อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารและกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยนายอนุทินกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จัดทำและส่งแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงมีการซักซ้อมแผนฯ เพื่อรองรับสายพันธุ์ XBB ยืนยันว่ายังมีระบบเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 สะสม 143.5 ล้านโดส โดยเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี ที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 อยู่ระหว่างการติดตามผล
สำหรับแผนบริหารจัดการวัคซีน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะมีวัคซีน 5 ล้านโดส สำหรับเป็นเข็มกระตุ้น 2.8 ล้านโดส เด็กอายุ 5-11 ปี 1 ล้านโดส อายุ 12-17 ปี ที่ไม่เคยรับวัคซีนและผู้ที่เคยติดเชื้อ 1 แสนโดส ผู้อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยรับวัคซีนและผู้ที่เคยติดเชื้อ 1 แสนโดส และเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี 1 ล้านโดส ส่วนกลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 43.4% จะมีการจัดกิจกรรมรวมพลัง อสม.ส่งต่อภูมิคุ้มกัน ป้องกัน 608 ให้ปลอดภัย โดยจะประชุมมอบนโยบายและแนวทางการเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสู่ 608 ให้ อสม.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วันที่ 21 ตุลาคม 2565 โดยใช้กลยุทธ์ อสม.เป็นตัวเชื่อมในการรณรงค์
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเห็นชอบอีก 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.ร่างแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566-2570 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนฯ ในเขตพื้นที่จังหวัด/กทม. มี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ พัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการบริหารจัดการการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ, ยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ, พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ และพัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงและระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
2.ร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6)
3.ร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. ... ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำขอต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักอนามัย กทม. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รู้ความเสียหาย และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ภายใน 7 วัน ซึ่งจะพิจารณาค่าทดแทนชดเชยความเสียหายให้เสร็จภายใน 30 วัน หากค่าทดแทนไม่เกิน 1 แสนบาทจะเสนอไปกรมควบคุมโรคดำเนินการจ่าย หากเกิน 1 แสนบาทเสนอเรื่องไปคณะกรรมการโรคติดต่อชาติพิจารณาจ่าย ซึ่งรายการในการจ่ายค่าทดแทน มีทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เป็นต้น
4.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. ... เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งติดเชื้อหรือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โรคติดต่ออันตราย โรคระบาดจากการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับค่าชดเชย ครอบคลุมทั้งสังกัดส่วนกลาง ภูมิภาค กทม. และส่วนท้องถิ่น โดยกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ได้รับค่าชดเชย 25 เท่าของค่าครองชีพ/เงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท กรณีสูญเสียอวัยวะ พิการ ได้รับอันตรายสาหัส บาดเจ็บรักษาเกิน 20 วันขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 12.5 เท่าของค่าครองชีพ/เงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท และกรณีติดเชื้อและได้รับการรักษาตั้งแต่ 7 วัน แต่ไม่เกิน 20 วัน ได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ/เงินนอกงบประมาณของกรมควบคุมโรค
5.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทนของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่ง พ.ศ. ... หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ออกคำสั่งให้ผู้ใดดำเนินการ แล้วผู้นั้นละเลยไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อต้องดำเนินการแทนและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจำนวนที่จ่ายจริง