มมวลชนที่อาสามาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ประเทศอื่นไม่มี ซึ่งขณะนี้ อสม.มีภารกิจในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินนโยบาย '3 หมอ' คนไทย 1 คน มีหมอ 3 คน ซึ่งหมอคนแรกคือ อสม.คอยทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเรื่องสุขภาพ คัดกรอง เก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ติดตามประสานงาน เยี่ยมบ้าน ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ประสานงานกับแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ปฐมพยาบาล หรือส่งต่อ นอกจากนี้ ยังช่วยเฝ้าระวังสอดส่องเรื่องยาเสพติดในชุมชน หมู่บ้าน และประสานแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย
รมว.สาธารสุขกล่าวว่า การเพิ่มค่าป่วยการ อสม.จะช่วยเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย และเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเงินสะสมเข้ากองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ (ฌกส.) ทำให้ทายาทของ อสม.ที่เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนเกือบ 5 แสนบาทต่อราย ทั้งนี้ หากเฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชาชน 30 คน อสม.ล้านกว่าคน เท่ากับใช้เงิน 65 บาทต่อวัน หรือประมาณ 2 บาทต่อคนต่อวัน ในการมีเครือข่ายสุขภาพดูแลประชาชนทั้งประเทศ
ภายหลังมีการนำเสนอข่าว ครม.เพิ่มค่าป่วยการให้ อสม. มีบุคลากรในสังกัดสาธารณสุขจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความคิดในเชิงตัดพ้อผู้บริหารกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงความล่าช้าในการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานโควิด โดยกล่าวว่า อสม.ได้เพิ่มค่าป่วยการ แต่บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะลูกจ้างสายสนับสนุน กลับต้องรอค่าเสี่ยงภัยปฏิบัติงานโควิด หรือค่าเสี่ยงภัยโควิด ซึ่งมีความล่าช้ามาก จนบัดนี้ยังได้ไม่ครบในหลายพื้นที่
โอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่า ชัดเจนว่ารัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่จริงใจ หรือเห็นใจลูกจ้างสายสนับสนุน แน่นอน อสม.ทุกคนมีความสำคัญ แต่ในขณะที่ลูกจ้างสายสนับสนุนก็ทำงานรับใช้กระทรวงสาธารณสุขมานาน ทำงานฟันฝ่าช่วงโควิดมาตลอดไม่ต่างกัน พอจะได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานโควิด กลับต้องรอแล้วรออีก แทนที่กระทรวงจะช่วยกระทุ้ง ผู้บริหาร สธ.จะช่วยผลักดันมากกว่านี้ แต่เรื่องก็ยังล่าช้า หลายจังหวัดไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย หลายจังหวัดได้รับไม่ครบ
โดยส่วนหนึ่งของลูกจ้างในสังกัดกระทรวงสาธารณุสุขออกมาแสดงความเห็น
“หันมาช่วยคนทำงาน ระดับล่างหน่อยค่ะท่าน รพ. มีแค่แพทย์ พยาบาล แค่นั้นได้ ส่วนอื่นๆก็สำคัญ และสำคัญมากกกกกกก ด้วยค่า..”
"ค่าเสี่ยงภัย ครบยังอะ เพิ่มนั้นนี่เยอะจัง บันจุตำแหน่ง พนักงาน พกส. เป็นพนักงานราชการ ทำให้ได้ก่อนเหอะ ตำแหน่งเล็กๆ ในองกร ก็มีชีวิต มีครอบครัวภาระที่ต้องรับผิดชอบนะครับ ฝากไปถึง กพ. เลิกตั้งกฏเกน วุฒป.ตรี ต้อง จบ บริหาร ถึงได้ตำแหน่งนั้นนี้ คนเรามีสมอง ทำงานมา 10 กว่าปี ถ้าไม่ใช้ สาย อาชีพ ควรให้เค้าบันจุ ..."
"เขายื่นเรื่องแค่ 3วัน ได้ค่าเสี่ยงภัย ฝ่ายสนับสนุนยื่นมา 2 ปี ไม่ได้สักที ทำไมละ ไม่เห็นใจคนทำงานในร.พ บ้าง ถึงจะเป็นแค่ฝ่ายสนับสนุนก็เถอะ หรือเป็นเพราะพวกเราวุฒิการศึกษาต่ำหรอ พวกคุณๆๆๆถึงแบ่งแยกกันน่าดู.."